วิพากษ์‘ญัตติซักฟอก’ ข้อกล่าวหา‘ร้ายแรง’

หมายเหตุนักการเมืองและนักวิชาการแสดงความเห็นต่อญัตติที่พรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายทั่วไป
เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พร้อม 5 รัฐมนตรีในข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง

ธนกร วังบุญคงชนะ
โฆษกพรรคพลังประชารัฐ

ผมคิดว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เกินความเป็นจริง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กร่างหรือเถื่อน ผมมองว่านายกฯ คือนายกฯของพี่น้องประชาชนทุกคน และเป็นนายกฯที่เหมือนชาวบ้านปกติ ไม่ใช่เป็นนายกฯที่สร้างภาพ เพราะเวลาที่ท่านลงพื้นที่ จะเห็นชาวบ้านมากอดมาจับไม้จับมือ และท่านก็คุยเป็นกันเองกับชาวบ้าน ภาพบุคลิกที่แข็งๆ ของการเป็นทหารก็มีบ้าง แต่ท่านก็เป็นคนตลก วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด ทุกอย่างทำด้วยความโปร่งใส และท่านก็ยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก การซักฟอกของฝ่ายค้านครั้งนี้ผมมั่นใจว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะล้มรัฐบาล เพราะว่าวันนี้รัฐมนตรีแต่ละท่านก็ทราบข้อมูลในการอภิปรายบ้างแล้ว ซึ่งหลายคนก็เตรียมข้อมูลไว้แล้ว ผมมีความมั่นใจว่าทุกท่านสามารถชี้แจงฝ่ายค้านได้ และสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการจะอภิปรายก็เป็นข้อมูลที่รัฐมนตรีเคยตอบมาแล้วและบางเรื่องผมคิดว่ามันควรจะจบได้แล้ว เพราะหากฝ่ายค้านใช้เรื่องเก่าๆ เดิมๆ มาพูด พี่น้องประชาชน จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นวันนี้ฝ่ายค้านก็ต้องทำการบ้าน หาข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทุจริต หรือบกพร่องในส่วนใด แล้วให้พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสิน

ผมยืนยันว่ารัฐมนตรีแต่ละท่านเราทำงานตรงไปตรงมา โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ท่านจึงสามารถชี้แจงได้อย่างแน่นอน ในส่วนที่ถูกมองว่ามีความล้มเหลวในการบริหารงาน ฝ่ายค้านก็ต้องมองแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ผมมองว่ารัฐบาลได้ทำผลงานให้แก่ประชาชนมากมาย หลายโครงการที่เกิดขึ้นมา เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ จึงเป็นเหมือนยุคทองที่มีผลงานที่ชัดเจนที่สุด แต่เราก็เข้าใจที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ก็สามารถเสนอข้อมูลได้เต็มที่ ฝ่ายรัฐบาลเองก็มีหน้าที่ชี้แจง แต่ขออย่าให้มี “เจตนาพิเศษ” ในการคิดล้มล้างรัฐบาล เพราะว่าเสียงในการสนับสนุนรัฐบาลไม่ได้ปริ่มน้ำ และเป็นเสียงที่สามารถทำงานได้ ฝ่ายค้านคงล้มรัฐบาลไม่ได้ คำว่า “เจตนาพิเศษ” คือ ที่ผ่านมาผมเห็นว่าแต่ละท่านโจมตี พล.อ.ประยุทธ์รายวัน แค่ท่านหายใจยังผิดเลยสำหรับฝ่ายค้าน ฉะนั้น ผมอยากให้ให้ความเป็นธรรม และเชื่อว่าพี่น้องประชาชน ลึกๆ แล้วคงเห็นความตั้งใจของนายกฯ และรัฐมนตรีแต่ละท่านที่ทำงาน วันนี้ความตั้งใจเหล่านั้นจะเป็นเกราะในการป้องกัน เป็นศรัทธาของพี่น้องประชาชนที่ทำให้รัฐบาลอยู่ได้

Advertisement

ส่วนแผนในการรับมือและการรวมเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะเป็นอย่างไรนั้น ประธานวิปรัฐบาล ก็ได้จัดประชุมอยู่ตลอดและ ส.ส.ทุกคนก็เตรียมการเช่นกัน ผมคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรในส่วนนี้ จะเห็นได้ว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก็พูดคุยกันเสมอ แต่ละพรรคก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผมเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองเข้าใจมารยาททางการเมืองดีในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาที่เกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างก็เป็น
เรื่องปกติในทางการเมือง แต่สุดท้ายแล้วเรายึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลักเราก็สามารถไปต่อได้

การตั้งองครักษ์หรือแผนสำรองไว้ในคราวรัฐบาลจนมุม ผมคิดว่าองครักษ์ก็คงไม่ต้องออกมาปกป้อง เพราะผมเชื่อในตัวของรัฐมนตรีแต่ละท่าน เพราะหากเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็สามารถตอบได้หมดอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันผมอยากให้ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เน้นที่เนื้อหาสาระเป็นสำคัญ ไม่อยากให้ไปเน้นเรื่องของวาทกรรม หรือโจมตีไปมา เกรงว่าสภาจะเกิดความวุ่นวาย และหากฝ่ายค้านจะนำข้อมูลเก่ามาอภิปราย
ทั้งที่รัฐบาลทำงานมา 7 เดือน ผมก็คิดว่าตามหลักการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากฝ่ายค้านพยายามดิสเครดิตหรือโจมตีรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็อาจจะใช้สิทธิยกมือแสดงความเห็นค้านได้ ดังนั้นจึงอยากให้ฝ่ายค้านอภิปรายในส่วนการทำงาน 7 เดือนดีกว่า ว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดตรงไหน หรือไม่โปร่งใสอย่างไร แต่หากอภิปรายเรื่องเก่า หอกก็อาจจะพุ่งกลับไปหาท่านเหมือนกัน

ทั้งนี้ หากประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุญาตให้ฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องเก่ามาอภิปราย ส่วนนี้ก็เป็นสิทธิของท่าน ที่ต้องดูว่ามีหลักมีเกณฑ์อย่างไร แต่ผมเชื่อว่าหากอภิปรายย้อน 2-3 ปีที่แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบธรรมแก่ฝ่ายรัฐบาล และหากประชาชนฟังการอภิปรายแล้วรู้สึกเห็นตามข้อมูลที่ฝ่ายค้านเปิดเผย จนอาจจะมีการกดดันให้รัฐบาลออกไปนั้น ผมไม่ได้หนักใจเพราะเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีแต่ละท่าน สามารถชี้แจงให้พี่น้องประชาชนเข้าใจได้ และอยากให้พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสิน จากสิ่งที่แต่ละฝ่ายนำเสนอ

Advertisement

แต่ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลทำงานตรงไปตรงมา ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนรัฐบาลในอดีต เราสามารถที่จะชี้แจงให้เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเจตนาบริสุทธิ์ ที่จะทำงานให้กับชาติบ้านเมืองเป็นทองแท้ที่ไม่ต้องกลัวไฟลน

ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและการตั้งข้อกล่าวหาต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ต้องอยู่ในขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลนั้นๆ โดยข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ของนายกรัฐมนตรีมีการพูดถึงที่มาในการเข้าสู่ตำแหน่งด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และฝ่ายค้านเองก็พูดถึงมาโดยตลอด ตั้งแต่เปิดประชุมสภา การเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการอภิปรายแบบไม่ลงมติก่อนหน้านี้ ดังนั้น บรรดาข้อวิจารณ์ของท่านนายกฯ ถือเป็นสิ่งสืบเนื่อง ไม่ได้เกินเลยจากเดิมมากนัก จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลถึงลักษณะการกล่าวหาอย่างรุนแรงและเป็นลบกับรัฐบาล แต่ก็ถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายค้านด้วย เพราะสุดท้ายในการอภิปรายของฝ่ายค้านยังคงเป็นประเด็นเดิม ซึ่งประชาชนอาจมองอีกมุมได้ว่าฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ หรือไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ เป็นการพูดซ้ำแบบแผ่นเสียงตกร่อง

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายครั้งนี้ถือว่ามีจุดที่น่าสนใจอย่างมาก ตรงที่กลุ่ม 3 ป. ถูกอภิปรายครบทั้ง 3 คน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่แม้ข่าวช่วงแรกของการอภิปรายไม่มีรายชื่อของรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นบุคคลหลักที่อยู่ในข่ายอาจถูกอภิปราย แต่สุดท้ายเมื่อมีการยื่นญัตติก็ปรากฏชื่อท่านด้วย เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการพุ่งไปสู่จุดแกนกลางของรัฐบาล (3 ป.) ซึ่งเป็นผู้คุมยุทธศาสตร์สำคัญของพรรค สะท้อนว่าฝ่ายค้านต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นต่อจากการอภิปรายอย่างแน่นอน

และนอกจากนี้ เฉพาะคะแนนเสียงในสภา ฝ่ายค้านอาจไม่มีพลังพอที่จะมีหมัด
น็อกรัฐบาลได้ เพราะตอนนี้รัฐบาลมี 259 ฝ่ายค้านมี 240 ชวดกัน 19 เสียง อีกทั้งยังมีการประกาศตัวของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ล่าสุดบอกว่าไม่ขอสังกัดพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ขอเป็นฝ่ายค้านอิสระซึ่งก็ไม่รู้ว่าถึงเวลาจะลงมติอย่างไร แต่สังคมก็คาดเดาได้ว่ามีโอกาสสนับสนุนรัฐบาลมากกว่า ดังนั้น จากตัวเลข ณ วันนี้ ถึงตอนลงมติก็มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลอาจได้เสียงเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะจากพรรคเศรษฐกิจใหม่

เราไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นเหมือนช่วงแรก เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐใหม่ กระทั่งมีการพูดคุยลงตัวมากขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมีปัญหาทางเทคนิคบ้าง อย่างการเสียบบัตรแทน แต่กรอบใหญ่ตอนนี้รัฐบาลยังคงมีเอกภาพ ดังนั้น การที่รัฐบาลจะถูกโหวตให้แพ้ในการอภิปรายจึงเป็นไปได้ยาก ฝ่ายค้านเองน่าจะเล็งเห็นจุดนี้ จึงพุ่งเป้าไปสู่การอภิปรายกลุ่ม 3 ป. เพื่อที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเนื่องหลังการอภิปราย เช่น อาจมีการเชื่อมโยงปัญหาเข้ากับพี่น้องประชาชน ทั้งปัญหาไวรัสอู่ฮั่น เชื่อมโยงกับปัญหา PM2.5 ปัญหาเศรษฐกิจ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้คือการเมืองนอกสภาที่ฝ่ายค้านพยายามปรับยุทธศาสตร์มาอยู่จุดนี้ เนื่องจากอนาคตจะไม่รู้ว่าสถานกรณ์ฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไร เพราะเพื่อไทยเองเรื่องเอกภาพก็ดูยังไม่นิ่งนัก ส่วนอนาคตใหม่หากเกิดกรณียุบพรรคขึ้น จะทำอย่างไรกับบรรดาแกนนำ เป็นต้น

ทั้งนี้ การปรับยุทธศาสตร์ออกมาสู่การเมืองนอกสภามากขึ้น ก็เพื่อหวังผลจากแรงกระเพื่อม แต่ไม่ได้หวังผลเรื่องการมีหมัดน็อกรัฐบาลในสภา สำหรับสิ่งสำคัญ ณ ขณะนี้ คือการชี้แจงที่ชัดเจนจากรัฐบาล
การอภิปรายในครั้งนี้ เชื่อว่าด้วยปัญหารอบข้างในบริบทที่หลากหลาย ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ สังคม จะทำให้พี่น้องประชาชนเฝ้าติดตามการอภิปรายครั้งนี้อย่างมาก

การอภิปรายครั้งนี้หัวใจหลักจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขหรือคณิตศาสตร์การเมืองในสภา แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบโจทย์ให้ได้คือการอธิบายให้เหตุผล ด้วยข้อมูลที่ตอบประเด็นปัญหากับฝ่ายค้านได้ดีพอ ซึ่งหากรัฐบาลยังคงอยู่กับเรื่องของตัวเลขว่ามีเอกภาพ มีจำนวนเสียงมากกว่า ไม่มีเรื่องปริ่มน้ำไม่มีเรื่องต้องกังวลแล้ว ก็คงจะเป็นการมองที่ผิดประเด็น ต้องโฟกัสกับการมีข้อมูลที่ถูกต้อง ยืนยันได้แน่ชัด ผ่านการตอบอย่างชัดเจนกับฝ่ายค้านในสภา

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีอยู่ 2 แบบ คือ 1.ยื่นแล้วต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านกล่าวหารัฐบาลมีประเด็นที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นจริงตามนั้น

แต่ด้วยความที่รัฐบาลชุดนี้อยู่มาเกือบครบ 1 ปี โดยที่หลังการเลือกตั้งยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก และยังไม่ได้ใช้งบประมาณเพราะยังไม่ผ่าน ดังนั้น การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงไม่สามารถพูดถึงการบริหารงานที่เกิดจากนโยบายได้มากนัก แม้ฝ่ายค้านจะบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้อยู่มาแค่ 1 ปี แต่อยู่มาก่อนหน้านี้อีก 5 ปี ทำให้ข้อกล่าวหาย้อนอดีตไปบ้างตั้งแต่สมัยรัฐประหาร รัฐบาลกึ่งระบบเผด็จการ ซึ่งข้อหาเหล่านี้ไม่ได้พูดเพียงการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปรัฐบาลชุดเดิมด้วย

ถามว่ามากเกินไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าถึงที่สุดแล้วฝ่ายค้านจะอภิปรายด้วยหลักการ และโน้มน้าวหลักฐาน ให้คนเชื่อถือการอภิปรายได้มากน้อยเพียงใด แต่ปัจจุบันยาก เพราะรัฐบาลเสียงไม่ปริ่มน้ำแล้ว การที่จะทำให้รัฐบาลล้มได้อาจดูยาก แต่สิ่งที่การอภิปรายทำได้ คือทำให้ความศรัทธาต่อรัฐบาลลดลงไปเรื่อยๆ เพราะถึงที่สุดแล้วหากต้องยกมือไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะมีจำนวนเสียงมากกว่าอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายรัฐบาลสามารถผนึกกำลังได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่เคยมีกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลยกมือแล้วแพ้ ดังนั้น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในระบบรัฐสภาครั้งนี้ หากรัฐบาลผนึกกำลังได้มากกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ 1.ฝ่ายค้านไม่สามารถถอดถอนรัฐบาลได้ แต่ความรู้สึกของประชาชนจะลดความศรัทธาต่อรัฐบาลลง ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ต้องสนองตอบประชาชน หรือ 2.ไม่สามารถถอดถอนใครได้ แต่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเกิดความลังเลจนอาจถอนตัวส่งผลให้ล้มรัฐบาลได้ ซึ่งในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เวลานี้จะมีพรรคใดหรือไม่ ที่จะรู้สึกว่าข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้าน

อภิปรายทำให้เขาลังเลต่อการยังเข้าร่วมรัฐบาลอยู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตส่วนมากจะอภิปรายการบริหารงานที่ผิดพลาดและการใช้งบประมาณที่น่าสงสัย แต่เมื่อไม่มีงบประมาณจึงไม่มีประเด็นนี้ในการอภิปราย ฝ่ายค้านจึงหันมาดูความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาล และ 3 ป. ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องดูว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูลใหม่ๆ มากกว่าที่เรารู้มาแล้วหรือไม่ เพราะถ้าหากยังพูดเรื่องเดิมก็เป็นเพียงแค่การเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่

ทั้งนี้ รัฐบาลเองต้องเตรียมตัวตอบคำถาม ความมั่นใจไม่ได้อยู่ที่ว่าโหวตแพ้หรือชนะ แต่คือสิ่งที่ฝ่ายค้านพูดว่ารัฐบาลสามารถมีคนมาแก้ได้ รวมถึงรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจะสามารถชี้แจงให้ความศรัทธาของประชาชนไม่ลดลงไปจากเดิมได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ในสภา แต่คือเรื่องความศรัทธาของประชาชนที่อยู่ข้างนอกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image