เปิดเหตุผล ศาลรธน.วินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน191.2 ล้านบาท โดยฝ่ายผู้ร้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) มอบหมายให้นายสมพล พรผล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง เป็นผู้แทนมาศาลฝ่ายผู้ถูกร้อง พรรคอนาคตใหม่ ทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มาศาล โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ว่า คดีนี้กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงข้อกล่าวหา เอกสารประกอบแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้พยานบุคคล รวม 17 ปาก

จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและให้เลขาธิการกกต.ในฐานะผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 4 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 หรือไม่ ประเด็นที่สอง มีเหตุยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง2560 มาตรา 92 หรือไม่ ประเด็นที่สาม กรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง2560 มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่เพียงไร ประเด็นที่สี่ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคสองหรือไม่
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่ปรากฎในคำร้อง คำชี้แจงข้อกล่าวหา ความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบ ฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ผู้ถูกร้องได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2561 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม2561 – 31 ธันวาคม 2561 ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ระบุว่า ผู้ถูกร้องมีรายได้ รวมเจ็ดสิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหกสิบแแปดบาท และมีค่าใช้จ่ายรวมเจ็ดสิบสองล้านหกแสนหกหมื่นสามพันเจ็ดร้อยห้าบาท ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ เป็นเงิน หนึ่งล้านสี่แสนเก้าหมื่นห้าร้อยสามสิบเจ็ดบาท
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ผู้ถูกร้องได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวนเงิน 161 ล้าน 2 แสนบาท โดยข้อ 1 ระบุว่า ผู้กู้ได้รับต้นเงินกู้เรียบร้อยแล้วทั้งจำนวน ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 75 ต่อปีของต้นเงินกู้ กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าสัญญาสิ้นสุดลง ทั้งนี้หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้กู้ต้องรับผิดในเบี้ยปรับวันละ 100 บาท จนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินกู้คงค้าง ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และเบี้ยที่ผิดนัดเสร็จสิ้น
ต่อมาผู้ถูกร้องได้มีการชำระเงินกู้ยืมบางส่วนให้แก่นายธนาธร จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ชำระเงินสด จำนวน 14 ล้านบาทวันที่ 21 มกราคม 2562 ชำระเป็นเงินสด จำนวน 8 ล้านบาท และวันที่ 29 มกราคม 2562 ได้ชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาไทยซัมมิท ทาวเวอร์ จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 72 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ผู้ถูกร้องได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 30 ล้านบาท โดยในสัญญา ข้อ 1 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้กู้ได้รับเงินกู้เป็นจำนวน 2 ล้าน 7 แสนบาท ส่วนจำนวนเงินกู้ที่เหลือตามสัญญาผู้ให้กู้จะให้แก่ผู้กู้ในภายหลัง ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินกู้เท่าที่ผู้กู้ยังคงค้างชำระ อีกทั้งผู้ถูกร้องกับนายธนาธร ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารับกันว่ามีการแก้ไขสัญญาเงินกู้ในข้อ 2 จากเดิมให้ส่งดอกเบี้ยทุกเดือน เปลี่ยนเป็นให้ส่งดอกเบี้ยทุกปี นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2562 นายธนาธรได้บริจาคเงินให้แก่ผู้ถูกร้อง จำนวน 8 ล้านห้าแสนบาท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ผู้ถูกร้องได้มีการชำระค่าดอกเบี้ยและชำระเงินกู้ยืมบางส่วนให้นายธนาธร จำนวน 3 ครั้ง แบ่งออกเป็นครั้งที่ 1 ค่าดอกเบี้ยเงินกู้พร้อมเบี้ยปรับ จำนวน 5 ล้าน 8 แสน 9 หมื่น 5 พัน 2 ร้อยบาท ครั้งที่ 2 ชำระเงินกู้ยืมบางส่วนของสัญญาลงฉบับวันที่ 2 มกราคม 2562 จำนวน 5 ล้านบาท และครั้งที่ 3 ค่าดอกเบี้ยเงินกู้พร้อมเบี้ยปรับ เป็นเงิน 1 ล้านสี่แสน สี่หมื่น 9 พัน 9 ร้อย 88 บาท สี่สตางค์

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 บัญญัติว่า เมื่อผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) หรือ (4) ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคนั้น และมาตรา 93 บัญญัติว่าเมื่อปรากฎต่อเลขาธิการกกต.ที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดรองรับหลักเกณฑ์ในลักษณะทำนองเดียวกันกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 และมาตรา 93 ส่วนที่ระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ข้อ 55 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้นำระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาดมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น มิได้หมายความว่าต้องนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับทุกข้อ แต่เป็นกรณีที่นำมาใช้เมื่อระเบียบกกต. มิได้เกำหนดไว้ อีกทั้งระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนการไจ่สวนและวินิจฉัย เป็นระเบียบที่ใช้สำหรับการสืบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับบุคคลเพราะเหตุกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งมีกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement

ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่า เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนคณะ 13 เสนอรายงานต่อผู้ร้องว่าคดีไม่มีมูลแล้วผู้ร้องมีหน้าที่สั่งยุติเรื่องตามมาตรา 41 ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. 2560 แต่เลขาธิการกกต. และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้อาศัยข้อเท็จจริงจากสำนวนการสืบสวนดังกล่าวข้างต้นมาตั้งฐานความผิดตามมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เสนอต่อผู้ร้องและได้ประชุมครั้งที่ 129/2562 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรค โดยไม่ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการแก้ไขสำนวนหรือไต่สวน และการแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 41 พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. และระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนและไต่สวนฯข้อ 54 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือปรากฎต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใด มีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่ถ้ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีมูลเพียงพอ สืบสวนต่อไปว่าการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหรือจะมีผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการมีหน้าที่ต้องดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานโดยพลัน ถ้าผลการสืบสวนปรากฎว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่องถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีผู้กระทำการตามที่มีการสืบสวนหรือไต่สวนให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินคดีโดยเร็วหรือในกรณีจำเป็นจะสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้กระทำการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ ย่อมหมายความว่าเมื่อผลการสืบสวนปรากฎไม่มีมูลความผิดและผู้ร้องเห็นชอบด้วยกับผลการไต่สวนของคณะกรรมการดังกล่าว จึงสั่งให้ยุติเรื่อง โดยความเห็นผู้ร้องย่อมเป็นอิสระ ไม่ได้ผูกพันธ์ ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

นอกจากนี้ ยังปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่า การดำเนินคดีอาญาตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา และนายสุรวัฒน์ สังขฤกษ์ ร้องเรียนกล่าวโทษผู้ถูกร้องสำนวนการสืบสวนขณะนี้เสร็จสิ้นจากการพิจารณาในขั้นตอนของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้งแล้ว และอยู่ระ หว่างการพิจารณาของผู้ร้อง จึงยังไม่ถึงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนไต่สวนฯ ประกอบกับประเด็นการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นกระบวนการทางอาญา ส่วนกรณีการยุบพรรคการเมืองตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 นั้น ปรากฎว่าการประชุมของผู้ร้อง 129/2562 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ผู้ร้องมีมติว่าเพื่อให้การดำเนินการต่อกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองเป็นไปโดยความเรียบร้อย จึงให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้สในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงมีคำสั่งลงวันที่ 27 พฤศจิกายน เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยคณะกรรมการดังกล่าวประชุมศึกษารายละเอียดสำนวนการสืบสวนกรณีกล่าวหาว่านายธนาธร ได้ให้พรรคผู้ถูกร้องกู้ยืมเงิน เป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวก้ับพรรคการเมืองด้วยความรอบคอบว่าสมควรจะดำเนินการตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่ ต่อมาคณะกรรมการได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอต่อผู้ร้องและผู้ร้องได้พิจารณาเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 เป็นเหตุให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 (3 ) ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และได้มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกระบวนการดำเนินคดีอาญาและการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยุบพรรค จึงแยกเป็นอิสระต่อกัน การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่จึงฟังไม่ขึ้น

นายวรวิทย์ อ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ผู้ร้องโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ ศาลเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยคดีได้ ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่ฟังไม่ขึ้น และเป็นที่ยุติตามที่ กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณา ตั้งแต่การรับคำร้องในวันที่25 ธันวาคม และมีการประชุมองค์คณะตุลาการอย่างต่อเนื่องรวม 11 ครั้ง จนกระทั่งได้ข้อยุติและนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาคดีอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมระยะเวลา 71 วัน จึงไม่ได้กระทำการเร่งรัดหรือรวบรัดแต่อย่างใด

ทั้งนี้นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ว่า ประเด็นที่สอง มีเหตุยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง2560 มาตรา 92 หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวรรคสองบัญญัติว่า กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบาย ส่งผู้สมัคร กำหนดมาตรการ ให้สามารถดำเนินการกิจการพรรคได้โดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือถูกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชี้นำ ครอบงำ และการให้กำหนดมาตรการให้สมาชิก ไม่กระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาทต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
มาตรา 72 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มีความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกำหนดกรอบของกฎหมายในการจัดตั้งและการบริหารพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและการบริหารงานภายในของพรรคที่เป็นไปตามหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มแรกและกำหนดให้การส่งผู้สมัคร กำหนดมาตรการ ให้สามารถดำเนินการกิจการพรรคได้โดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือถูกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชี้นำ ครอบงำ และการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการพรรคนั้น เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมือง เป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงตราพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองขึ้น เป็นกฎหมายตามมาตรา 45 บัญญัติไว้

ส่วนมาตรา 66 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ห้ามบุคคล บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปี บทบัญญัติดังกล่าวต้องการควบคุมพรรคการเมืองรับบริจาคเงินจากบุคคล เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้พรรค บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นนายทุนพรรคการเมืองเพื่อบงการหรือมีอิทธิพลครอบงำและชี้นำ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามประสงค์ของตนแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ ทำให้การบริหารกิจกาพรรคการเมืองไม่เป็นไปโดยอิสระ ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในพรรคไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อันเป็นการทำลายหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และอาจส่งผลทำให้พรรคการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บงการ หรือผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการรับบริจาคของพรรคการเมืองเพื่อสร้างเสริมให้พรรคการเมืองมีการบริหารกิจการพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่ประชาชนมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ
ประเด็นที่ต้องพิจารณาประการแรก การที่พรรคการเมืองรับบริจาคทรัพย์เงินทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีความหมายแค่ไหนเพียงไร เห็นว่า

บทบัญญัติมาตรา 72 มีข้อห้าม 2 กรณี 1.พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน รับบริจาคเงิน พรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นทั้งการได้มาและวิธีการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เปิดเผย 2.พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง กระทำการฝ่าฝืนรับบริจาค เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่ง ที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มาซึ่งเงินหรือทรีพย์สินอื่นใด ที่มีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดกฎหมายหรือเป็นเงินสกปรก การฟอกเงิน การค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์ การทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งการได้มาทั้ง 2 กรณี ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 จึงได้กำหนดข้อห้ามเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ อันจะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วม สนับสนุน หรือมีส่วนร่วมช่วยเหลือกระทำความผิดไปด้วยมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อระบบการเมืองของประเทศไทย เป็นมาตรการสำคัญในการเสริมสร้างระบบการเมืองของไทยให้มีความโปร่งใส เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน สอดคล้องมาตรา 77 วรรรคหนึ่งของกฎหมายเดียวกัน ที่กำหนดมาตรการ วิธีการให้พรรคการเมืองปฏิบัติ เพื่อให้ การบริจาคของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมายเปิดเผยและตรวจสอบได้

ปัญหาประการที่สองมีอยู่ว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาไว้ ในตามมาตรา 62 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น เงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของทางการเมือง ที่ไม่มีแหล่งที่มาตามกฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ด้วยมาตรา 62 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถึงแม้ว่าไม่ได้ห้ามการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองโดยชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมือง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และเงินกู้ แม้มิได้เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับและเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงจะทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อต้องการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย กำกับให้พรรคการเมืองตรวจสอบได้และให้พรรคการเมืองดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองจึงต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาที่สามมีอยู่ว่าการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 72 มีความหมายอย่างไร เห็นว่า เมื่อพิจารณานิยามคำว่าบริจาคตามมาตรา 4 ของกฎหมายเดียวกัน หมายรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามที่กำหนด ส่วนคำว่าประโยชน์อื่นใด หมายถึงการให้ทรัพย์สิน บริการ ส่วนลด โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นหนี้สิ้นไปด้วย ซึ่งการที่กฎหมายใช้คำว่าให้หมายความรวมถึงในการนิยามความหมาย ของคำในกฎหมาย ย่อมมีความหมายรวมถึงสิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่จำกัดความหรือให้ความหมายไว้ด้วย เพราะฉะนั้นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ย่อมความหมายรวมถึงการกระทำที่มีลักษณะทำนองเดียวกับการให้บริการ หรือการให้ส่วนลด หรือว่ามีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทาง การค้า และทำให้หนี้ของพรรคการเมืองลดลงหรือสิ้นไป
หรือการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ต้องการออกค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติต้องจ่าย อันมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้น การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยโดยไม่ปกติทางกรค้า หรือการทำให้หนี้พรรคการเมืองลดลง หรือการได้เงิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายที่ปกติต้องจ่าย ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง ตามมาตรา 4 ต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์มาตรา 45 วรรคสองและอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการบริจาค ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 66 และมาตรา 72 ด้วย
เหตุนี้คำว่าบริจาค และประโยชน์อื่นใด ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง จึงมีความหมายเฉพาะตามกฎหมายนี้ เพื่อกำหนดสิ่งที่อยู่ในขอบข่ายบังคับแห่งกฎหมายในเรื่องนี้และเป็นไปตามวัตถุประสงค์กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการควบคุมการสนับสนุนทางการเมืองให้เป็นไปโดยพอเหมาะ พอควร แก่การดำเนินการ โดยกำหนดให้พรรคมีระบบทางการเงิน บัญชี รวมทั้งรายได้ของพรรคที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ คุ้มครองหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค และป้องกันไม่ให้บุคคลใดอาศัยพรรคเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ส่วนตน หรืออาศัยความได้เปรียบทางการเงิน มาเป็นผู้บงการ หรือมีอิทธิพลครอบงำ ชี้นำกิจการของพรรคการเมืองแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎว่างบการเงินประจำปี 2561 ของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ 3 ตุลาคม -31 ธันวาคม 61 ที่ยื่นต่อกกต.ที่ระบุว่ามีรายได้จากเงินทุนประเดิม 1,067,124 บาท รายได้รวม 7,173,168 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 72,663,705 บาท ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 1,490,537บาท แต่พรรคกลับทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธร รวม 2 ฉบับ รวม 191.2 ล้านบาท แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ แม้พรรคอนาคตใหม่ จะชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่นายธนาธรหลายครั้ง แต่การชำระคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 เป็นเงินสดจำนวนเงิน 14 ล้านบาท ภายหลังที่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเพียง 2 วัน ถือเป็นการผิดปกติวิสัย

นอกจากนี้สัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2552 ซึ่งมีวงเงินกู้จำนวน 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ปี แต่วันทำสัญญา พรรคอนาคตใหม่กลับรับเงินกู้เพียง 2.7ล้านบาท การทำสัญญากู้เงินฉบับเพิ่มเติมโดยที่ยังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระอยู่ ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย การทำสัญญาเงินกู้ดังกล่าวจึงลักษณะที่มีข้อกตกลงในสัญญา และพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือพรรคอนาคตใหม่เป็นกรณีพิศษไม่เป็นปกติในทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยในการให้กู้เงิน และการชำระหนี้เงินกู้ยืมและการคิดดอกเบี้ย ก็ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าสำหรับการกู้ยืมเงินที่ไม่มีหลักประกัน ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่ บรรดาที่สามารถคำนวนเป็นเงินได้ และเมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่พรรครับบริจาค กู้ยืมจำนวน 191.2ล้านบาท กับเงินที่นายธนาธรบริจาคให้กับพรรคเมื่อปี 62 จำนวน 8.5ล้านบาท ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง

จากข้อเท็จจริงพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการที่นายธนาธรให้เงินกู้พรรคอนาคตใหม่ เป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และการที่นายธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวนมาก กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ควรที่จะรู้ว่าการเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใด ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ ชี้นำโดยบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้สามารถอาศัยอำนาจแห่งมูลหนี้ ที่จะเรียกให้พรรคชำระหนี้ หรืองดเว้นการอันใดตามสัญญาก็ได้ ทั้งยังก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเงิน มาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว อันส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ดังนั้น การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ จึงมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 72 กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองตามตรา 92 วรรคสอง ประกอบวรรคหนึ่ง (3)

ต่อมานายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นที่สาม ว่า กรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง2560 มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่เพียงไร พิจารณาแล้วเห็นว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติในลักษณะเป็นบทบังคับว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค จึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 2 มกราคม 2562 และวันที่ 11 เมษายน 62 ซึ่งเป็นวันที่ทำสัญญากู้เงินอันเป็นการกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค โดยกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่อเหมาะพอควรแก่กรณี ดังนั้น จึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่กระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค มีกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคสอง

ประเด็นที่สี่ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 94 วรรคสองหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเห็นว่า มาตรา 94 วรรคสอง ห้ามไม่ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรค ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ บทบัญญัตแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมิได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคแล้ว จึงต้องสั่งห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวันที่ 2 มกราคมหรือวันที่ 11 เมษายน ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่อีก หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืงอขึ้นใหม่อีกภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ประเด็นที่ 2 มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ประเด็นที่ 3 มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 และประเด็นที่ 4 มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image