เปิด 3 แนวทาง คำวินิจฉัยยุบ-ไม่ยุบ ‘อนาคตใหม่’

เปิด 3 แนวทางคำวินิจฉัยยุบพรรค ‘อนาคตใหม่’ หากยุบ กก.บห.ถูกตัดสิทธิสมัคร 10 ปี โดนดำเนินคดีอาญาด้วย- ไม่ผิด ยกคำร้อง- ไม่ยุบวนกลับ กกต.ดำเนินคดีสู้อีก 3 ศาล ‘ธนาธร’ ส่อถูกจำคุก 5 ปี กก.บห.ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ริบเงินกู้เป็นของกองทุน ด้าน กกต.ชี้แจงศาล กำหนดเงื่อนไขวิธีการรับเงินเพื่อเป็นหลักประกันความโปร่งใสการได้มาซึ่งรายได้ ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำนิติกรรมอำพราง การหารายได้-รับเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขวิธีการที่ กม.กำหนด จึงเข้าข่ายผิด ม.72

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ รายงานข่าวแจ้งว่า การยื่นคำชี้แจงของ กกต.ต่อศาลนั้น กกต.ได้ให้ข้อมูลว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 62 กำหนดที่มารายได้ของพรรคการเมืองไว้ 7 ประเภท เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทางการเมืองตามอุดมการณ์ ไม่มีประเภทรายได้อื่นที่เปิดช่องให้พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินมาดำเนินกิจการได้ ประเภทของรายได้ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะของนิติบุคคลตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งจะต่างจากนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากไม่ใช่เงินรายได้ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว แม้จะเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็อาจเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน การที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการได้มาของรายได้แต่ละประเภท คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ให้ไว้แตกต่างกัน เช่น รายได้จากเงินบริจาคตามมาตรา 66 มีการกำหนดเงื่อนไขในการให้พรรคการเมืองไว้มากที่สุด รายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองมีเงื่อนไข การให้พรรคการเมืองลดหลั่นลงมา หรือรายได้จากการจำหน่ายสินค้าบริการของพรรคที่มิได้กำหนดเงื่อนไขการให้พรรคไว้แต่อย่างใด ก็เพื่อเป็นหลักประกันถึงความโปร่งใสการได้มาซึ่งรายได้ และการป้องกันมิให้เกิดการกระทำนิติกรรมอำพรางการได้มาซึ่งรายได้ของพรรคการเมือง ดังนั้น พรรคการเมืองที่หารายได้โดยไม่เป็นไปตามประเภทรายได้ หรือรับเงินโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาของรายได้ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนด เงินที่ได้มาจึงไม่เป็นเงินจากแหล่งรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด เข้าลักษณะความผิดตามมาตรา 72 กฎหมายเดียวกัน

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ต่อสู้ว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเช่นบริษัทเอกชน สามารถที่จะกู้ยืมเงินได้ โดยมีพรรคการเมืองอีก 16 พรรคที่มีการกู้เช่นกัน แต่ กกต.กลับเลือกปฏิบัติ ไม่ดำเนินการเอาผิด รวมทั้งเงินกู้ไม่ใช่เงินรายได้ ไม่ใช่บริจาค รวมถึงไม่ใช่ผลประโยชน์อื่นใด หรือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบที่จะผิดมาตรา 72 อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณาของ กกต.เร่งรัด ไม่ถูกต้อง ไม่ให้โอกาสพรรคในการยื่นเอกสารหลักฐานอย่างเต็มที่ เป็นการมุ่งที่จะเอาผิดกับพรรคอนาคตใหม่โดยเฉพาะ

Advertisement

ส่วนที่แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้มี 3 แนวทาง โดย 1.ศาลเห็นว่า ผิดจริง ตัดสินยุบพรรค เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 10 ปี ตามแนวคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถ้าเป็นแนวทางนี้ กกต.ก็จะมีการดำเนินคดีอาญาตามหลังด้วย 2.ศาลเห็นว่าพรรค ไม่มีความผิดตามมาตรา 72 ให้ยกคำร้อง 3.มีความผิด แต่เป็นความผิดตามมาตรา 62 มาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาจึงยกคำร้องยุบพรรค ซึ่งหากเป็นแนวทางนี้เรื่องดังกล่าวก็จะวนกลับมาที่ กกต.จะต้องเป็นผู้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด 2561 เพื่อที่จะดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 60 มาตรา 124 ที่กำหนดเอาผิดผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น 5 ปี

และมาตรา 125 ที่กำหนดเอาผิดพรรคการเมืองที่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น 5 ปี และให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดส่วนที่เกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

รวมทั้งอาจมีการดำเนินคดีในกรณีที่พรรคมีการนำเงินรายได้ของพรรคที่ได้จากการระดมทุน การรับบริจาค ขายของที่ระลึก ซึ่งกฎหมายกำหนดห้ามนำไปใช้เพื่อการอื่นใดนอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองตามมาตรา 87 ไปใช้หนี้เงินกู้ให้กับนายธนาธร โดยมาตรา 132 กำหนดโทษไว้หากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และเหรัญญิกพรรคผู้ใดนำเงินหรือยินยอมให้บุคคลนำเงิน ทรัพย์สินของพรรคไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี ปรับตั้งแต่ 1 แสน-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการเอาผิดทางอาญานั้นจะต้องต่อสู้ในศาลถึง 3 ศาล

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image