แบงก์ชาติเจาะเศรษฐกิจ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด’63

แบงก์ชาติเจาะเศรษฐกิจ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด’63

แบงก์ชาติเจาะเศรษฐกิจ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด’63

หมายเหตุ – นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายในหัวข้อ “ทางรอดเศรษฐกิจไทย ภายใต้ไวรัส” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ จัดโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ปี 2563 เป็นปีแห่งวิบากกรรมของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นช่วงปีที่มีเรื่องเข้ามากระทบหลายเรื่อง เป็นปีที่เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ถือเป็นการเปรียบเปรยที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แม้จริงๆ เปิดมาต้นปี 2563 ดูมีทิศทางที่ดี เนื่องจากปลายปี 2562 มีตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ดี และเหตุการณ์หลายเรื่องที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในปี 2563 ได้ประเมินและเชื่อว่าน่าจะโตได้ดีกว่าปี 2562 แต่มาถึงจุดนี้ความหวังที่ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจะดีกว่าปี 2562 เหลือน้อยมาก โดยตัวเลขที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ไว้ว่าไตรมาส 4/2562 อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 2% มีโอกาสเป็นไปได้

ปัจจัยที่เข้ามากระทบภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ 1.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2.การล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ แต่หากไล่ลำดับตามความสำคัญ ต้องบอกว่าไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สร้างผลกระทบรุนแรงที่สุด มองง่ายๆ ตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวฯคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาท หากนับตามตัวเลขนี้ถือว่าเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่หายไปอย่างมีนัยยะ แต่หวังว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีขนาดประมาณ 16 ล้านล้านบาท จำนวนเงิน 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของจีดีพี เอาแค่ตัวเลขเบื้องต้นที่หายไปของรายได้และจำนวนในภาคการท่องเที่ยว อาจทำให้ตัวเลขจีดีพีที่ ธปท.มองไว้ในช่วงปลายปี 2562 ว่าจีดีพีปี 2563 จะโตได้ที่ 2.8% หายไป 1.5% ก็เท่ากับจีดีพีจะโตเพียง 1.3% เท่านั้น แต่หวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น ประเด็นของไวรัสจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

Advertisement

จากการทำงานร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หลายปี ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ไม่ค่อยชอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก หากมีปัจจัยลบแค่ในเรื่องของงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และเรื่องผลกระทบในภาคเกษตร ค่อนข้างมั่นใจว่า กนง.จะไม่มีมติ 7 ต่อ 0 เสียงในการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างแน่นอน และปัจจัยหลักทำให้ กนง.มีมติลดดอกเบี้ยก็คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

ความจริงแล้วทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยปรับลดลงไปถึงระดับนั้นได้ จากสถิติในปี 2562 หากเทียบกับช่วงต้นปี 2563 ก่อนจะถึงเทศกาลตรุษจีน แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยดูจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าปี 2562 นั่นคือก่อนที่จีนจะออกมาปิดประเทศ เพื่อให้เห็นภาพว่าทำไมแค่ไวรัสเล็กๆ จึงส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทยได้มากขนาดนี้ ก็ต้องดูความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย หากดูในภาพรวมรายได้จากภาคการท่องเที่ยวทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดไทยเที่ยวไทย รวมอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมในภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยคิดเป็น 20% ของจีดีพีรวม ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมหนักพอสมควร อีกทั้งยังส่งผลกับอัตราการจ้างงาน ซึ่ง กนง.ค่อนข้างจะเป็นห่วงในส่วนนี้ โดยการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของภาพรวมการจ้างงาน

แม้การจ้างงานที่เกี่ยวกับธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวโดยตรงจะไม่ได้มาก อาทิ โรงแรมหรือภัตตาคารไม่ได้มีมาก แต่หากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อไปมีจำนวนมาก อาทิ ค้าปลีก ขนส่ง ทั้งนี้ ภาคที่มีการจ้างงานใหญ่ที่สุดของไทยเป็นภาคการเกษตรประมาณ 40% ของภาพรวม แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวถือว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยสูงมาก ทั้งในแง่ของเม็ดเงินและการจ้างงาน จึงถือเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้

Advertisement

ก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโคโรนา เคยเกิดโรคระบาดขึ้นแล้วคือโรคซาร์ส เมื่อเทียบกับการแพร่ไวรัสโคโรนา ต้องบอกว่าโคโรนาแพร่ระบาดเร็วกว่าโรคซาร์สอย่างมาก พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 60,000 คน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าโรคซาร์ส แต่ถือว่าไม่ได้เสียชีวิตง่ายมากนัก เพราะอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2% เท่านั้น จึงถือเป็นการติดเชื้อง่าย แต่ตายยาก

เทียบการเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนาปี 2563 กับโรคซาร์สในปี 2546 สถานการณ์ถือว่ามีความต่างกันอย่างลิบลับ เนื่องจากในปี 2546 เศรษฐกิจจีนมีขนาดเล็กมากในเศรษฐกิจโลก ไม่ได้ใหญ่และเชื่อมโยงมากเหมือนในปัจจุบัน ส่วนของไทยในปี 2546 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมจีดีพีไทยก็ไม่ได้มีมากเท่าปัจจุบันคือ ไม่ถึง 7% แต่ปี 2562 อยู่ที่ 11% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2546 อยู่ที่ 6% ขณะนี้อยู่ที่ 27% ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และในความใหญ่นั้นก็มีนักท่องเที่ยวจีนอยู่จำนวนมาก

ประเทศไทยและจีนไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเพียงในภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มีความสัมพันธ์ในภาคการส่งออกของไทยด้วย เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ไม่นับอาเซียนที่รวมหลายประเทศเข้าด้วยกัน โดยไทยมีการมีการส่งออกไปจีนมากที่สุด 12% ในภาพรวม และนำเข้าจากจีนมากที่สุดเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อจีนเกิดอะไรขึ้นก็กระทบกับการส่งออก และนำเข้าจากจีนก็ต้องหยุดชะงักไปด้วย โดยขณะนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายในออนไลน์มาจากจีน ตอนนี้
ก็มีข่าวว่าสินค้าของจีนในตลาดอีคอมเมิร์ซก็ขาดตลาดอยู่เช่นกัน

มีเครื่องชี้วัดบางตัวที่ต้องการเปรียบเทียบ ตัวแรกเป็นหนี้ครัวเรือนของไทย ในปี 2546 หนี้ครัวเรือนไม่ถึงครึ่งของจีดีพีรวม แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 80% ของจีดีพี ทำให้ปัจจุบันหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น การกู้ยืมเงินเข้ามาช่วยไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนในอดีต

อีกภาคที่ต้องนำมาเทียบกันคือ ภาคการเกษตร ในปี 2546 กำลังไปได้ดี แต่ตอนนี้เจอผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้กันชนของเศรษฐกิจไทยหายไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีภาพดี เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันต่ำกว่าในปี 2546 ซึ่งตามทฤษฎีแล้วภาครัฐจึงมีโอกาสในการช่วยเหลือมากที่สุด แต่เนื่องจากงบประมาณปี 2563 ยังไม่ผ่าน ทำให้ไม่มีเงินเข้ามาช่วย แม้จะสามารถช่วยได้ แต่หากไม่มีเงินเข้ามาช่วย ก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย ที่จะมีเงินไหลออกไปมากๆ จนซ้ำรอยกับปี 2540 คงไม่ได้มีความกังวลมากขึ้นขนาดนั้น โดยสรุปในระดับครัวเรือนมีกันชนทางเศรษฐกิจน้อยมาก แต่ในภาครัฐยังคงมีอยู่มาก ในส่วนของนโยบายการคลัง

การประชุม กนง.ครั้งล่าสุด มีมติปรับลดดอกเบี้ย 7 ต่อ 0 จึงทำให้ดอกเบี้ยเหลือ 1% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้น ซึ่งอย่างที่บอกว่า กนง.ไม่ค่อยอยากลดดอกเบี้ย และ กนง.ก็เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยต่ำลงกว่า 1.25% ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะระดับ 1.25% ก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว แต่ขณะนี้ใครสามารถช่วยอะไรได้ ก็ต้องช่วยกันก่อน โดยหัวใจในการประชุมของ กนง.ครั้งล่าสุดคือ แพคเกจ หรือการผสานนโยบาย เพราะนโยบายในทุกภาคส่วนจะต้องประสานทำด้วยกัน โดยมาตรการการคลังถือเป็นมาตรการที่สำคัญ และหวังว่าจะเกิดขึ้นทันกับเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบประมาณปี 2563 ที่ต้องผ่านให้ได้ เพราะมีความสำคัญมาก เนื่องจากสามารถนำมาช่วยในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ อาทิ น้ำท่วม วิกฤตต่างๆ สามารถเบิกงบฉุกเฉินมาช่วยได้ แต่ตอนนี้งบประจำปียังไม่ออก การเบิกงบกลางปีออกมาก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากสามารถเบิกจ่ายได้ ก็น่าจะเป็นส่วนช่วยได้มาก

มีโอกาสมากพอสมควรที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะต้องเจอกับวิกฤตสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้ โดยจะเริ่มจากผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวหายไป และธุรกิจที่ต่อเนื่อง เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ค้าปลีก รถขนส่ง รถบัส รถทัวร์ และอื่นๆ ทำให้การลดดอกเบี้ยก็ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นได้ แต่ไม่ได้หวังว่าจะช่วยทำให้มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นได้ แต่ว่าช่วยเรื่องสภาพคล่องของผู้กู้ถือเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงช่วยปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นต่อเนื่องกันด้วย

หากงบประมาณผ่านจะมีเม็ดเงินก้อนใหญ่อยู่ในมือ และสามารถช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ แต่คิดเองก็อาจจะยาก จึงต้องฟังเสียงของภาคเอกชนด้วย โดยเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง จึงต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย สุดท้ายเป็นมาตรการด้านสาธารณสุข ที่อาจไม่ใช่มาตรการทางเศรษฐกิจ แต่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าประเทศไทยปลอดภัยจากเรื่องโรคระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งถือว่ายังมีความโชคดีที่ยังไม่พบผู้เสียชีวิตในประเทศไทย และยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ถูกประเทศอื่นๆ แซงหน้าไปแล้วด้วย โดยต้องป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตในเรื่องการขาดความเชื่อมั่น โดยหากประเทศไทยถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน รับรองว่าดูไม่จืดอย่างแน่นอน เพราะหากจีนจบแล้ว ไทยเองอาจจะยังไม่จบก็ได้ หากไทยเกิดติดเชื้อและเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นมา

ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งหนัก เพราะต่างชาติเชื่อมั่นในเรื่องการเงินของไทย มองว่าเป็น “เซฟเฮฟเว่น” หรือแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้มีการนำเงินเข้ามากองไว้ในประเทศไทยค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบันมุมมองเศรษฐกิจไทยของต่างชาติได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะค่าเงินบาทไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยอีกต่อไป โดยหากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวฯเป็นจริง เงินบาทอ่อนลงที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าคงเอาไม่อยู่ เพราะจะต้องปรับอ่อนค่าลงมากกว่านี้แน่นอน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image