โครงร่างตำนานคน : อันวาร์ สาและ เร่งเร้า ปชป.ปฏิรูป

หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่ผลออกมาทำให้ พรรคประชาธิปัตย์หลุดอันดับจากพรรคแถวหน้าทางการเมืองไทย กลายเป็นพรรคขนาดกลาง
มีความพยายามหาคำตอบกันมากมายว่าเกิดอะไรขึ้น
อย่างไรก็ตาม คำตอบทุกแง่ทุกมุมกลับชัดเจนอยู่ภายนอกพรรค ขณะที่ในประชาธิปัตย์เอง ยังไม่พูดกันอย่างจริงจัง
แต่ขณะเดียวกันที่ยังอึมครึมนั้น สมาชิกพรรคพากันลาออก ไปเลือกทางเดินใหม่กันต่อเนื่อง
จนถึงวันนี้ “เลือดประชาธิปัตย์” ยังไหลไม่หยุด

ท่ามกลางความหวาดวิตกของสมาชิกพรรคที่เหลือ
และแล้วคนที่ทนไม่ไหวเป็นคนแรกคือ อันวาร์ สาและ
ส.ส.หนุ่มจากปัตตานี ที่เป็นคนเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังเหลืออยู่ของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อไม่กี่วันมานี้ “อันวาร์” ยื่นหนังสือให้ผู้บริหารพรรค ด้วยเนื้อหาที่ถือว่าแรง
“ปัญหาการลาออกของสมาชิกคนสำคัญของพรรคระหว่างสมัยประชุมสภาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ จากฝ่ายบริหารที่จะแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว” คือข้อความเบื้องต้นในหนังสือของ   อันวาร์
พร้อมกับการขยายความอย่างเข้มข้น ทั้งการตั้งคำถาม “สมาชิกที่ลาออกไปล้มเหลวที่จะอยู่ร่วมกับพรรค หรือว่าการบริหารพรรคล้มเหลว สมาชิกไม่เห็นอนาคตจึงลาออกไป”
และเสนอแนะ

1 อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี มีการกล่าวกันภายในพรรคและบางส่วนของสังคมว่า ที่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งอย่างถล่มทลายเพราะการประกาศนี้ ซึ่งตนและสมาชิกร่วมพรรค เห็นว่าพรรคควรจะทำการศึกษาอย่างเป็นวิชาการว่าสิ่งที่กล่าวกันเช่นนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หากจริงเพราะเหตุใดพรรคที่ต่อต้านเผด็จการทหารจึงชนะการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลาย เช่น พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง

Advertisement

2 แม้ว่าอดีตหัวหน้าพรรคประกาศว่าไม่สนับสนุน แต่พรรคประชาธิปัตย์ลงมติสวนทางกลับเข้าไปร่วมรัฐบาลโดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ ต้องประกันสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ต้องทำการตรวจสอบหากมีการทุจริต หากพบว่ามีมูลจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลทันที และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3 การเมืองในระบบรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสภาเป็นสถานที่ออกกฎหมายให้ทุกคนปฏิบัติ ไม่เว้นแม้แต่อำนาจบริหาร ตุลาการ ดังนั้นการลงมติใดๆ จากคำสั่งของแกนนำรัฐบาลควรจะต้องมีเหตุผลเพียงพอมากกว่าคำที่บอกว่า “เมื่อเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆคิดจะทำอะไรก็ทำ ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้” หมายถึงต้องทำตามมติของวิปเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง หากเป็นมติที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและมีคำอธิบายที่ชัดแจ้ง เพราะพรรคการเมืองเข้ามาทำงานให้ประชาชน

“ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยถูกยุบด้วยผลของกฎหมาย แต่ประชาชนเลือกกลับมาในนามพลังประชาชน ก่อนจะถูกยุบอีกครั้งและกลับมาในนามพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยถูกยุบด้วยผลของกฎหมาย แต่กำลังถูกยุบโดยประชาชน หากพวกเราไม่กล้าหาญพอที่จะยอมรับความเป็นจริง และปรับท่าทีของพรรคให้สังคมเชื่อมั่น ศรัทธา” คืออีกคำถามจาก “อันวาร์”

Advertisement

พร้อมข้อเสนอทิ้งท้ายว่า “กระผมและเพื่อนสมาชิกร่วมพรรค จึงมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องยืนเคียงข้างประชาชนตามอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรค แต่ปัจจุบันพรรคตกต่ำเป็นอย่างมาก อาจเกิดจากการที่ประชาชนสับสนในเรื่องของนโยบายพรรค อุดมการณ์พรรค จึงขอเสนอให้พรรครีบจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ไขวิกฤตพรรค เพื่อจะได้รับผิดชอบร่วมกัน และเพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคได้รับทราบถึงปัญหาและหาทางแก้ไข หากยังไม่มีทางแก้ไขต้องเสียสละให้บรรดาสมาชิกได้เลือกคณะกรรมการบริหารพรรค    ชุดใหม่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างศรัทธาให้สังคม”

ความจริงเสียงเรียกร้องเช่นเดียวกันนี้ ดังอยู่ภายนอกพรรคมาเนิ่นนานแล้ว เมื่อ “อันวาร์” ตะโกนขึ้นในพรรคจึงเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง

“อันวาร์” เป็นคนหนุ่ม เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องการเติบโตๆ ไปอย่างมีความหวัง
“อันวาร์” เลือกที่จะอยู่กับพรรค แม้ในอารมณ์ต่อค่อนข้างสิ้นหวังกับสภาพที่เป็นอยู่ แต่เขาไม่เลือกที่จะทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเหมือนคนอื่น
“อันวาร์” เลือกที่จะหาทางเปลี่ยนแปลงพรรคให้กลับมาเป็นความหวังประชาชน ด้วยการช่วยกันร่วมแก้ปัญหาจากภายใน

ที่บอกว่า “น่าสนใจยิ่ง”

ความน่าสนใจอยู่ที่ “ขบวนการจัดการของพรรคต่อ ส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของ ส.ส.หนุ่มผู้นี้”

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image