‘วิโรจน์’ ชี้ MOU กองทัพ-กรมธนารักษ์ ไม่ตอบโจทย์ความโปร่งใส ท้าเปิด ‘งบการเงิน’

‘วิโรจน์’ ชี้ MOU กองทัพ-กรมธนารักษ์ ไม่ตอบโจทย์ความโปร่งใส ท้าเปิด ‘งบการเงิน’ ให้สาธารณชนตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายวิโรจน์​ ลักขณาอดิศร​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่​ กล่าวถึงกรณีที่​ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ร่วมกับกรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก ว่าเบื้องต้นการที่ ผบ.ทบ.ตระหนักถึงปัญหาของสวัสดิการเชิงธุรกิจ หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การทำข้อตกลง หรือ MOU ในโครงการในการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจร่วมกับกรมธนารักษ์ แม้ว่าจะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหา แต่ถ้าหากเป้าหมายของการแก้ปัญหานี้คือ “การสร้างความโปร่งใส และการวางกลไกที่ตรวจสอบได้” การทำ MOU นั้นเป็นแค่เพียงมาตรการที่ดึงเอากรมธนารักษ์มาช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับกองทัพบกเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องความโปร่งใสในระยะยาวได้

ยกตัวอย่างเช่น จากข่าวการลงนามใน MOU ประชาชนหรือสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจรู้ได้เลยว่ารายละเอียดใน MOU คืออะไร ตามข่าวระบุว่าก่อนที่จะมีการลงนามใน MOU ท่าน ผบ.ทบ.ได้ตรวจร่าง MOU ถึง 1 เดือนครึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีการเปิดเผยให้กับสาธารณชนทราบว่ารายละเอียดใน MOU ที่ผ่านการตรวจทานของ ผบ.ทบ.แล้วนั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง มีข้อยกเว้นหรือสิทธิพิเศษให้กับผู้ใด หรือในกรณีใดบ้าง

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตามข่าวที่ระบุว่ากรมธนารักษ์จะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้คืนให้แก่กองทัพบกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5-5 บางอย่างก็ร้อยละ 7.5 นั้นมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ว่าธุรกิจใดมีการแบ่งสัดส่วนรายได้เท่าใด เพื่อให้ประชาชนและสาธารณชนได้พิจารณาร่วมกัน

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

โดยทั่วไปแล้ว หากต้องการที่จะมีการตั้งต้นใหม่ให้ถูกต้องที่บางคนมักจะใช้คำว่า “ล้างบาง” สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรกไม่ใช่การทำ MOU มาทับสิ่งที่ทำกันอยู่เดิม แต่เป็นการตรวจสอบทางบัญชี และการเปิดเผยงบการเงินให้แก่สาธารณชนได้ร่วมตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบว่าจุดไหนที่มีปัญหาการรั่วไหล หรือมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น เพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวน และจัดการตามระเบียบ กฎหมาย ให้ถูกต้องเสียก่อน แต่ปัจจุบันงบการเงินของธุรกิจกองทัพต่างๆ ต้องถือว่าตรวจสอบได้ยากมากๆ บางธุรกิจไม่สามารถหางบการเงินได้เลย ไม่รู้เลยว่ามีรายได้ และผลตอบแทนที่เป็นเงินนอกงบประมาณเท่าใด

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวเพิ่มว่า การเปิดเผยงบการเงินและรายละเอียดของ MOU เป็นกระบวนการสำคัญที่ยังไม่มีการพูดถึงเลย แล้วจะบรรลุถึง “ความโปร่งใส และกลไกการตรวจสอบ” ได้อย่างไร อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ หน่วยงานของรัฐที่มีรายได้เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ได้มีเพียงกองทัพบกเท่านั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากหน่วยงานอื่นๆ เลย อาทิ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กองทัพ ทางแก้ปัญหานี้ที่ยั่งยืนที่สุดก็คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 61 วรรค 2 และวรรค 3 ที่ระบุว่า

“เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐให้นํามาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือได้ทําความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น เงินนอกงบประมาณนั้นเมื่อได้ใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดําเนินงานตามวัตถุประสงค์จนบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการนั้นแล้วมีเงินคงเหลือให้นําส่งคลังโดยมิชักช้า ทั้งนี้ การนําเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้นควรแก้ไข โดยให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องนำเงินนอกงบประมาณของตนมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลังทุกกรณี และหากมีเงินคงเหลือก็ต้องนำส่งคลังทุกกรณีเช่นกัน” นายวิโรจน์กล่าว

และว่า หากมีความจำเป็นหรือเพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการก็เป็นที่เข้าใจได้ แต่ต้องตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากปวงชนชาวไทยได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ควรอนุญาตให้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นได้ ซึ่งประชาชนหรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มิอาจทราบได้เลยว่า หน่วยงานไหนไปทำข้อตกลงอะไรไว้กับกระทรวงการคลังไว้บ้าง และรายละเอียดข้อตกลงนั้นเป็นอย่างไร ไปตกลงกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่สำคัญก็คือ ใครที่มีอำนาจในการลงนามข้อตกลงนั้น ตราบใดก็ตาม หากไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ในมาตรา 61 วรรคสอง และวรรคสาม ในอนาคต MOU ที่เคยทำเอาไว้ในวันนี้ก็อาจจะถูกยกเลิก หรือถูกเปลี่ยนแปลงโดย ผบ.ทบ.ท่านใหม่ โดยที่ประชาชนไม่รับรู้เลยก็ได้ ดังนั้น การจะทำให้กองทัพมีความโปร่งใสที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่การทำ MOU แต่เป็นการเปิดเผยงบการเงินทั้งหมด ทั้งในปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้และในอนาคต กิจการใดที่กองทัพไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวพันแล้ว เพราะไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพก็ควรพิจารณาคืนให้แก่รัฐไป ส่วนกิจการที่ยังดำเนินการอยู่ก็ต้องเปิดเผยงบการเงินให้สาธารณชนรับทราบ มีการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานทางบัญชีอย่างถูกต้อง โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมกับผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ครอบคลุม “เงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินแผ่นดิน ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด” ซึ่งจะเป็นกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่​

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image