ที่เห็นและเป็นไป : บทเรียน‘ลิงแก้แห’

หลังจากประเทศไทยเรากลับเข้าสู่การปกครองประเทศ โดย “รัฐประหาร” ใช้กำลังทหารและอาวุธยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และวางรากฐานเพื่อกลไกของกองทัพเข้ามาควบคุมศูนย์กลางอำนาจรัฐต่อเนื่อง

สิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางจัดการประเทศคือ “ความเป็นไทย”

การเขียนรัฐธรรมนูญ และการวางโครงสร้างอำนาจที่มีการพูดถึง “ประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นไทย” เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อคัดง้างกับเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยแบบสากลโลก

มีความพยายามชี้นำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างการอยู่ร่วมกันในแบบยึดถือ “ความเป็นไทย”          อันหมายถึง “การกลับมาสู่วัฒนธรรมอันเป็นรากฐานของสังคมไทย” ไว้ เพื่อไม่ให้เกิด “การพัฒนาแบบ     ไร้ราก” อันหมายถึงพากันล่องลอยไปกับความเจริญตามกระแสของประเทศอื่น โดยเฉพาะกระแสจากประเทศตะวันตก

Advertisement

ความพยายามที่จะดึงค่านิยมของคนในชาติกลับปลูกฝังในแผ่นดินวัฒนธรรมไทยนั้น ลงมือลงแรงกันอย่างจริงจังตั้งแต่สร้างหลักสูตรการศึกษา ฟื้นฟูกิจกรรมทางวัฒนธรรม สร้างองค์กรขับเคลื่อนอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นมา

จนกระทั่งถึงมาตรการรุนแรง ด้วยการสร้างเครือข่ายรณรงค์จัดการกับกลุ่มคนที่ไม่ร่วมเดินด้วยข้อกล่าวหา “ชังชาติ” ขยายตัวสู่การสร้างวัฒนธรรมต่อต้าน “ชังชาติ” ขึ้นมา

อันเป็นขบวนการนำพาประเทศชาติที่ทำให้วิญญูชนทั้งหลายจับจ้องมองอย่างไม่กะพริบตาเพื่อคาดเดาอนาคตของชาติว่าจะเป็นไปเช่นใด

Advertisement

คนรุ่นหลังๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ จะรับรู้และอยู่ร่วมกัน การนำพาประเทศไปในทิศทางเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม มีคนไม่น้อยที่มองว่า “ภูมิปัญญา” อันเกิดจากประสบการณ์ของบรรพบุรุษไทย ที่หล่อหลอมมาเป็น “วัฒนธรรมไทย” นั้น ไม่เพียงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร แต่หลายเรื่องเป็นความดีงามเสียด้วยซ้ำ

อย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าเป็น “ภูมิปัญญาอันเกิดจากประสบการณ์” ที่มีคุณค่าคือ “สุภาษิต คำพังเพย” ต่างๆ ซึ่งเป็นการบันทึกผลึกความคิดอันเป็น “ภูมิปัญญา” เพื่อให้คนรุ่นหลังหยิบฉวยมาใช้เตือนใจ เรียนรู้วิธีการเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา

ในช่วงนี้มี “คำพังเพย” หนึ่งที่น่าวิเคราะห์ยิ่ง

เพราะเป็น “ภูมิปัญญา” ที่หากนำมาเป็นบทเรียนใช้กับโศกนาฏกรรมที่โคราชจะเป็นประโยชน์ยิ่ง

นั่นคือคำพังเพย “ลิงแก้แห”

ที่มาของสำนวนนี้คือ “ลิงแถวๆ ชายป่า เคยเห็นชาวบ้านนำแหมาทอดจับปลาที่บึงใหญ่ ก็เข้าใจว่าเป็นวิธีที่จะได้กุ้ง ปลา มากินได้ง่ายๆ วันหนึ่งชาวบ้านเผลอวางแหไว้ที่ริมบึง เพื่อกลับไปทำธุระที่บ้าน ลิงเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงเข้าไปหยิบเอาแหมา หมายจะจับปลากินบ้าง แต่ด้วยความที่ไม่รู้วิธีใช้แห ประกอบกับมีนิ้วมือ นิ้วเท้า เล็บ ที่เรียวยาวเก้งก้าง แหจึงพันเกี่ยวจนยุ่งเหยิง แก้แกะไม่หลุดแถมเมื่อแกะนิ้วนี้ ยังไม่ทันหลุด แหก็ไปพันเอานิ้วอื่น เท้าอื่น นัวเนียยุ่งเหยิงมากขึ้นทุกที ยิ่งดิ้นยิ่งพันแน่นเข้าจนพันไปทั้งตัวและพลัดตกลงไปในน้ำ จมน้ำตายในที่สุด”

“ลิงแก้แห” เป็นสำนวนคนโบราณที่ต้องการเตือนผู้คนให้พึงระมัดระวัง จะทำการใดๆ จงคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบ หาข้อมูลความรู้ให้เพียงพอ ก่อนตัดสินใจลงมือทำ อย่าให้เกิดสภาพที่ไม่รู้จริง เกิดปัญหาทับซ้อนหลายปม พันกันยุ่งเหยิงชนิดที่แกะแก้อย่างไรก็ไม่สามารถคลี่คลายได้ เปรียบเสมือนลิงแก้แห ซึ่งในที่สุดอาจจมน้ำตายได้

โศกนาฏกรรมที่โคราชล่าสุด ที่แก้กันจนบานปลายกันไปใหญ่กระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้นำ ทั้งผู้นำประเทศ และผู้นำเหล่าทัพ อย่างที่เห็นกันอยู่

สะท้อนว่า “วัฒนธรรมความเป็นไทยอันเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกัน” นั้น เป็นภูมิปัญญาที่มีประโยชน์ไม่น้อย หากคนในชาติเข้าถึงบทเรียน และสามารถหยิบฉวยคุณค่ามาใช้ได้อย่างแท้จริง

แต่ไม่ว่าจะเป็น “วัฒนธรรม” ที่ทรงคุณค่าสักเพียงใดก็ตาม จะไม่มีประโยชน์อะไรกับคนที่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

ยิ่งพวกที่แค่คิดอาศัยวัฒนธรรมความเป็นไทยมาเป็นเครื่องมือทำลายล้างคนอื่น โดยไม่เคยรู้ตัวเองว่าในความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อมี “คุณค่าของภูมิปัญญาไทย” อยู่บ้างหรือไม่

ข้อกล่าวหา “ชังชาติ” อันออกจากปากคนพวกนี้ย่อม “เหม็นเน่า” เนื่องจาก “จอมปลอม” และ “น่ารังเกียจ” ยิ่ง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image