‘สุชาติ ชมกลิ่น’ กางแผนรับศึกซักฟอก

หมายเหตุนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงาน อ-ส-ว ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการเตรียมความพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวม 6 คน ของพรรคร่วมฝ่ายค้านระหว่างวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์นี้

“ผมเชื่อว่านายกฯมีประสบการณ์มากกว่าผมที่เป็น ส.ส.เสียอีก ทำมากับมือ  รู้ทุกเรื่อง สามารถชี้แจงการอภิปรายได้แน่นอน หากจะเทียบกับการเรียน   ผมคิดว่าท่านจบระดับดอกเตอร์ทางการเมืองแล้ว”

⦁ความพร้อมของพรรคร่วมรัฐบาล ในการเตรียมความพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน
ทีมฝ่ายนิติบัญญัติในฝั่งของรัฐบาล ตั้งขึ้นมาเพื่อเตรียมความพร้อมรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งหมด 6 คน เพราะถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติของฝั่งรัฐบาลที่จะต้องเตรียมข้อมูล และความพร้อมในการสนับสนุนนายกฯและรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย เพราะทางพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ตั้งวอร์รูมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้เช่นเดียวกัน ฝ่ายค้านก็ต้องหาข้อมูลในการรุกและตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะการตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ (กพศ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาเป็นหัวหน้าทีมคุมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

Advertisement

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เรามีจุดประสงค์เดียวกันคือ มาอยู่พรรค พปชร. เพราะต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ถามว่าเราก็ต้องปกป้องและควบคุมแนวทางการโหวตของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค พปชร.ก็จำเป็นต้องทำอยู่แล้วเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯต่อไป

ฝ่ายค้านยังตั้งวอร์รูมเพื่อหาข้อมูลมาอภิปราย ทั้งตีกินทางการเมือง ผสมกับการตรวจสอบรัฐบาล ในส่วนของฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมีวอร์รูมเช่นเดียวกันด้วย ถ้าจะใช้คำว่าองครักษ์ หรือทีมปกป้องนายกฯและรัฐมนตรี ก็อยากทำความเข้าใจว่า การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของฝั่งรัฐบาล เป็นการสนับสนุนข้อมูล และการดูแลการอภิปรายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยจะถูกต้องกว่า ส่วนการตอบคำถาม ประเด็นการอภิปราย ผู้ที่ถูกอภิปรายในฐานะเป็นฝ่ายบริหารจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามเอง ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาจะไม่สามารถไปตอบคำถามแทนได้

Advertisement

⦁เตรียมความพร้อมหากมีการอภิปรายไปถึงเรื่องในอดีตของรัฐบาล
ส่วนตัวผมยังเชื่อมั่นตลอดเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศมา 6 ปี ตั้งแต่รัฐบาล คสช. มาจนถึงนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถตอบคำถาม และประเด็นที่ถูกอภิปรายจากฝ่ายค้านได้ เพราะนายกฯเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลในการบริหารประเทศในทุกกระทรวงมากที่สุด

ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค พปชร.ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของฝั่งรัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่ดูแลการอภิปรายให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุด ไม่ออกนอกลู่นอกทาง หาทางรับมือพวกที่อภิปรายตีกิน หลอกด่าย้อนไปสมัยในอดีตก่อนจะวกเข้ามาสู่ประเด็นอภิปราย ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือ
การเมืองในสภา พวกที่อภิปรายหลอกด่า ตีกินทางการเมือง ผมมองว่าไม่มีใครกลัวใครอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็ผ่านสนามการเมืองรู้ทันกันหมดอยู่แล้ว แต่ผมก็หวังว่าเมื่อทุกคนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ก็ควรจะทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ในแบบที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคารพกฎ กติกา และข้อบังคับการประชุม เพื่อยกระดับการเมืองให้มีความสร้างสรรค์ ให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ได้รับข้อมูล และการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เป็นประโยชน์มากที่สุด

การอภิปรายไม่ไว้วางใจผมเคารพการทำหน้าที่ของทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะผลลัพธ์ของการอภิปรายประชาชนที่ดูทางบ้านจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมทั้งการชี้แจงของนายกฯและรัฐมนตรีว่าข้อมูลของใครจะถูกต้อง

เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะมีประชาชนติดตามกันเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ได้มีการอภิปรายกันมาหลายปีแล้ว ประชาชนคาดหวังว่าการเมืองจะมีความสร้างสรรค์ หรือขัดแย้งกันเหมือนเดิม ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมาเป็นตัวแทนจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่

ผมอยากเปรียบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนการแข่งขันฟุตบอล มี 2 ฝ่ายมาแข่งกัน เล่นกันแบบแฟร์เพลย์เล่นในเกม ตามกติกาสากล มีประธานสภา เป็นกรรมการควบคุมการแข่งขัน ไม่ให้มีการเล่นนอกเกม ผมมั่นใจว่าประธานสภาจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ส่วนผู้ชมทางบ้านจะเป็นคนดูการแข่งขันเอง ว่านักกีฬาของแต่ละฝั่งเล่นตามเกมหรือไม่ ใครเกเร เล่นนอกเกม ผู้ชมทางบ้านจะตราหน้าต่อว่าคุณเอง ถ้าคุณจะชนะโดยเอาหลักฐานเท็จมาใช้ หรือคดโกง ประชาชนที่ได้รับข้อมูลมาก็จะตัดสินได้เอง เพราะวันนี้ทุกคนที่เป็น ส.ส.ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนก็ไม่มีใครกลัวใคร พรรค พปชร.ได้รับเลือกตั้งมา 8.4 ล้านเสียง บางพรรคก็ 2 ล้านเสียง ทุกคนมีแฟนคลับของตัวเองอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องไปเรียนรู้กันเองว่า จะทำอย่างไรที่จะรักษาเสียงของแฟนคลับให้อยู่ครบเหมือนเดิม หรือสร้างเสียงของแฟนคลับให้เพิ่มมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ ส.ส.จะต้องมีผลงานให้แฟนคลับเห็นและสัมผัสได้

การอภิปรายของฝ่ายค้าน หากจะพูดเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่บกพร่องของรัฐบาลก็เอาข้อมูลหลักฐานมาเปิดเผยกันในสภาเลย ให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงไปพร้อมๆ กัน แต่ก็ต้องรับผิดชอบในการนำข้อมูลมาเปิดเผยด้วย หากเรื่องนั้นๆ ไม่เป็นความจริง และทำให้ผู้ที่ถูกอภิปรายเกิดความเสียหาย เพราะสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายในการปกป้องตัวเองได้ ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายนำเรื่องในอดีตมาโจมจีฝ่ายรัฐบาลมากเกินไป ในฐานะที่ผมเคยทำงานกับรัฐบาลในอดีตถ้าจะเอาเรื่องในอดีตของรัฐบาลชุดก่อนมาอภิปรายบ้าง ตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์จากการอภิปรายหรือไม่ การเมืองจะเกิดความสร้างสรรค์หรือกลับไปสู่วังวนเดิม

⦁การทำงานหน้าที่กลุ่ม อ-ส-ว เพื่อรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การแบ่งหน้าที่ของ อ-ส-ว นั้น นายอนุชา นาคาศัยแกนนำพรรค พปชร. ทำหน้าที่ประสานงานในฝ่ายของ ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ส่วนผมทำหน้าที่ประสานงานกับ ส.ส.ทั้งในส่วนของพรรค พปชร.และ ส.ส.ของพรรคเล็กทั้งหมดให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะทำหน้าที่ประสานงานกับตัวแทนของวิปในแต่ละพรรค ทั้งนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ วิปของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ วิปของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รวมทั้งการประสานงานกับวิปฝ่ายค้าน ทั้ง 3 คนนี้จะประสานการทำงานให้เกิดความเรียบร้อยที่สุด

การทำงานของ อ-ส-ว จะเตรียมความพร้อมตั้งแต่ประธานสภา เปิดการอภิปราย ส.ส.คนใดจะทำหน้าที่ก่อน ลำดับเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร

หากฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็น วนเวียน ซ้ำซาก กล่าวหาบุคคลที่ 3 ที่ไม่ได้อยู่ในสภา ส.ส.ฝั่งรัฐบาลคนใดจะอภิปรายและใช้ข้อบังคับการประชุมข้อไหนมาประท้วง

ถามว่าวันนี้ฝั่งรัฐบาลทำหน้าที่เพื่อใคร ก็เพื่อประชาชน ให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หัวใจสำคัญที่ ส.ส.มาอยู่ร่วมกันในพรรค พปชร.นั้น ก็เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯและบริหารประเทศต่อ
ถามว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรัฐมนตรีที่่มาจากพรรค พปชร.ทั้งหมดแต่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ยังต้องมาช่วยก็เพราะเมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาลงเรือลำเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกันมาร่วมกันทำงานแล้ว ทุกคนก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ต้องปกป้องและสนับสนุนให้ฝ่ายรัฐบาลเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปให้ได้ ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของเขา

ทั้งสองฝ่ายก็มาสู้ด้วยข้อมูล หลักฐาน ตามกติกาและข้อบังคับการประชุมฯ ผมก็มีหน้าที่ประสานงานให้การอภิปรายอยู่ในกรอบ สามารถเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการทำหน้าที่ของทีมงานนอกสภาของฝั่งรัฐบาล ที่เป็นอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. ก็ล้วนแต่มีข้อมูลการทำหน้าที่ของรัฐบาลในอดีตมาด้วยกันทั้งนั้น รู้ทันกันหมดว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายในเรื่องใด และจะต้องเอาข้อมูลใดมาตอบโต้และหักล้างข้อกล่าวหา แต่ผมยอมรับว่าการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในปัจจุบันนี้มีความสร้างสรรค์มากขึ้น ขอให้ฝ่ายค้านอย่าไปฟังคนนอกที่จะชี้นำการทำให้การเมืองกลับไปสู่วังวนเดิมๆ พวกอดีตนักการเมืองก็ควรทำหน้าที่แบบผู้ใหญ่สอนเด็ก ไม่ใช่มาดุด่าเด็กแบบไม่มีเหตุผล

⦁นายกฯและรัฐมนตรีทั้ง 6 คนจะชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้หรือ
มั่นใจว่านายกฯ จะชี้แจงการอภิปรายได้ทุกเรื่อง เพราะท่านบริหารประเทศมาตลอด ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ผมก็มั่นใจว่าจะชี้แจงข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด เพราะผมไม่สามารถไปชี้แจงแทนแต่ละท่านได้เพราะไม่ใช่ฝ่ายบริหาร อีกทั้งในส่วนที่กำกับดูแลก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง เนื้อหาในแต่ละกระทรวงก็ต้องให้รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงชี้แจง จึงไม่เข้าใจว่าจะอภิปราย พล.อ.ประวิตร ในข้อกล่าวหาอะไร ถ้าเนื้อหาที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายรัฐบาลชุดปัจจุบันแค่ 20% แล้วอภิปรายย้อนไปถึงรัฐบาลในอดีต 80% ผมก็เห็นว่าควรต้องเปลี่ยนญัตติเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช.มากกว่าหรือไม่ เท่าที่พูดคุยกับวิปฝ่ายค้านก็เห็นตรงกันว่า ฝั่งรัฐบาลยอมได้หากจะอภิปรายย้อนไปในอดีตได้บ้างเพียง 10-20% แต่ไม่ใช่จะอภิปรายย้อนไปในอดีตทั้งหมด

⦁รัฐบาลจะผ่านการอภิปรายได้หรือไม่
ผมมั่นใจว่า นายกฯและรัฐมนตรีทั้งหมด จะผ่านด่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าจะสามารถตอบและชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ เพราะได้ทำงาน มีข้อมูลในการบริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่องถึง 6 ปี ขนาด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2554 ยังสามารถชี้แจงการอภิปรายของฝ่ายค้านในสมัยนั้นได้

ในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งนายกฯ ผมเชื่อว่าท่านมีประสบการณ์มากกว่าผมที่เป็นส.ส.เสียอีก ทำมากับมือ รู้ทุกเรื่อง รู้มากกว่าปลัดกระทรวง หรืออธิบดีของหลายกระทรวงเสียอีก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง หากจะเทียบกับการเรียนผมคิดว่าท่านจบระดับดอกเตอร์ทางการเมืองแล้ว ดีไม่ดีฝ่ายค้านอาจจะถูกนายกฯ สอนมวยกลับก็ได้ ในเรื่องข้อมูลและประสบการณ์ของนายกฯและรัฐมนตรีแต่ละคน ผมมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

⦁การลงมติของพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่
การลงมติในส่วนของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ผมมั่นใจว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเอกภาพ ในเรื่องการชี้แจงการบริหารราชการแผ่นดิน ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนตอบได้หมดและทำให้ ส.ส.เกิดความเข้าใจได้ เสียงช่วงลงมติไว้วางใจจะต้องได้ในระดับที่เท่าๆ กัน แต่อาจจะมีบางข้อกล่าวหาของรัฐมนตรีแต่ละคนตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีแต่ละคนจะต้องชี้แจงให้ ส.ส.เกิดความเข้าใจและหมดข้อสงสัยทุกอย่างก็จะจบ

ส่วนภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่นั้นถือเป็นดุลพินิจการพิจารณาของนายกฯ ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารที่จะคัดเลือก หรือปรับเปลี่ยนบุคคลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าใครมีความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมอย่างไร

https://vdo.matichon.co.th/videos/public/iframe/6bdbf8db8163e70506ae6a3df82531c4/adaptive_hls/

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image