บทนำ : รัฐบาลยืนจุดไหน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกฯ ตลอดจนรัฐมนตรี รวม 6 คน ระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ โดยในวันแรก พรรคฝ่ายค้านพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์นายทุน โดยหยิบยกเอาตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงที่รัฐบาลบริหารประเทศ ย้อนกลับไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก่อนการเลือกตั้งที่เติบโต ตัวเลขการจัดลำดับเศรษฐีไทย และตัวเลขการเป็นหนี้สินของคนไทยมานำเสนอ พร้อมกล่าวหาว่ารัฐบาลมีพฤติกรรมเอื้อนายทุน เกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่มาร่วมชี้แจงยืนยันว่า ไม่เคยคิดเอื้อนายทุนแต่อย่างใด และความเหลื่อมล้ำก็ลดความรุนแรงลงเป็นลำดับ โดยหยิบยกเอาตัวเลขที่เป็นผลงานของรัฐบาลมาแสดง

กรณีเศรษฐกิจไม่ดี และความเหลื่อมล้ำหากเป็นไปตามที่รัฐมนตรีชี้แจงในสภา ย่อมหมายความว่าประเทศไทยมีความหวัง ประชาชนคนไทยก็มีความหวัง แต่น่าแปลกว่าประชาชนคนไทยในปัจจุบันกลับไม่ได้รู้สึกว่ามีความหวัง เพราะสิ่งที่พบเห็นอยู่ทุกวี่วันคือปัญหาเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ อาทิ มองเห็นความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชนมีสูงอย่างสัมผัสได้ เมื่อเกิดคดีความขึ้น ยังมีความแตกต่างระหว่างคนมีอำนาจกับคนไร้อำนาจ เช่นเดียวกับการศึกษาที่ให้โอกาสแก่คนที่รวยกับคนที่มีอำนาจมากกว่าคนที่จนและไร้อำนาจ เป็นต้น

ปัญหาเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ความเหลื่อมล้ำมีหรือไม่มีนั้น หากฟังพรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แต่ละฝ่ายย่อมมีข้อมูลพื้นฐานแตกต่างกัน ประชาชนก็เช่นกัน ทุกคนสัมผัสได้ทุกวันโดยคนกลุ่มที่ถูกกระทำ ถูกเอาเปรียบ ย่อมสัมผัสได้ถึงปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ฝ่ายได้เปรียบ เป็นผู้กระทำ ย่อมไม่รู้สึกรู้สาถึงปัญหาดังกล่าว รัฐบาลที่กำลังรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เช่นกัน หากจุดยืนอยู่ฝ่ายผู้กระทำ ย่อมไม่รู้สึกรู้สากับปัญหาดังกล่าว แต่ถ้าไปยืนอยู่ในจุดผู้ถูกกระทำก็จะสัมผัสได้ถึงปัญหา กรณีนี้ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลควรยืนอยู่ ณ จุดใด ยืนอยู่จุดผู้กระทำ หรือยืนอยู่ในจุดผู้ถูกกระทำ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image