ห่วงรธน.ชิงแท้ง หนีทำประชามติ เต้นชี้วิธีพิเศษตัดตอน สปท.จ่อชำแหละ1กพ.

@ ‘มีชัย’งงปมทำรบ.อ่อนแอ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มกราคม ถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่กังวลกับกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกโจมตี เพราะคนไม่ชอบก็ไม่ชอบอยู่แล้ว แต่ กรธ.จะเอี้ยวหูฟังเฉพาะคนที่ติติงในเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล ส่วนฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นร่างที่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอนั้น ถามว่าอ่อนแอตรงไหน ขอแนะนำเลยว่าหากพรรคการเมืองใดที่ไม่ประสงค์ให้คนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวนั้น เวลาที่จะร่างกฎหมายพรรคการเมืองจะเปิดโอกาสให้แก้ โดยห้ามเสนอคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าพรรคใดเสนอไปแล้ว แต่คนคนนั้นไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.ก็จะไม่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี บังคับไว้เลย โดยที่ไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ง่ายดี

นายมีชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดกรอบไว้ให้รัฐบาลในการบริหาราชการแผ่นดินที่ต้องซื่อสัตย์สุจริต ไม่นำเงินหลวงเข้ากระเป๋า ต้องการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ เว้นแต่ข้อมูลลับ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีความเสมอภาค ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้รัฐบาลอึดอัดตรงไหน เพราะเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ กรธ.ไม่ได้ไปกำหนดว่าต้องทำด้วยวิธีใด เพราะรัฐบาลจะทำด้วยวิธีไหนก็เป็นนโยบายของรัฐบาลนั้นอยู่แล้ว

@ โฆษกกรธ.ชอบเลือกตั้ง2ใบ

Advertisement

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงร่างรัฐธรรมนูญระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชนในภาคเหนือ ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ ว่าภาพรวมพอใจ แต่ยอมรับว่ามีบางประเด็นที่ยังเห็นต่าง อาทิ ระบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งส่วนตัวยังเคยชินกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกออกมาแล้ว หลังจากนี้ กรธ.จะต้องมีการรับฟังความเห็นพร้อมกับลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนตามกรอบระยะเวลาภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้

นายอุดมกล่าวว่า ส่วนกรอบการจัดทำร่างกฎหมายลูกจะต้องมีการขยายระยะเวลาจาก 8 เดือนหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุป แต่เบื้องต้นมีการพูดคุยกันใน กรธ.ว่าจะเพิ่มจำนวนกรรมการเพื่อเข้ามาช่วยกันทำงาน ส่วนตัวเห็นว่ายังขาดมือกฎหมาย อาทิ นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม แต่ไม่ควรเป็นบุคคลในองค์กรที่เกี่ยวกับกฎหมายลูกนั้นเอง เพราะอาจเกิดความไม่เหมาะสม

“ท้ายที่สุดจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ต้องคิดว่าประเทศจะไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างไร แต่หากเดินตามแผนโรดแมป คาดว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ในปลายปี 2560 และมีการจัดตั้งรัฐบาลช่วงต้นปี 2561” นายอุดมกล่าว

@ ‘วิษณุ’แจงติดดาบองค์กรอิสระ

Advertisement

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญโดยรวมให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมากว่า เป็นการให้อำนาจไม่เพียงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่หมายถึงองค์กรอิสระทั้งหลายเฉลี่ยกันไป ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มีอำนาจเฉพาะหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีอำนาจต่อเมื่อได้รับคดีมาแล้วให้มีหน้าที่ชี้ขาด และจากการอ่านเนื้อหายังไม่เห็นว่าจุดใดที่ให้อำนาจมากเกินไปจนผิดปกติ และยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญมีความจำเป็นหรือไม่ที่ กรธ.ให้คงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 จนกว่ามีรัฐบาลใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าคิดว่ามาตรา 44 มีขึ้นเพื่อให้เกิดอันตรายก็คงไม่จำเป็นและไม่สมควร แต่การใช้มาตรา 44 ที่ผ่านมาต่างถูกใช้อย่างสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาที่กฎหมายปกติมิอาจแก้ไขได้ และยังใช้เพื่อบูรณาการในหลายเรื่อง จึงเชื่อว่าเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว มาตรา 44 จะถูกใช้อย่างระมัดระวังกว่าเดิมหลายเท่า เพราะบทบัญญัติที่คุ้มครองหลายประการจะหายไป

@ รับคงม.44ให้เลือกตั้งเรียบร้อย

เมื่อถามว่า ที่ยังคงมาตรา 44 เป็นเพราะกังวลการเลือกตั้งด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หรือคุณไม่กังวล ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะแก้อย่างไร แต่ต้องมีคำตอบว่าถ้าประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร

เมื่อถามว่า การคงมาตรา 44 ไว้เช่นนี้จะกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ตอบตอนนี้ ทำไมไม่คิดว่าจะเอาไว้ใช้เพื่อทำให้การเลือกตั้งสงบเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม วันนี้มีปัญหาหลายอย่างที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เรียบร้อยหากออกกฎหมายไม่ทัน มาตรา 44 อาจจะช่วยได้ แต่อะไรที่สถาปนาโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ไม่สามารถล้มล้างได้ เช่น เมื่อเกิดการทุจริตเลือกตั้ง มาตรา 44 ก็ไม่สามารถสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เป็นต้น แต่ใช้ได้เพื่อทดแทนการออกกฎหมาย จะทดแทนหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้

@ ลั่นไม่มีฉบับไหนปชต.100%

เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูฉบับใหม่นี้มีความเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีรัฐธรรมนูญที่ใดในโลก หรือรัฐธรรมนูญไทยฉบับใดที่เป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วจะมาเค้นอะไรจากฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ ในอดีตฉบับที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหรือน้ำครึ่งแก้ว กลับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่ใช้มานาน

“เมื่อรับร่างฯอย่างเป็นทางการจะแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อจะได้หารือว่าจะมีข้อเสนอให้ กรธ.แก้ไขอย่างไร” นายวิษณุกล่าว

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คาดว่าในเร็ววันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะเรียกประชุมร่วม ครม.และ คสช. เพื่อหารือเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญก่อนส่งความเห็นและข้อเสนอแนะกลับไปยัง กรธ.

@ ‘อ๋อย’โพสต์เลวร้ายกว่าที่คิด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า เห็นร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นแล้วพบว่า เนื้อหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้มีอยู่ครบถ้วนและยังมีเนื้อหาส่วนที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนชาวไทย แต่อำนาจทั้งหลายอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน และไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น วุฒิสภา องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนตรวจสอบไม่ได้ เป็นการทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลอย่างสิ้นเชิง

“ร่างนี้เป็นร่างที่สร้างเงื่อนไขและแรงจูงใจให้สังคมก้าวสู่วิกฤต ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการล้มรัฐบาล การขัดขวางการเลือกตั้งทำได้ง่าย เปิดช่องให้เกิดการตีความที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิไตย เช่น การให้มีรัฐบาลคนนอกที่อาจปกครองประเทศเป็นเวลานาน เมื่อปรากฏว่าตัวรัฐธรรมนูญเองสร้างวิกฤต แต่ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญนี้แก้ไม่ได้แล้ว การแก้ความขัดแย้งจึงเหลือเพียงการฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น” นายจาตุรนต์ระบุ

@ ชี้วางหมากกลอย่างซับซ้อน

นายจาตุรนต์ระบุอีกว่า เมื่ออ่านร่างทั้งหมดแล้วจะพบว่าร่างนี้มีเนื้อหาที่เลวร้ายกว่าที่เคยเปิดเผยมาก่อนหน้านี้คือ เป็นรัฐธรรมนูญฉ้อฉลที่วางหมากกลไว้อย่างซับซ้อน แต่ละส่วนเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจทั้งหลายจะไม่อยู่ที่ประชาชนเลย เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งรองรับการปกครองที่เป็นเผด็จการอย่างถาวร ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังได้ปูทางให้กระบวนการนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ทั้งการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปสำคัญๆ ที่ล้วนแต่จะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ

“บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังจะยืดเวลาของการที่ประเทศไม่เป็นนิติรัฐและไม่มีหลักนิติธรรมให้ยาวนานออกไป ใครที่หลงเข้าใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนจะมีเสรีภาพมากขึ้น จึงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ ส่วนใครที่หวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นแล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น วิกฤตจะไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจะแก้ปัญหาของประเทศตามที่ประชาชนต้องการ เศรษฐกิจจะดีขึ้นและประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น คงต้องขอเรียนให้ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะทำลายความหวังทั้งหลายนั้นอย่างแน่นอน” นายจาตุรนต์ระบุ

@ ‘ชูศักดิ์’ฟันธงซื้อเสียงมโหฬาร

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่ามีระบบเลือกตั้งที่รอนสิทธิประชาชน จากที่เลือกได้ทั้งคนทั้งพรรค เหลือเพียงเลือกคน แต่เอาไปคิดคะแนนบัญชีพรรค จะขัดกับความต้องการของประชาชนบางส่วน จึงทำให้ตัดสินใจยากลำบาก และจะเกิดการซื้อเสียงซื้อพรรคกันอย่างมโหฬาร อีกทั้งระบบแบบนี้พรรคกลางๆ จะได้เพิ่มคะแนนบัญชีรายชื่อ ในที่สุดจะกลายเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอมุ่งแต่แก้ปัญหาการเมือง เปิดโอกาสให้คนนอกเป็นนายกฯ โดยมีการจับมือกับผู้ต้องการสืบทอดอำนาจไว้ก่อนการเลือกตั้ง

นายชูศักดิ์กล่าวว่า สำหรับ ส.ว.สรรหาจะเป็นฐานอำนาจของการเมืองนอกระบบ ได้คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจแฝงและจัดตั้งกันมา มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ ทั้งยังจะได้คนหน้าเดิมๆ ที่เคยปฏิเสธการเลือกตั้ง ได้บุคคลที่มีบทบาททางการเมืองอยู่ในรัฐบาล คสช. และจะตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

@ ซัดรธน.ซ่อนรูป-ถอยลงคลอง

“ระบบเช่นนี้รัฐบาลทำงานยาก ถูกตรวจสอบเต็มไปหมด ตั้งแต่ถูกตรวจนโยบายตอนหาเสียง เป็นรัฐบาลแล้วก็ยังต้องฝ่าด่านองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมากกว่าเดิม ทั้งทักท้วงนโยบายรัฐบาลไม่ให้ทำอันนั้นทำอันนี้ แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลการเมืองคอยถอดถอนรัฐบาล ขณะเดียวกันการแปรญัตติงบประมาณจะกลายเป็นชนวนประเด็นถูกกล่าวหา นำไปสู่การถอดถอนทั้ง ครม. ส.ส. กรรมาธิการ รัฐบาลในอนาคต หากมิใช่รัฐบาลนายกฯคนนอกจะบริหารยากมากๆ เรียกว่าอำนาจองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชน จึงมีผู้ตั้งฉายาว่าฉบับไม่เห็นหัวประชาชน” นายชูศักดิ์กล่าว

นายชูศักดิ์กล่าวว่า โดยรวมการร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ รัฐธรรมนูญเผด็จการซ่อนรูปถอยหลังลงคลอง จะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมนานาชาติ จะยิ่งฉุดรั้งประเทศให้ตกต่ำลงไปอีก เศรษฐกิจของชาติจะจมดิ่งลงไปอีก และจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งของสังคมไทยต่อไปอีก

@ ‘เต้น’ห่วงค่ำก่อนประชามติ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เชื่อว่าสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญในร่างสุดท้ายจะไม่ต่างจากร่างแรกที่นายมีชัยแถลงข่าว โดยมองว่าการส่งให้ส่วนต่างๆ พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะนั้นเป็นเพียงพิธีกรรม คาดหวังความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะคนบนเรือแป๊ะส่วนใหญ่สมประโยชน์กันไปแล้วจากการต่ออายุและเปิดช่องให้เป็น ส.ว.ลากตั้งได้

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่นายมีชัยร่าง คอร์รัปชั่นอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปเป็นของคนบางกลุ่มในเครือข่ายอำนาจเดียวกับ คสช.อย่างชัดแจ้ง หลังจากนี้หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคงจะชี้ประเด็นในแต่ละมาตราที่เป็นปัญหา หวังว่าผู้มีอำนาจจะใจกว้างไม่ปิดกั้นขัดขวาง และขอให้แข็งใจให้ถึงวันประชามติ อย่าใช้วิธีพิเศษคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้เสียก่อน เพราะประชามติครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญ และเป็นการยืนยันหลักการว่า อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญคือ อำนาจอธิปไตยของประชาชนเท่านั้น

@ ‘วิรัตน์’ชี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตอนนี้ยังให้ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะต้องรอความคิดเห็นและมติอย่างเป็นทางการของพรรค ทั้งนี้โดยส่วนตัวคิดว่า เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งอยากให้เป็น 2 ใบดีกว่า บัตรคนกับบัตรพรรค เพราะแต่ละเขตเลือกตั้งยังห่างกันเป็นหมื่นๆ คะแนน ส่วน ส.ว. ควรจะมาจากกลุ่มอาชีพที่ขึ้นทะเบียนกับ กกต. และให้ภายในกลุ่มอาชีพนั้นๆ เลือกออกมาเป็น 2 เท่า จากนั้นให้ประชาชนทั่วประเทศเลือกออกมาเหลือเท่าเดียว ถ้ายึดหลักแบบนี้จะได้ ส.ว.ที่มาจากสุดยอดสายอาชีพนั้นๆ ไม่ว่าจะแพทย์ ทนาย ทหาร ตำรวจ วิศวกร หรือเกษตรกรทั้งชาวนา ชาวสวนชาวไร่ ฯลฯ

“คงจะให้ความเห็นอะไรมากเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะต้องรอผู้ใหญ่ในพรรคก่อน ทั้งนี้ผมคิดว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี แต่อยากให้ปรับเพียง 2-3 เรื่อง ทำนองเดียวกันมาตรา 257 ที่เป็นบทเฉพาะกาลที่ให้คงอำนาจ คสช. ไว้นั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะคงไว้เฉพาะการส่งมอบอำนาจจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือน ซึ่งไม่ควรใช้อำนาจมาตรา 44 เพราะจะแลดูพร่ำเพรื่อไปมากกว่า อีกทั้งหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็น่าจะใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อถ่ายโอนอำนาจให้ราบรื่น” นายวิรัตน์กล่าว

@ ‘นิพิฏฐ์’เห็นต่างกับ’มีชัย’

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป. กล่าวว่า เห็นต่างกับนายมีชัย ที่ตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นฉบับปฏิรูป โดยเมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญจบ เห็นว่าเป็นร่างที่มุ่งแก้ปัญหาในอดีต เช่น แก้เรื่อง ส.ว.ถูกครอบงำ ส.ส.ทุจริต ปัญหาพรรคการเมืองได้เสียงมากเกินความเป็นจริง การให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยแก้ปัญหาเรื่องประชานิยม จึงไม่ตระหนักว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ถ้าปฏิรูปต้องเพิ่มบทบัญญัติใหม่ๆ ทันสมัยขึ้นมา พร้อมก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างสง่าสมภาคภูมิ มองความก้าวหน้าด้วย อย่ามองย้อนหลังอย่างเดียว การให้องค์กรอิสระไปกำกับดูแลประชานิยมได้ ทำให้ระบบตัวแทนรัฐสภา อ่อนแอ แบบนี้จะเรียกว่าถอยหลังก็ได้

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายมีชัยระบุว่าต่อให้ร่างกี่ครั้ง การป้องกันทุจริตยังต้องเข้มข้น เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดไว้นั้น ถ้าทำตะแกรงให้ถี่ ไม่ให้คนทุจริตเข้าไปเหยียบสภานั้น เห็นด้วย นายมีชัยกับทีมผู้ร่างภูมิใจหนักหนาว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่กลับไปลดอำนาจคนดีที่เข้ามาทำงานการเมืองทำไม ตรรกะนี้สวนทาง ยังใช้ไม่ได้ ไปริบอำนาจฝ่ายการเมืองไปให้ข้าราชการ ผู้ร่างมีอคติกับฝ่ายการเมือง พูดได้ว่าไม่มีนักการเมืองก็ได้ แบบนี้ผิดหลัก

@ แขวะเชิญพระเล่นการเมือง

“ยังยืนยันข้อดีในร่างรัฐธรรมนูญมีมาก ขอชมเรื่องการคุ้มครองสิทธิประชาชน ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายห้าม ประชาชนทำได้หมด ชัดเจนแบบนี้ดี ไม่ต้องไปเขียนรายละเอียดแบบชุดก่อนๆ ทันสมัย ตรงนี้ส่วนที่คิดว่าดี แต่คนที่เหมาเป็น ส.ส.ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องไปเชิญผู้จบเปรียญ 9 ประโยคออกมาจากวัด” นายนิพิฏฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า นายมีชัยบอกว่า ถ้ามีเวลาร่างใหม่ อาจได้ร่างรัฐธรรมนูญโหดกว่านี้ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ถ้าจะโหดกว่านี้นายมีชัยคงต้องไปเชิญสมเด็จมาเล่นการเมืองแล้ว เราต้องมองเรื่องมิติการเมืองด้วย อย่าไปมองแต่เรื่องลิดรอนอำนาจกันเกินไป

@ กมธ.การเมืองนัดชำแหละร่าง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เท่าที่ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบการเลือกตั้งยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะ 1.การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะต้องแก้ปัญหาการซื้อเสียงไช่หรือไม่ 2.การเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตที่ยังคงให้มี ส.ส.เขตละ 1 คนนั้น ยังไม่สะท้อนเสียงของประชาชน และ 3.ระบบการลงคะแนนเลือกตั้งแบบนี้ แนวโน้มทำให้เกิดพรรคการเมืองหลายพรรค ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพหรือไม่

“ยังไม่ถึงกับรับไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา เราต้องดูเหตุและผล รวมถึงทดลองให้คะแนน ว่าสิ่งที่กำหนดไว้แก้ปัญหาประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ขณะนี้เราก็กำลังทำความเข้าใจ และในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง จะมีการประชุม กมธ.เพื่อวิเคราะห์และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพรรคการเมือง” นายเสรีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image