สถานีคิดเลขที่ 12 : โจทย์ใหม่ : วรศักดิ์ ประยูรศุข

การยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคขนาดใหญ่อันดับ 3 ในสภาไทย มีคะแนนจากประชาชนถึง 6 ล้านเสียง ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 16 ราย ในจำนวนนี้ มีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรครวมอยู่ด้วย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีหลายแง่มุม รวมถึงเสียง ส.ส.ในสภา ซึ่งเป็นฐานในการคิดโควต้ารัฐมนตรี

ถ้า ส.ส.อนาคตใหม่ ย้ายไปเข้าพรรคที่เตรียมไว้ สืบทอดบทบาทจากพรรคที่ถูกยุบ คงไม่มีเรื่องราวอะไรมาก

แต่ถ้าย้ายไปสังกัดพรรครัฐบาล จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

การเคลื่อนไหวหลังยุบพรรค สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปหมด ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะลงมติกันในวันที่ 28 ก.พ.นี้

หลังจากนั้นจะปิดสมัยประชุม ซึ่งจะมีวาระของการปรับ ครม. โดยอาศัยผลสะเทือนจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

กระแสข่าวทั้งสื่อกระดาษและออนไลน์ เกิดการทวงถามการหมุนเวียนสับเปลี่ยนเก้าอี้ มาเป็นระยะ

Advertisement

จะปรับขนาดไหน อย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

เดิมในขั้วรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.มากสุด รองลงมาคือ ปชป.และภูมิใจไทย

แต่เมื่อเกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นไปตามข่าววันก่อน ที่บอกว่าจะมี ส.ส.ของอนาคตใหม่ 19-20 คนย้ายไปซบ

พรรคภูมิใจไทยจะแซง ปชป.มี ส.ส.มากเป็นอันดับสองทันที

ขณะที่ ปชป. รู้ๆ กันว่า เกิดปัญหาคนไหลออก ยังไม่หยุด

ตัวเลข ส.ส.ภายหลังฝุ่นจาง จะเป็นอีกเหตุสำคัญ ที่จะสร้างแรงกดดันให้เกิดการปรับครม.

ขณะที่แวดวงการเมือง มองสภาพการเมืองระยะนี้ด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่แวดวงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มองไปอีกแบบหนึ่ง

ดังจะเห็นจากการลุกขึ้นพร้อมๆ กันของนักเรียน นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ

เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ทวงความเป็นธรรมและบรรทัดฐานต่างๆ

มีการรวมตัวเป็นกลุ่ม นัดชุมนุมในระยะเวลาสั้นๆ หรือแฟลชม็อบ

นัดแนะกันผ่านระบบสื่อสารสมัยใหม่ แสดงสัญลักษณ์ด้วยการเปิดแสงไฟจากโทรศัพท์

เนื้อหาการแสดงออกของนิสิตนักศึกษาดังกล่าว พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลเป็นหลัก

น่าคิดว่า สภาพของการเมืองขณะนี้ กำลังปลุกให้กลุ่มคนที่ดูเหมือนไม่ค่อยสนใจการเมือง ให้กลับมาติดตามการเมืองอย่างจริงจังอีกครั้ง

ในช่วง 5 ปีก่อนเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจหวาดหวั่นพลังของนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนอย่างมาก

นักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวต้าน คสช. ถูกตามละเอียดยิบ

ออกกฎหมายพิเศษหลายฉบับเอามาใช้เพื่อกดหรือปรามการเคลื่อนไหว และค่อนข้างได้ผล

นั่นคือสิ่งที่เกิดระหว่าง 2557 ถึงก่อน 24 มี.ค.2562

มาถึงรอบนี้ ดูจากกระแสที่ฮือออกมา และวิธีเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไป โดยอิงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่รัฐบาลมีกลไกที่จำกัดมากขึ้น ถือเป็นโจทย์ใหม่

จะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับว่า ผู้มีอำนาจจะมองสถานการณ์นี้ด้วยมุมมองใหม่หรือไม่

วรศักดิ์ ประยูรศุข

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image