คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป : “หวังดี” ที่ถูกบดบัง

บรรยากาศการเมืองเข้าสู่โหมดของ “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ”

ทำประชามติก็เพื่อให้ “รัฐธรรมนูญ” ที่จะดำเนินการประกาศใช้ต่อไปมีหลักอิงว่า “มาจากประชาชน” คนไทยส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบแล้ว

ซึ่งนั่นเป็นไปตามหลักการ “ประชาธิปไตย”

ให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนรับประกันความชอบธรรมของ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งจะเป็นเรื่องดีงามอย่างยิ่งหากการรับประกันนั้นจะไม่ถูกโจมตีว่ามีความพยายามบังคับให้ผลออกมาในทางหนึ่งทางใด ไม่ใช่การออกเสียงโดยอิสระอย่างแท้จริงของประชาชน

Advertisement

ซึ่งการโจมตีนั้นนับวันจะสร้างกระแสให้คนเชื่อได้กว้างขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะ การรับประกันของประชาชนที่ท่วมด้วยบรรยากาศของข้อครหานี้ จะทำให้การทำประชามตินี้มีแต่ผลเสียหาย

หากที่สุดแล้ว “ประชามติ” ผลออกมาเป็นไปตามอย่างข้อครหา คือ “ผ่าน”

Advertisement

การยอมรับจะไม่มีทางเกิดขึ้น ความขัดแย้งของคนไทยจะยิ่งรุนแรงขึ้นเสียด้วยซ้ำ จากการที่คนฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าถูกชะตากรรมของตัวเองจะต้องไปตกอยู่ในกติกาของประเทศที่พวกเขารู้สึกว่าไม่ชอบธรรม ความกังขาในที่มาของเสียงส่วนใหญ่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับ และแม้จะใช้อำนาจบังคับให้อยู่ในความสงบ ก็จะใช้ได้ในระดับหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติน่าจะเป็นหนทางที่ทำกันเอิกเกริกขึ้น เพราะชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้จะไม่มีความหวังกับหนทางอื่น ความวุ่นวายของประเทศจะไม่จบ

แต่ที่จะแย่ไปกว่านั้น ยังเต็มไปด้วยข้อครหาในการจำกัดสิทธิมากมายเพื่อบังคับผล แล้ว “ประชามติ” เกิด “ไม่ผ่าน” ขึ้นมา ตรงนี้จะเกิดความยุ่งยากมากมาย

การใช้อำนาจโดยใช้กำลังและคำสั่งอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่จะยิ่งกลายเป็นเรื่อง “ตลก” และถูกโจมตีว่า “หมดความชอบธรรม” แรงขึ้น ด้วยเหตุผลที่ทั้งในประเทศและนานาชาติจะเงี่ยหูฟังกันมากขึ้น

“ความเชื่อมั่น” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประคับประคองความเป็นไปของประเทศจะมีปัญหามากกว่าเก่า

ดังนั้น ในที่สุดแล้ว แม้จะใช้คำสั่งและกำลังบังคับให้เห็นดีเห็นงามหนักหน่วงแค่ไหนก็ตาม ที่สุดแล้วการทำประชามติที่ใช้อำนาจกันอย่างเข้มข้นเช่นนี้ จะไม่ได้อะไรขึ้นมา

หาก “ผ่าน” จะได้รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการยอมรับ

หาก “ไม่ผ่าน” จะกระทบต่อผู้ใช้อำนาจ เพราะ “การตัดสินของประชาชน” จะถูกหยิบยกขึ้นมาอ้าง

ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อให้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” และ “ประชามติ” เป็นกลไกที่จะแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงของประเทศ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดอิสระในการแสดงออก

รีบลบบรรยากาศของการปิดกั้นลง

ลดความหวาดระแวงในความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการตัดสินของประชาชนลง

ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจในการตัดสินใจอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จึงจะพอหักล้างการโจมตีว่า “ไม่ชอบธรรม” ได้บ้าง

ข้อเสนอเช่นนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง

เสียดายตรงที่เป็น “ข้อเสนอที่ไม่ถูกใจ” ทำให้เกิดการตีความว่ามาจาก “ความคิดต่อต้าน”

ทั้งที่หากตั้งสติทบทวนให้ดีจะพบว่าเป็น “ข้อเสนอที่มีเจตนาจากความหวังดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image