ย้อนรอย‘1เอ็มดีบี’ คดีโกงบันลือโลก

คดี “1 เอ็มดีบี” เป็นคดีคอร์รัปชั่นอื้อฉาวที่สุดของมาเลเซีย แต่เกี่ยวพันเชื่อมโยงไปในหลายประเทศ จนถึงขณะนี้มีอย่างน้อย 10 ประเทศที่กำลังดำเนินคดีในทางหนึ่งทางใดที่เกี่ยวข้องอยู่กับคดีนี้ รวมทั้งคดีที่ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา (ดีโอเจ) โดยพนักงานอัยการของรัฐเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องร้องไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016

เนื่องจากมูลค่าความเสียหายในคดีสูงมาก ถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ บันทึกคดีนี้ในสหรัฐอเมริกาจึงระบุเอาไว้ชัดเจนว่า เป็น “คดีฉ้อฉลทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุด” ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
เป็นที่มาทำให้หลายคนเรียกขานคดีนี้ว่า คดีโกงบันลือโลก นั่นเอง
แล้วก็กลายเป็นประเด็นร้อนในเมืองไทย หลัง น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่อภิปรายนอกสภา กล่าวหา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าอาจมีส่วนพัวพันกับคดี “1MDB”

⦁‘1เอ็มดีบี’คืออะไร?
“1 เอ็มดีบี” (1Malaysia Development Berhad-1MDB) เป็นชื่อกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐใหม่ ซึ่ง ตนกู นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ในเวลานั้น) มีคำสั่งให้จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานจาก กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐซึ่งมีอยู่แต่เดิม เพียงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ปรับโครงสร้างของกองทุนใหม่หมด
เป้าหมายของกองทุนระบุเอาไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศ” ให้สามารถยกระดับรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มจากเดือนละ 12,300 บาท โดยประมาณขึ้นสู่ระดับรายได้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
แม้จะปรับปรุงจากกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐที่มีอยู่แต่เดิม แต่โครงสร้างที่เปลี่ยนไปทำให้ 1 เอ็มดีบี กลายเป็นกิจการของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ มีเงินทุนเริ่มต้นมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีนาจิบ ราซัค ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจเต็มเพียงผู้เดียวในการให้ความเห็นชอบต่อการลงทุนทั้งหลาย นอกเหนือจากนั้นยังเป็นผู้ทรงอำนาจเพียงผู้เดียวในการว่าจ้างหรือปลด ผู้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) และผู้จัดการกองทุนนี้
ตามเอกสารประกอบคดีฟ้องร้องของพนักงานอัยการสหรัฐอเมริกา กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นในเวลาไล่เรี่ยกับการพบหารือระหว่างนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับ เจ้าชายตุรกี บิน อับดุลเลาะห์ พระโอรสลำดับที่ 7 ของพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลลาซิซ กษัตริย์ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียในช่วงระหว่างปี 2005 จนสิ้นพระชนม์ในปี 2015
เจ้าชายตุรกีคือผู้ก่อตั้ง “เปโตรซาอุดี” บริษัทเพื่อการลงทุนในกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับ ทาริค โอเบอิด นักธุรกิจหนุ่มชาวซุอุดีอาระเบีย ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในสหรัฐอเมริกา   มี แพทริค มาโฮนี ทำหน้าที่ผู้อำนวยการบริษัท รับผิดชอบธุรกิจทั้งหมดของเปโตรซาอุดี
ผลจากการหารือธุรกิจระหว่างพักผ่อนบนเรือ “เมกะยอร์ช” ในครั้งนั้น เปโตรซาอุดีตกลงลงทุนดำเนินธุรกิจร่วมกับ 1 เอ็มดีบี โดยเปโตรซาอุดี จะเป็นผู้จัดหาสินทรัพย์ที่เป็นน้ำมันและก๊าซมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ ให้กับกิจการร่วมทุนดังกล่าว โดย 1 เอ็มดีบี เป็นผู้ลงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์
นั่นเป็นการลงทุนครั้งแรกของ 1 เอ็มดีบี ซึ่งกลายเป็นที่มาของข้อกล่าวหาว่า แทนที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกลับกลายเป็นเครื่องในการฉ้อฉลเงินภาษีอากรของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุด

⦁สหรัฐกล่าวหาอะไรต่อนาจิบ?
ตามบันทึกฟ้องร้องดำเนินคดีของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ระบุเอาไว้ว่า มีการฉ้อฉล ยักยอก ยักย้ายถ่ายเทเงิน “อย่างน้อยที่สุด 3,500 ล้านดอลลาร์” จากกองทุน 1 เอ็มดีบี ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนของหลายคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในคดีนี้
ดีโอเจกล่าวหาว่า เงินมหาศาลจำนวนหนึ่งถูกยักย้ายถ่ายโอนผ่านกลไกของไพรเวตแบงกิ้ง และวาณิชธนกิจ ชื่อดังระดับโลก ไปสู่บัญชีจำนวนมากของ “ผู้ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐหมายเลข 1” ซึ่งถูกตีความเข้าใจกันทั่วไปว่า หมายถึงบรรดาญาติๆ และคนใกล้ชิดของนาจิบราซัค ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในเวลานั้น
โดยข้อกล่าวหาระบุด้วยว่ามีการโอนย้ายเงินส่วนหนึ่ง จำนวน 681 ล้านดอลลาร์ ถูกโอนย้ายเข้าสู่บัญชีธนาคารของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียโดยตรง ซึ่งนายนาจิบยืนกรานอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่า เป็นเงิน “บริจาค” จากซาอุดีอาระเบีย ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกองทุน 1 เอ็มดีบี
ดีโอเจยังระบุต่อไปว่า ในเวลาต่อมา นาจิบและครอบครัว สามารถใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้ชีวิตอย่างหรูหราในทั่วทุกมุมโลก และอ้างว่า เงินของกองทุนถูกนำไปใช้ในการจัดซื้ออพาร์ตเมนต์หรูหราในนครแมนฮัตตัน, แมนชั่นในนครลอสแองเจลิส, ภาพจิตรกรรมของจิตรกรระดับโลกอย่างโมเนต์, เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวสำหรับทำธุรกิจ, กระทั่งนำไปใช้เพื่อเป็นทุนอำนวยการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด “เดอะ วูล์ฟ ออฟ วอลสตรีท” ซึ่งคว้ารางวัลลูกโลกทองคำในปี 2013 แต่ไม่ทำเงิน
โดยรวมแล้ว ดีโอเจกล่าวหาว่า การฉ้อฉล ยักย้ายถ่ายเทเงินจาก 1 เอ็มดีบี นั้นเกิดขึ้นแยกจากกันเป็น 3 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก คือ เงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ที่ “แสร้งว่าเป็นการลงทุน” ในกิจการร่วมทุนกับ เปโตรซาอุดี, ส่วนที่สอง คือ เงิน 1,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรของ 1 เอ็มดีบี โดยมีโกลด์แมนแซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งต่อมาถูกกล่าวหาว่า “นำไปใช้โดยไม่เหมาะสม และถูกยักย้ายถ่ายเทเข้าสู่บัญชีของบริษัท ออฟชอร์สัญชาติสวิส ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการนี้หลายบัญชี”
ส่วนสุดท้าย คือ เงินจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโกลด์แมนแซคส์ ระดมทุนจากตลาดโดยตรง และถูกยักย้ายถ่ายเทเข้าสู่บัญชี “ในประเทศสิงคโปร์”
ตามข้อกล่าวหาของดีโอเจ ธุรกรรมผิดกฎหมายทั้งหมดนี้ นาจิบไม่ได้ดำเนินการด้วยตัวเอง บอร์ดและผู้จัดการกองทุนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เกิดขึ้นได้เพราะชายที่ชื่อ “โจ โลว์”

Advertisement

⦁ใครคือ ‘โจ โลว์’
โจ โลว์ เด็กหนุ่มชาวมาเลเซีย อายุ 38 ปี สำเร็จการศึกษาเพียงแค่ระดับมัธยมจาก “แฮร์โรว์ สคูล” โรงเรียนกินนอนผู้ชายล้วนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเพื่อนสนิทของ ริซา อาซิซ บุตรบุญธรรมของนาจิบ   ราซัค ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้าง “เดอะ วูล์ฟ ออฟ วอลสตรีท”
ตามบันทึกสำนวนคดีของดีโอเจ โจ โลว์ ไม่เคยผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ได้ชื่อว่าเป็น “ที่ปรึกษา” ส่วนตัวของนาจิบ ราซัค ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ทั้งใน เปโตรซาอุดี หรือ 1 เอ็มดีบี เป็นคนนิยมใช้ชีวิตหรูหรา ปาร์ตี้บ่อยครั้งกับดาราดังฮอลลีวู้ด จนเคยถูกปาปารัซซี ถ่ายภาพในงานปาร์ตี้ร่วมกับลินเซย์   โลฮาน และปารีส ฮิลตัน
ดีโอเจกล่าวหาว่า โจ โลว์ เป็นตัวการสำคัญในการยักย้ายถ่ายเทเงินจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ จาก         1 เอ็มดีบี เป็นผู้มีอำนาจเต็มในบัญชีธนาคารของบริษัทบังหน้าหลายบริษัท ที่ตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ    ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์, ซีเชลส์ และเวอร์จิน ไอส์แลนด์
รวมทั้งบริษัท กูดสตาร์ จดทะเบียนที่บริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ ซึ่งเป็นบัญชีที่รับเงินจำนวน 700 ล้านดอลลาร์ ส่วนแบ่งจากเงินร่วมลงทุนใน เปโตรซาอุดี 1,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นผู้จัดการโอนเงิน 85 ล้านดอลลาร์ให้กับ นายทาริค โอเบอิด ซึ่งต่อมามีการแบ่งส่วน 33 ล้านดอลลาร์ให้กับ นายแพทริค มาโฮนี
โดยนายโอเบอิดและนายมาโฮนี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของเปโตรซาอุดี ตัดสินใจว่าจ้าง นายชาเบียร์ ฮุสโต นักการเงิน การธนาคารชาวสวิส เชื้อสายสเปน เพื่อนเก่าให้ทำหน้าที่บริหารกิจการร่วมทุน   เปโตรซาอุดีกับ 1 เอ็มดีบี ด้วยเหตุที่รู้จักมักคุ้นกันดี อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จากการว่าจ้างดังกล่าวนี้ โดยฝ่ายนายฮุสโต อ้างว่าถูกเบี้ยวเงินเดือน และค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก และสำนักงานของบริษัทในกรุงลอนดอน
ความแตกแยกเล็กๆ นี่เองที่นำไปสู่การเปิดโปงกรณี 1 เอ็มดีบี ในเวลาต่อมา

⦁‘ฮุสโต’กับการเปิดโปง1เอ็มดีบี
หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ซึ่งได้รับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนายชาเบียร์ ฮุสโต จาก นางลอรา ผู้เป็นภรรยา ระบุว่า ตอนแรกสุดที่สามีของตนขอลาออกนั้น นายมาโฮนีตกลงด้วยดี และยินดีจ่ายเงินทั้งหมด 6 ล้านดอลลาร์ ตอบแทนการทำงานรับใช้เปโตรซาอุดีที่ผ่านมา แต่เมื่อนายโอเบอิดรับรู้ ก็แสดงความกราดเกรี้ยว และยืนกรานชำระเงินให้เพียง 4 ล้านดอลลาร์
ทำให้นายฮุสโตโมโห ยืนกรานขอเงินตามจำนวนที่ตกลงไว้แต่เดิม ไม่เช่นนั้นจะแฉข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของเปโตรซาอุดีทั้งหมด
เมื่อไม่ได้รับคำตอบอย่างที่ต้องการชาเบียร์ ฮุสโต นัดพบ แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวอังกฤษในกรุงลอนดอน น้องสะใภ้ของ กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แคลร์เกิดในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เมื่อครั้งที่ผู้เป็นบิดาไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอาณานิคมมาเลเซียของอังกฤษ
ฮุสโตเรียกเงิน 2 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าข้อมูลขนาด 90 กิกะไบต์ ในฮาร์ดดิสก์พร้อมทั้งอีเมล์ โต้ตอบซึ่งกันและกันรวม 227,000 ฉบับ
แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ไม่มีเงินจำนวนดังกล่าว แต่ต่อมาได้หารือกับ ตง คุ่ยออง อดีตนักการธนาคารที่ผันตัวมาเป็นสื่อและเป็นเจ้าของดิเอดจ์ หนังสือรายสัปดาห์ทางธุรกิจที่ขายดีที่สุดในมาเลเซียกับสื่อธุรกิจรายวันอีกจำนวนหนึ่ง ตง คุ่ยออง ตกลงจ่ายเงินก้อนดังกล่าวและร่วมกับซาราวัค รีพอร์ท เว็บไซต์ของ แคลร์ เปิดโปงเรื่องนี้
ขณะที่กรณี 1 เอ็มดีบี กำลังอื้อฉาวในมาเลเซียเมื่อต้นปี 2015 เนื่องจากขาดทุนสะสมบักโกรกถึง 11,000 ล้านดอลลาร์ ประกอบกับข่าวลือถึงการฉ้อฉลขนานใหญ่กำลังสะพัดอย่างหนักนั้น
ชาเบียร์ ฮุสโต ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย เตรียมลงหลักปักฐาน สร้างกิจการโรงแรมของตนเองที่เกาะสมุย
เขาถูกจับเมื่อ 27 มิถุนายน 2015 ในข้อหากรรโชกทรัพย์จากเปโตรซาอุดี ระหว่างถูกจำขังรอการพิจารณาคดี ลอรา ภรรยาของฮุสโต อ้างว่า แพทริค มาโฮนี นำตัวสกอตแลนด์ยาร์ดมาพบ เกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพเพื่อหาทางไม่ให้ต้องติดคุก จนในที่สุดก็ทำคำสารภาพให้กับคนทั้งสอง แต่กลับถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี
ข้อกล่าวอ้างถึงคำสารภาพดังกล่าว มาโฮนีและเปโตรซาอุดีปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง รวมทั้งไม่มีสกอตแลนด์ยาร์ดรายนั้นอีกด้วย
ฮุสโตพ้นจากเรือนจำกลางคลองเปรมในปี 2016 จากการได้รับพระราชทานอภัยโทษ
เปโตรซาอุดีประกาศให้ความร่วมมือกับการสอบสวนคดีนี้ของทุกประเทศอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดกฎหมายใดๆ
นาจิบ ราซัค พ่ายเลือกตั้งแบบพลิกความคาดหมายในเดือนพฤษภาคม 2018 หลังจากนั้น มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ฟ้องร้องกล่าวหาในฐานะเป็นตัวการสำคัญของคดีคอร์รัปชั่นอื้อฉาวนี้หลายข้อหา
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอยู่ในประเทศมาเลเซีย

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image