ผู้นำอปท.บุกพบรองนายกฯ โวยท้องถิ่นถูกหั่นงบประมาณ 2.2หมื่นล้าน

อปท.บุกพบ”วิษณุ”ร้องถูกหั่นงบ2.2หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ในฐานะตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตัวแทนสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และตัวแทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อรายงานปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการที่สำนักงบประมาณได้ตัดงบประมาณปี 2560 ของท้องถิ่นทั้งหมด จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท มีความสำคัญในการดำเนินงานใน 9 ภารกิจหลัก เช่น งบซ่อมแซมถนน จำนวน 1.2 หมื่นล้าน เงินอุดหนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เงินอุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบล งบอุดหนุนการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น

“งบประมาณที่ถูกตัดจะเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถ้าไม่เตรียมการแก้ปัญหาจะเกิดความยุ่งยากตามมา และเกิดผลกระทบกับภารกิจส่วนกลางถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่น เมื่อไม่มีเงิน ท้องถิ่นก็ทำไม่ได้ เมื่อก่อนตกลงกันไว้ว่า มีงาน มีเงิน และมีคนลงไปพร้อมกัน ตอนนี้ให้งาน แต่ไม่มีเงินให้ ก็มาบอกว่าท้องถิ่นไม่ทำอีก” นายนิพนธ์กล่าวและว่า นายวิษณุ ก็ชี้ว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายดึงภารกิจถ่ายโอนไปกลับมาไว้ส่วนกลาง ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะแก้ปัญหางบถูกตัดอย่างไร อาจมีคำสั่งให้หน่วยงานในภูมิภาคไปร่วมบูรณาการ

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ในฐานะนายกสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เดินทางเข้าพบนายวิษณุ เนื่องจากสำนักงบประมาณตัดงบอุดหนุนเฉพาะกิจกว่า 20,000 ล้านบาท โดยเฉพาะงบประมาณก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน วงเงิน 12,817 ล้านบาท งบประมาณสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วงเงิน 4,123 ล้านบาท และงบประมาณสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบอีก 2,663 ล้านบาท เป็นเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ และ อปท.ได้รับการถ่ายโอนถนนจากกรมทางหลวงชนบท ทั่วประเทศรวม 60,000 กิโลเมตร

Advertisement

“เรื่องดังกล่าว เกิดจากความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนของสำนักงบประมาณตัดงบดังกล่าว เพราะเข้าใจว่า อปท.มีงบประมาณของตนเองได้จากการเก็บภาษีโรงเรือน บำรุงท้องถิ่น และมี พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินเพิ่มอีก แต่กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ หากตัดงบดังกล่าวมีผลกระทบต่อการพัฒนาท้องถิ่นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ท้องถิ่นจะไม่มีงบพัฒนาในช่วง 6 เดือน หรือครึ่งปีแรกของงบปี 2560 จะส่งผลกระทบต่อการบริการสาธารณะ และคุณภาพชีวิตประชาชน” นายบุญเลิศกล่าวและว่า ส่วนการแก้ปัญหา นายวิษณุ เสนอ 2 แนวทาง คือ ให้รัฐบาลส่งเรื่องถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแปรญัตติงบประมาณใหม่ กับของบกลางจากรัฐบาล 20,000 ล้านบาท มาให้ อปท.เพื่อชดเชยงบถูกสำนักงบประมาณตัดไป นายวิษณุจะนำเสนอแนวทางดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ 3 องค์กรท้องถิ่น ไม่ได้เรียกร้องงบประมาณในปี 2560 เพิ่ม แต่ให้คงงบอุดหนุนเฉพาะกิจท้องถิ่นที่ถูกตัดทิ้งไปทั้งหมด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายรัฐบาล ในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมตามแนวทางประชารัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image