‘นักศึกษา’ปฏิกิริยา‘ไม่ทน’ อย่าดูเบากระแส‘พลังเงียบ’

‘นักศึกษา’ปฏิกิริยา‘ไม่ทน’ อย่าดูเบากระแส‘พลังเงียบ’

‘นักศึกษา’ปฏิกิริยา‘ไม่ทน’ อย่าดูเบากระแส‘พลังเงียบ’

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการอธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลายสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยในขณะนี้

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การรวมตัวของนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศเป็นผลมาจากความรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น วันนี้ก็คงมีแค่นี้ไปก่อน แต่ในอนาคตจะมีการชุมนุมมากขึ้นหรือน้อยลงก็ต้องขึ้นอยู่กับบทบาทของสังคมต่อไป ถ้าสังคมแสดงให้เห็นว่ามีความอยุติธรรมเพิ่มขึ้นอีก ความรู้สึกจากการมีส่วนร่วมในการแสดงออกก็จะเพิ่มขึ้น และต้องดูว่ามีผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลายจะสนใจลดปรอทหรือจะเร่งอุณหภูมิ สำหรับนายกรัฐมนตรีก็ไม่ควรมองเฉพาะเรื่องการชุมนุมว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผิดประเด็น เพราะการชุมนุมเป็นการแสดงออก

Advertisement

ถ้าเกิดปรากฏการณ์อะไรที่นักศึกษานักเรียนเห็นว่าไม่ยุติธรรมเพิ่มขึ้นอีก หรือการแสดงออกที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองที่มีอำนาจรัฐรู้สึกอะไร ก็เหมือนเป็นการเร่งไฟหรือเติมเชื้อ ถ้าสร้างปัญหาแบบเดิมอีกการชุมนุมคงไม่จบ ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมประท้วง แต่เป็นการแสดงออกจากอาการหมดความอดทน ดังนั้น ผู้มีอำนาจรัฐควรไปให้ถูกทาง ถ้าเทียบกับการชุมนุมของนักศึกษาในอดีต เชื่อว่ายังไม่บานปลายถึงขนาดนั้น เพราะการเคลื่อนไหวตุลาฯ 2516 ปัญหาการเมืองสะสมมาตั้งแต่ปี 2500 แต่ครั้งนี้เริ่มจากปี 2557 หลังการรัฐประหาร

นักการเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการรวมตัวของนักศึกษา เพราะจะถูกมองด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เหมือนมีการเมืองเข้าไปปั่นให้มีกระแส ส่วนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่สำเร็จในอดีตคือความบริสุทธิ์ ปราศจากการเข้ามายุ่งเกี่ยวของนักการเมือง การที่นักศึกษาออกมาครั้งนี้ ส่วนตัวไม่เชื่อว่ามาจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่ถ้าสังคมยังมีสภาพแบบนี้บ่อยๆ นักศึกษาจะออกมาเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นนายธนาธร

แม้แต่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ยังมีความเห็นที่เชื่อว่า ไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ที่โดนวินิจฉัย (กรณียุบพรรคอนาคตใหม่) มีแถลงการณ์ชี้ให้เห็นเหตุผลถึงความไม่ยุติธรรม การรวมตัวของนักศึกษา การออกแถลงการณ์ของนักวิชาการเหมือนเป็นการส่งสัญญาณ ถ้ากระบวนการต่างๆ ยังหยั่งไม่ถึงความคิดนี้ หรือเดินหน้าตามแนวทางเดิม เชื่อว่าการชุมนุมจะใหญ่และกระจายขึ้นแน่ๆ แล้วไม่ต้องถามว่านโยบายปรองดองสมานฉันท์ได้ผลเป็นอย่างไร เพราะวันนี้สังคมแตกแยกมากขึ้น กลายเป็นการแบ่งขั้วชังชาติ แต่ความจริงคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเพราะชังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้มากกว่า

Advertisement

ถ้ารัฐบาลจะหาทางออกเรื่องนี้ก็แค่รักษาความเป็นธรรมให้คนรู้สึกได้ว่ามีอยู่จริง แต่ถ้ากลไกการใช้กฎหมายยังบิดเบี้ยวแบบเดิมๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ปัญหาจะไม่จบ ส่วนคนชั้นกลางขณะนี้ยังสงบนิ่งอาจเพราะยังเข็ดหลาบกับเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นการชุมนุมคงจะสร้างปัญหาได้มากกว่านี้

โดยสภาพของสังคมไทยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่มีใครในประเทศอยากให้มีสถานการณ์ความรุนแรงอีก ที่สำคัญผู้มีอำนาจควรสนใจฟังเสียงของประชาชน อย่ามั่วสุมอยู่เฉพาะในกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนตัวเอง มองคนเห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามไปทั้งหมด

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การรวมตัวของนักศึกษาทั่วประเทศอาจจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองได้ฉับพลัน แต่ทำให้สังคมเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมือง สนใจประชาธิปไตย เชื่อว่าจะมีผลไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับจากนี้ไป ก็น่าจะต้องคำนึงถึงเสียงของคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าจะให้การชุมนุมครั้งนี้มีผลกับการพิจารณาคดีของพรรคการเมืองบางพรรค มีความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ เชื่อว่าคงไม่มี เพราะมีข้อยุติแล้ว ที่สำคัญการเคลื่อนไหวก็ไม่ควรทำกิจกรรมในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาล เพราะมีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งผู้ชุมนุมคงทราบดี ดังนั้น การแสดงออกเพียงการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยก็สามารถทำได้ แม้ว่ามีบางพรรคพยายามปั่นกระแสว่าอาจมีการกลั่นแกล้งทางการเมือง ขณะที่การยื่นฟ้องคดียุบพรรคมาจากบุคคลภายนอกไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลโดยตรง

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีบางพรรคการเมืองเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ดังนั้น การออกมาแสดงจุดยืนก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา และประเมินยากว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ หรืออาจจะออกมาแสดงจุดยืนแล้วจบ ถ้าการชุมนุมจะไปยาวมากกว่านี้ก็ไม่ทราบว่าจะใช้เหตุผลอะไร เพราะอย่างน้อยทุกการชุมนุมจะต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ส่วนการใช้กฎหมายการชุมนุมเบื้องต้นนักศึกษายังไม่ได้ทำความผิด รัฐบาลก็ต้องใจกว้าง อย่าพยายามทำอะไรเพื่อกดดัน

ต้องมองในแง่ดีว่า คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น พรรคการเมืองที่ยังทำงานด้วยวิธีการเดิมก็คงจะลำบาก การใช้อำนาจตามอำเภอใจก็คงจะยากขึ้น เพราะเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติช่วยกันจับตามองอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่จะมองว่าเป็นเด็กที่ถูกยุยงปลุกปั่น หรือตามกันไปตามกระแส และรัฐบาลต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้มีความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้พื้นที่ในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่

หากย้อนอดีตจะเห็นว่ามีเพียงนักศึกษากลุ่มเดียวเท่านั้นที่ตื่นตัวทางการเมือง ขณะที่สื่อกระแสหลักในยุคก่อนถูกปิดกั้นจากผู้มีอำนาจ แต่การเคลื่อนไหวขณะนี้ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการปลุกผ่านกระแสจากโซเชียล ทำให้การขยายแนวคิดทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการชุมนุมในระยะสั้นหรือระยะยาว หากจะบอกว่ามีการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมหรือไม่ที่เป็นสาเหตุหลัก ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่ต้องมองภาพรวมของกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง ที่ถูกมองว่ายังไม่เป็นสากล รวมทั้งพฤติกรรมของพรรคการเมืองยังมีนายทุนเจ้าของพรรค แต่ถ้าจะดีขึ้นในอนาคตทุกบริบทของกฎหมาย การนำไปใช้ตีความต้องประสานสอดคล้องกันทั้งหมด

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ เชื่อว่านักศึกษาจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และนับจากนี้ไปไม่ว่านักศึกษาจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ดี ผู้มีอำนาจอย่ามองว่าประเทศนี้จำเป็นต้องอยู่ในภาวะแบบนี้ต่อไปอีก 5-10 ปี หรืออาจจะอ้างเพราะห่วงอนาคตของกลุ่มตัวเอง และเมื่อเห็นพลังของคนรุ่นใหม่แล้วก็ควรคิดใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ประกาศว่าสามารถดูแลอนาคตของตัวเองได้ ก็ควรเปิดโอกาสหรือมีพื้นที่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ทางการเมือง

รศ.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

สิ่งที่นักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ออกมาสื่อสารกับสังคมเช่นนี้ ถือเป็นการแสดงความมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อยืนยันว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจแต่เรื่องบันเทิง แต่มีความคิด มีจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ไม่ได้ถูกล้างสมอง คิดเอง เป็นตัวของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความกล้าหาญที่จะออกมาเตือนรัฐบาลและองค์กรอิสระว่าให้เห็นหัวประชาชนบ้าง เขากำลังจะบอกว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลกำลังคิดว่าตัวเองมีอำนาจ แล้วจะใช้อำนาจนั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเอง

ถ้าจะให้เทียบก็คล้ายกับจุดเริ่มต้น 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเริ่มต้นจากรัฐบาลใช้อำนาจอย่างย่ามใจ ยึดอำนาจตัวเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ เอาพวกพ้องตัวเองขึ้นมาบริหารประเทศ ไม่เห็นหัวประชาชน เย้ยกฎหมาย ล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนโดยไม่มีความผิดใดๆ เหมือนจะทำอะไรก็ได้ในบ้านเมืองนี้เพราะมีอำนาจ ซึ่งปรากฏการณ์ของการยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) คล้ายๆ กับเหตุการณ์นี้ เสมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังคาที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มองรัฐบาลชุดนี้มายาวนานว่าฝ่ายที่อยู่ข้างรัฐบาลทำอะไรไม่เคยผิด ทั้งจัดโต๊ะจีน ยืมนาฬิกาเพื่อน รุกที่ป่าสงวน ถือหุ้นสื่อ แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มของซีกข้างอนาคตใหม่ ซีกที่สนับสนุนประชาธิปไตยทำอะไรก็ผิด

สิ่งที่ผู้มีอำนาจทำอยู่ตอนนี้คือการใช้กฎหมายที่กลุ่มตัวเองร่างขึ้นมา ใช้องค์กรอิสระที่ตัวเองตั้งมาเล่นงานพรรคการเมืองที่เป็นปากเป็นเสียงให้คนรุ่นใหม่ นี่คือจุดที่คนรุ่นใหม่ออกมาเพราะถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความอดทนกับหลายๆ เรื่อง สุดท้ายเมื่อยุบพรรคการเมืองที่เขาเลือก อีกทั้งเป็นปากเป็นเสียงให้เขา โดยที่ถ้าใช้ความคิดของคนทั่วๆ ไป เหตุผลในการยุบดังกล่าวนั้นแทบไม่มีเลย แต่โดยกระบวนการทางกฎหมายและกลุ่มองค์กรอิสระสามารถทำให้พวกคนเหล่านี้ หรือกลุ่มอนาคตใหม่ผิดได้

เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ไม่ทนกับเรื่องนี้แล้ว จึงออกมาแสดงตัวตนเพื่อปกป้องพรรคการเมืองของเขา พร้อมประกาศชัดเจนว่าพรรค อนค.คือตัวแทนของเขา ที่สำคัญคือโดยสามัญสำนึกแล้วพรรค อนค.ก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่อยู่คนละซีกกับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

ถ้าเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนให้เราได้ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า 14 ต.ค.16 ก็ไม่มีใครเชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่ ทั้งนิสิต นักศึกษา นักเรียนจะสามารถโค่นล้มเผด็จการที่มีอำนาจสูงสุดได้ จึงน่ามองต่อไปว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ น่าจะพยายามเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้องให้สังคมต่อไป น่าจะเป็นพลังที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้

บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาเองก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะยุคสมัยนี้มีกฎหมายจำนวนมากที่ห้ามการชุมนุมโดยไม่แจ้งหรืออื่นๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินการทางกฎหมาย เขาจึงพยายามใช้วิธีชาญฉลาดในการไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยพยายามสื่อสารในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก พยายามทำให้ตัวเองต่อสู้โดยที่ไม่ถูกจับกุมคุมขังไปเสียก่อน ดังนั้น หากรัฐบาลยังพยายามรุกไล่โดยการจับกุมคุมขัง หรือพยายามใช้อำนาจเด็ดขาดในการจัดการกับคนรุ่นใหม่ รัฐบาลจะขาดความชอบธรรมในสายตาประชาชนทั้งประเทศ

สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ คือการพยายามห้ามหรือยุติการแสดงออกตรงหนี้ รวมทั้งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมตัวนักศึกษาในการแสดงออกทางการเมือง ใช้กฎหมายมาดำเนินคดี นี่ยิ่งเป็นไฟที่โยนเข้าไปให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดพลังและเขาลุกขึ้นมาต้าน เราเคยเห็นหลายเรื่องแล้วที่รัฐบาลบอกว่าทำไม่ได้ อย่าดู อย่าแชร์ ผลก็คือยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ซึ่งเขาก็ชัดเจนในจุดยืนที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคม

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือหันกลับมามองตัวเองว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้นทำโดยลุแก่อำนาจ ไม่ได้ใช้กติกาประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ การที่รัฐบาลมองว่าสิ่งที่นักเรียน นักศึกษาออกมาเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่พยายามชี้แจงหรือแก้ไข ปรับปรุงอะไร เราอาจได้เห็นจุดจบที่เกินความคาดหมายได้

หากรัฐบาลบอกว่าเป็นรัฐบาล 4.0 ย่อมต้องเห็นแฮชแท็กของนักศึกษาแต่ละสถาบันที่ออกมาว่าเขาได้แสดงจุดยืนทางความคิดที่เขาต้องการอะไร และไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นยุคมืด ดังนั้น รัฐบาลจะบอกว่าเป็นเรื่องเล็กแล้วพยายามปิดกั้นจึงเป็นเรื่องอันตราย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image