บทนำ : รอดูบริหารงบ

การประชุมวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณา หลังจากที่ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติผ่านมาแล้ว โดยต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในลำดับถัดไป โดยงบประมาณ จำนวน 3.2 ล้านล้านบาทนี้ มีงบประมาณการลงทุนประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยงบประมาณดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยอยู่ในปัจจุบัน

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ถือเป็นร่างกฎหมายประวัติศาสตร์อีกฉบับหนึ่ง เพราะระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีคลิปเปิดเผยว่า ส.ส.ผู้ทำหน้าที่ลงมติบางคน ได้ใช้วิธีเสียบบัตรแทน ซึ่งวิธีการดังกล่าวก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ จึงมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นำเอาร่างกฎหมายงบประมาณย้อนกลับมาเข้าสู่กระบวนการโหวตใหม่อีกครั้ง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้จึงต้องมีการลงคะแนนสองครั้ง

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ยังเป็นกฎหมายงบประมาณที่มีผลบังคับใช้ช้ากว่ากำหนดปีงบประมาณ เพราะปกติแล้วงบประมาณ ปี 2563 ต้องเริ่มใช้จ่ายกันตั้งแต่ตุลาคม 2562 แต่เพราะกระบวนการเลือกตั้งที่ล่าช้า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จึงมีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่รัฐบาลชุดเดิมดำเนินการมา ทำให้ทุกอย่างยืดเยื้อมาถึงบัดนี้ ยิ่งเมื่อพบว่ากระบวนการลงคะแนนมีการเสียบบัตรแทนซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จนต้องมาลงมติใหม่ ยิ่งทำให้งบประมาณปี 2563 ยังไม่สามารถใช้ได้ ทุกอย่างที่ใช้จ่ายเป็นการใช้จ่ายแบบผ่อนปรนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ สงครามการค้าและสภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งรายได้จากการส่งออกเป็นรายได้ส่วนใหญ่ที่กำหนดทิศทางของจีดีพี เมื่อส่งออกมีปัญหาจึงฉุดดึงตัวเลขทางเศรษฐกิจต่ำลง นอกจากนี้ไทยยังประสบปัญหานักท่องเที่ยวลดน้อย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นจุดระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงภัยแล้งที่เข้ามาซ้ำเติม เมื่อผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซึมมาก่อนหน้านี้ ภาคเอกชน รวมถึงรัฐบาลเองจึงมองถึงการลงทุนเป็นทางออก ซึ่งการลงทุนดังกล่าว มีทั้งการลงทุนจากภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งการลงทุนภาครัฐต้องอาศัยเงินจากงบประมาณ

Advertisement

ดังนั้น แม้ในที่สุดการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ประกาศใช้จะประสบความสำเร็จ แต่ต้องไม่ลืมว่าเหตุที่ต้องการให้งบประมาณนี้ได้ใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความน่าสนใจคือหลังจากงบประมาณประกาศใช้แล้วรัฐบาลจะใช้งบประมาณดังกล่าวให้คุ้มค่าและทันท่วงทีในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร โครงการลงทุนต่างๆ จะเริ่มต้น และมีผลผลิตงอกเงยขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของรัฐบาล เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการบริหารงานงบประมาณของรัฐบาล สิ่งใหม่ๆ และความหวังทางเศรษฐกิจหลังงบประมาณประกาศใช้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ และน่าติดตามว่าในที่สุดแล้ว เมื่อรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณได้ ประเทศไทยและประชาชนคนไทยจะได้รับอานิสงส์จากงบประมาณก้อนนี้หรือไม่ มากน้อยประการใด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image