09.00 INDEX สถานการณ์ ประชามติ แปรเปลี่ยน จากสิงหาคม 2550 มาสิงหาคม 2559

หากมองวิถีแห่ง “ประชามติ” จากจำนวน “ผู้มีสิทธิ” ในการออกเสียงวันที่ 7 สิงหาคม 2559

จำนวน 50,585,118 ราย

ในจำนวนนี้เป็นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17,009,430 เป็นภาคกลาง 12,961,686 เป็นภาคเหนือ 9,202,928 เป็นภาคใต้ 6,828,332 เป็นกทม. 4,483,075

หากคะแนนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเทให้ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็มีโอกาสสูง

Advertisement

เพราะมากถึง 17 ล้านกว่าเสียง

แต่จากประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 กลับมิได้ดำเนินไปอย่างนั้น

เพราะคะแนนไม่รับจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงถึง 5,149,957 ขณะที่คะแนนรับมีเพียง 3,050,182 แต่เมื่อคะแนนรับจากภาคกลางสูงถึง 5,714,973 เมื่อบวกเข้ากับคะแนนรับจากภาคใต้ 3,214,506 ไม่รับ 425,883

Advertisement

ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ฉลุย

คะแนนของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะมีมากถึง 17 ล้านกว่าเสียงโดยพื้นฐาน

แต่หากไม่มีภาคเหนือ ภาคกลาง หนุนเสริมก็ลำบาก

จุดน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจากประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ก็คือ คะแนนภาคเหนือแทนที่ไม่รับจะเหนือกว่ารับ กลับตรงกันข้าม

นั่นคือ รับ 2,747,645 ไม่รับ 2,296,927

สะท้อนให้เห็นว่าความเอาการเอางานในด้าน “ไม่รับ” ในพื้นที่ภาคเหนือด้อยกว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตัวเลขจึงออกมาอย่างสูสี

เมื่อคะแนนด้านรับของภาคกลางผนวกเข้ากับของภาคใต้จึงกำชัยไปด้วย

14,727,306 รับ 10,747,441 ไม่รับ

ถามว่าประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะถือเอาบรรทัดฐานแห่งประชามติในวันที่ 22 สิงหาคม 2550 ได้หรือไม่

ตอบว่าได้ แต่ในระดับ 1

จุดต่างอย่างสำคัญอยู่ตรงที่ 1 เมื่อปี 2550 ไม่มีการสกัดกั้น และ 1 อยู่ตรงที่ท่าทีของพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า

ให้ “รับ” ไปก่อนแล้วค่อย “แก้ไข”

คะแนนภาคใต้จึงสูง คะแนนภาคกลางจึงสูง คะแนนภาคเหนือแม้ไม่สูงแต่ก็ชนะ

มีก็แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ไม่รับเหนือรับ

มาถึงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนและแสดงออกทั้งรับและไม่รับ ปัจจัยจึงอยู่ที่พรรคเพื่อไทยว่าจะเฉียบขาด มั่นคงเพียงใด

ถามว่าพรรคเพื่อไทยจะรับ หรือแบ่งรับ แบ่งไม่รับ

ความเฉียบขาดจากพรรคเพื่อไทยจะเป็น “คำตอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image