รอยแยก แตกปริ : แต่ละมุ้ง แต่ละ‘กลุ่ม’ : ใน พลังประชารัฐ

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือไม่ว่าแม้กระทั่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ล้วนเป็น “ทหาร”

เมื่อประสบกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แม้จะเป็นเรื่องในทาง “การเมือง” แต่ก็ย่อมต้องใช้ความจัดเจนของ “นักการทหาร” ไปวิเคราะห์

แม้ “พื้นที่” ที่ใช้ในการต่อสู้จะเป็น “สภา”

Advertisement

แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ละกระบวนท่า แต่ละการเคลื่อนไหวก็เป็นการเมืองอันเท่ากับเป็นเงาสะท้อนของการสู้รบ

เดิมพันอยู่ที่ “แพ้” เดิมอยู่ที่ “ชนะ”

โดยพื้นฐานใช้มือ ใช้ความไว้วางใจเป็นบรรทัดฐาน ชี้ขาดว่าผลของการสู้รบเป็นอย่างไรเหมือนๆ กับการ นับศพ เหมือนๆ กับการยึดครองหรือสูญเสียพื้นที่

Advertisement

จำเป็นต้องรู้เขา คือศัตรู จำเป็นต้องรู้เรา คือมิตร

แม้ในทางการเมืองญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นการดำเนินการที่รุนแรงอย่างที่สุดในการต่อสู้ทางรัฐสภา

เพราะเท่ากับเป็นการดำเนินการเพื่อประหารชีวิตในทางการเมือง

เมื่อมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อมีชื่อของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อมีชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ก็เท่ากับเอาคนเหล่านี้เข้าสู่ “หลักประหาร” เหมือนกับจะบดขยี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ให้จบสิ้นในทางการเมือง

แต่คำถามก็คือ สามารถทำได้หรือไม่

หากมองจาก “จำนวน” เป็นไปได้ยากมากที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะสามารถพิชิตได้ภายในเพียง 3 วัน อันได้มา

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ยุทธศาสตร์” ของฝ่ายค้านก็ย่อม “แปรเปลี่ยน”

ประเมินจากการยอมรับของฝ่ายค้านต่างรู้อยู่เป็นอย่างดีว่า ไม่สามารถคว่ำรัฐบาล ไม่สามารถคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้

เพียงยกที่ 1

ตรงกันข้าม เป้าหมายแท้จริงของฝ่ายค้านอยู่ตรงที่ต้องการสะสมความได้เปรียบบนซากปรักหักพังของรัฐบาลมากกว่า

เห็นได้จากการไม่แตะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

ตรงกันข้าม กลับพุ่งเป้าไปยัง คสช.และพรรคพลังประชารัฐโดยรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นด้านหลัก

หวังแยกคนกลุ่มนี้ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะเดียวกันผลกระทบหากจะมีก็แต่ต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นด้านหลัก นั่นก็คือ ต้องการให้มีการปรับ ครม.และปรับจำเพาะแต่พรรคพลังประชารัฐ

สร้างความขัดแย้ง ร้าวฉานต่อพรรคพลังประชารัฐเป็นสำคัญ

ยังไม่ทันที่การอภิปรายทั่วไปของพรรคฝ่ายค้านจะเริ่มก็สามารถสัมผัสได้ถึงผลสะเทือนจากจุดเล็กๆ ค่อยๆ ขยายไปสู่จุดใหญ่

เห็นความนิ่งของพรรคร่วมรัฐบาล เห็นความเคลื่อนไหว “ภายใน” พรรคพลังประชารัฐและ “ระหว่าง” กลุ่มแต่ละกลุ่ม มุ้งแต่ละมุ้งภายในพรรคพลังประชารัฐ

สะท้อนว่ารอย “ร้าว” เริ่มปริและจะยิ่งปริแยกเป็นทวีคูณ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image