รายงานหน้า 2 : เปิดแฟ้ม‘ซักฟอก’5รัฐบาล ญัตติ‘ดุ’-ถลก‘นายกฯ’

หมายเหตุเป็นการเปรียบเทียบรายละเอียดญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในอดีต ของผู้นำฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี โดยนายชวน หลีกภัย พร้อมคณะ 158 คน เป็นผู้เสนอ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

ในนามของพรรคฝ่ายค้านขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538 มาตรา 152

ด้วยปรากฏเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ประสิทธิผล ขาดวิสัยทัศน์ ขาดวิจารณญาณ ขาดคุณธรรม ขาดจริยธรรม ขาดภาวะแห่งความเป็นผู้นำ มีพฤติกรรมฉ้อฉลเห็นแก่ตัวปัดความรับผิดชอบ ไร้ศักดิ์ศรี สมคบกับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลและพรรคพวกใช้ตำแหน่งหน้าที่ อิทธิพล แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ปล่อยปละละเลยให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง คำนึงถึงความอยู่รอดส่วนตนมากกว่าความอยู่รอดที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จงใจลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนบีบบังคับสื่อสารมวลชนให้เน้นการเสนอข่าวด้านเดียว โดยเจตนาปกปิดความชั่วร้ายทั้งของส่วนตนและรัฐบาล ซึ่งพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่บ้านเมือง ทั้งทางด้านการบริหาร การต่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม

Advertisement

จากเหตุผลข้างต้น พวกกระผมผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ เห็นว่าบัดนี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง และหากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป ก็จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติไม่มีที่สิ้นสุด เฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบอบประชาธิปไตย

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี โดยนายชวน หลีกภัย พร้อมคณะ 86 คน เป็นผู้เสนอ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2540

ในนามของพรรคฝ่ายค้านขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538 มาตรา 156 บัดนี้เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ถึงขั้นล้มละลายเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกระดับชั้น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศชาติโดยรวม จนเกิดภาวะวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำของรัฐบาล รัฐบาล และระบบการเมือง ความเสียหายร้ายแรงดังกล่าวเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มีพฤติกรรมของการบริหารที่สับสน ขาดความรับผิดชอบ ทั้งคำพูด การแสดงออก และการตัดสินใจ สะท้อนให้เห็นถึงความไร้สามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากภาวะความเป็นผู้นำ ด้อยวิจารณญาณ ขาดวิสัยทัศน์ ปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว ทั้งยังมีพฤติกรรมฉ้อฉล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก เลือกปฏิบัติ ปล่อยปละละเลยให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อข้าราชการประจำจนส่งผลต่อขวัญกำลังใจ ประสิทธิภาพและการยึดถือคุณธรรมในระบบราชการ เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จงใจปิดบังบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง อันสาธารณชนพึงรับรู้ ปล่อยให้มีการคุกคามการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยมีเจตนาปกปิกความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตน ด้วยเหตุผลข้างต้น พวกกระผมผู้ที่มีรายชื่อตามญัตตินี้จึงไม่สามารถไว้วางใจให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างร้ายแรงมากขึ้นไปอีก

Advertisement

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พร้อมคณะ 172 คน เป็นผู้เสนอ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2552

พวกข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายญัตติ ขอเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 158

ว่า มีพฤติกรรมส่อว่าจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมบกพร่องเกี่ยวกับ 1.การหลีกเลี่ยงการเข้ารับราชการทหารโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเมื่อครั้งเข้าดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกเมื่อปี พ.ศ.2535 ได้สมัครรับเลือกตั้งโดยมิได้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในขณะสมัครรับเลือกตั้งทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติทําให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจนกระทั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วจึงได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 2.การเข้าสู่ตําแหน่งนายกรัฐมนตรีมิได้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแต่อยู่ภายใต้การชี้นําของคณะบุคคลบางกลุ่มที่ผลักดันให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยเข้ามาบริหารประเทศโดยไม่คํานึงถึงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

3.การเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทําผิดปกปิดซ่อนเร้นไม่เปิดเผยการรับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจากบริษัทมากขึ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งไม่จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้และรับรองบุคคลงบการเงินของพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นเท็จยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

4.ปล่อยปละละเลยกํากับควบคุมดูแลบริหารงานอย่างล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการในหลายกระทรวงแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุกภาคส่วนปล่อยให้บุคคลภายนอกเป็นผู้สั่งการรัฐมนตรีว่าการในหลายกระทรวง

5.ไม่เคยมีประสบการณ์หรือประสบความสําเร็จทางการบริหารการเงินและการคลังของประเทศมาก่อนแต่งตั้งรัฐมนตรีซึ่งขาดความรู้ความสามารถและประสบการณ์โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทําให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดิน

6.การนําบุคคลผู้ไร้วุฒิภาวะไม่เหมาะสมสังคมรังเกียจไม่ยอมรับเป็นคู่ปรปักษ์กับอีกกลุ่มหนึ่งบางคนเป็นผู้ต้องหากระทําผิดเข้าข่ายเป็นผู้ก่อการร้ายสากลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีข้าราชการการเมืองเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีเป็นการเพิ่มความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองขึ้นไปอีกมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักความเสมอภาคไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

7.ไม่มีนโยบายและวิธีแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจังในเรื่องของยาเสพติดที่กําลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้นปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

8.ปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในการปกป้องอธิปไตยและดินแดนของประเทศไทยรวมทั้งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งการและกํากับดูแลรัฐมนตรีข้าราชการคณะกรรมการชุดต่างๆ และหน่วยงานของรัฐเพื่อปกป้องอธิปไตยและดินแดนของประเทศไทย

9.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีเมื่อเริ่มดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีขอให้บริษัทเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความสั้น (SMS) ไปให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์อันเป็นการรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนปล่อยให้เอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์หลีกเลี่ยงภาษีอากรทําให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงหมดความชอบธรรมและไม่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะจํานวน 146 คน เป็นผู้เสนอ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2556

พวกข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายญัตติ ขอเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 158 โดยได้แนบหลักฐานการยื่นคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินบกพร่องล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบทั้งต่อสภาและต่อประชาชน ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง ปากว่าตาขยิบ ชอบแอบอ้างประชาธิปไตย กระทำการอันไม่บังควร สมรู้ร่วมคิดกับพวกพ้อง ทำลาย ข่มขู่ ก้าวก่าย สถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตย ทั้งสภานิติบัญญัติ ตุลาการและองค์กรอิสระ มุ่งแก้ปัญหาของบุคคลในครอบครัวมากกว่าปัญหาประชาชน

ทั้งมีพฤติกรรมฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต จงใจปกปิดข้อมูลเพื่อปิดบังการทุจริตและล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่งเสริม ปกป้องการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ความร่ำรวยของครอบครัวและวงศ์วานว่านเครือ ขณะที่ประชาชนกลับจนลงได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส นโยบายรณรงค์ต่อต้านการทุจริตเป็นแค่เพียง “ละครปาหี่” ไม่มีผลปฏิบัติจริง จนยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นยุคที่การคอร์รัปชั่นเบ่งบานที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์โดยที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แยแส ใส่ใจ จัดการ ตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด

อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังกระทำผิดกฎหมายซ้ำซาก วางแผนใช้อำนาจออกกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยมิชอบอันเป็นการทุจริตรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อน แยบยล ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐบังคับใช้กฎหมายโดยมิชอบ เพื่อทำลายฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง ปล่อยให้บุคคลในครอบครัว “กดปุ่ม” สั่งการตามอำเภอใจในทุกรูปแบบ จนประเทศไทยเสมือนมีนายกรัฐมนตรีหลายคน วนเวียนหาประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ภายใต้การปกครองระบอบการใช้อำนาจบาตรใหญ่ที่อาศัยแต่ความมีเสียงข้างมากจากวันเลือกตั้ง เป็นข้ออ้างกลบเสียงฝ่ายอื่นและเสียงประชาชนเพื่อใช้อำนาจนั้นตามใจตนแต่เพียงฝ่ายเดียว การบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ส่งผลให้สังคมไทยเกิดความร้าวฉาน แตกแยกครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏ นายกรัฐมนตรีและครอบครัวกลายเป็นผู้สร้างปัญหาและเป็นตัวปัญหาของประเทศ การทุจริตแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า กระทบทั้งระบบคุณธรรม จริยธรรม หลักนิติธรรม ค่านิยมแห่งความถูกต้องดีงามของสังคมไทย การเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ความไร้ประสิทธิภาพ และความบกพร่องล้มเหลว ผิดพลาดของนโยบายและการบริหารราชการได้ทำให้ประเทศเสียหายตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นำความทุกข์ยากเดือดร้อนมาสู่คนไทยทั้งแผ่นดิน หากปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมีแต่จะพาประเทศไปสู่ความวิบัติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image