ปชป.ยังไม่แถลงจุดยืนพรรค ชี้ ร่างรธน. มีจุดเด่น-ยอมรับได้ แต่ควรแก้บางส่วน

ปชป. เชื่อ ร่างรธน.เข้มเรื่องปราบโกงแก้ปัญหาในอดีตได้ ชี้ “นายกฯคนนอก” ไม่แก้วิกฤต-ไม่เป็นกลาง เหตุมาจากพรรคการเมืองเสนอชื่อ จี้ ทบทวนระบบลต.บัตรใบเดียว ยัน ทำซื้อเสียงพ่วง-ไม่ตอบโจทย์ปชช. ข้องใจ ม.24 ผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ก่อนถวายสัตย์ได้หรือ? เผย เตรียมถกเนื้อหาก่อนส่งกรธ.สัปดาห์นี้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 มกราคม ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป. แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ตนได้พิจารณาทั้งหมดแล้วพบว่า มีทั้งส่วนดี ยอมรับได้ และมีส่วนที่ควรแก้ไขหรือเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด ประเด็นสำคัญที่ยอมรับได้คือ มีระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการบัญญัติการเข้าสู่อำนาจรัฐ การใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถือเป็นจุดเด่นที่ตนยอมรับได้ และน่าจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังมีความพยายามป้องกันในการใช้เสียงข้างมากลากไป และการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบธรรมจนทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองเหมือนในอดีต รวมถึงการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินกลางคลัง ถือเป็นสาระสำคัญที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งนี้ในมาตรา 241 ที่บัญญัติให้ 3 องค์กรอิสระ ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ร่วมกันยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเงินการคลังของรัฐนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เห็นว่าไม่เห็นควรให้ 3 องค์กรนี้ประชุมร่วมกัน แต่หากองค์กรใดพบเห็นสิ่งผิดวินัยการเงิน ก็ให้องค์กรนั้นเสนอเรื่องยับยั้งได้ทันที

รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวต่อว่า ส่วนที่เรื่องที่ควรปรับแก้ไขหรือเพิ่มเติม คือ เรื่องการศึกษา รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 กำหนดประชาชนต้องได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขั้นพื้นฐานคือ 9 ปี ดังนั้นจังเห็นว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ควรปรับแก้ให้เป็น 12 ปี เหมือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากพบว่า การพัฒนาการเด็กให้คุณภาพในอนาคต รัฐต้องดำเนินการจัดการศึกษาและดูแลเด็กก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรมีมาตรการใดๆ เพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นรัฐอาจจะพยายามหาทางหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงเรื่องสิทธิชุมชนยังมีความไม่ชัดเจน อยากให้กรธ.ไปพิจารณาในส่วนนี้ด้วย

นายองอาจ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีความพยายามบัญญัติให้รองประธานสภาฯ มาจากฝ่ายค้านหนึ่งคน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลใน แต่ปรากฏว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ไม่ได้มีการบัญญัติในเรื่องนี้ไว้ จึงอาจทำให้ดุลยภาพของการทำงานในสภาฯ กลับไปเป็นอย่างเดิม คือ พรรคเสียงข้างมากอาจไม่ดำเนินการในฐานะประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง นอกจากนี้เรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่มีการบัญญัติเรื่องการตั้งกระทู้สด กรธ.อาจระบุว่าจะนำไปไว้ในกฎหมายลูกหรือข้อบังคับการประชุม แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าประเด็นนี้จะถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายลูกหรือข้อบังคับ ทั้งที่กระทู้สดเป็นกระบวนการสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล จึงขอความชัดเจนจากกรธ.ในเรื่องนี้ด้วย

Advertisement

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ในเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ตนนำมาพูดนี้ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของนักการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่การรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ 3 ชื่อ ซึ่งจะเป็นส.ส. หรือไม่เป็นก็ได้ เรื่องนี้สิ่งตนเห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไข เพราะที่ผ่านมาแนวคิดนี้เกิดจากเหตุการณ์หลังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามา เนื่องจากเห็นว่ามีนายกฯคนนอกควรมีไว้เพื่อแก้วิกฤต แต่เวลานี้ไม่ใช่เหตุผลเดิมที่เห็นว่า ควรต้องมีนายกฯคนนอกเพื่อแก้วิกฤต ที่สำคัญคนที่จะเป็นนายกฯ ไม่ใช่นายกฯคนกลางแน่นอน เพราะบุคคลต้องถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง จึงไม่ใช่นายกฯ คนกลางหรือนายกฯคนนอกเพื่อแก้วิกฤตแต่อย่างใด ดังนั้นต้องยอมรับความจริงว่า การที่เราต้องมีนายกฯ ที่มาจาก ส.ส.ก็เพื่อหลักประชาธิปไตยและยึดโยงกับประชาชน โดยหลักการประชาธิปไตยถ้าเรามีนายกฯ ที่มาจาก ส.ส.ได้ ก็สามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ถ้ากรธ.ยังเห็นว่า นายกฯ คนนอกมีความจำเป็นและสำคัญ ก็ต้องชี้แจงกับประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีนายกฯ คนนอกว่าคืออะไร

รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวต่อว่า ในส่วนของระบบเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น ตนเห็นว่า น่าจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่า เพราะมีโอกาสทำให้เกิดการซื้อเสียงมีมากขึ้น โดยเป็นการซื้อเสียงแบบพ่วง และประชาชนไม่สามารถแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนและแท้จริงในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของของตนเองได้ นอกจากนั้น ขอตั้งข้อสังเกตในมาตรา 24 ของหมวดที่ 2 โดยตนติดใจในวรรคสอง ที่ระบุว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ ปฏิญาณ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้ อยากถามว่า กรธ.มีเหตุผลอย่างไรจึงบัญญัติไว้เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต้องถวายสัตย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงขอฝากไปยัง กรธ. ว่าการปรับแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ 1. การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจรัฐ 2. ควรมีการกำหนดกลไกการใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม โดยเฉพาะรัฐบาล 3.การสร้างกลไกระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง และ 4. การสร้างกลไกถ่วงดุลของฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

“ส่วนพรรคปชป. จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไกลเกินไปที่จะตอบ เพราะอยู่ในช่วงของการพิจารณาเนื้อหาสาระว่า ควรแก้ไขในส่วนใดบ้าง จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนสนใจเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด สำหรับกรณีที่นายมีชัยระบุว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน จะมีรัฐธรรมนูญที่โหดกว่านี้นั้น ผมเห็นในฐานะประธานกรธ. ควรมีท่าทีที่เหมาะสมมากกว่านี้ เพราะการออกมาข่มขู่หรือชี้นำ จะทำให้เกิดปัญหาต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรธ.ต้องสร้างความเข้าใจให้สังคมมากที่สุด ผมหวังว่าจะไม่เห็นกรธ.ท่านอื่นๆออกมาชี้นำหรือข่มขู่ในลักษณะนี้อีก อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้พรรคประชาธิปัตย์จะมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรวบรวมความคิดเห็นเสนอไปยัง กรธ.ต่อไป แต่ถือว่าไม่ใช่มติพรรค หรือข้อเสนอที่ชอบด้วยกฎหมายของพรรค เพราะยังเปิดประชุมไม่ได้ แต่ถือว่าเป็นความคิดเห็นของส่วนใหญ่ในพรรค” นายองอาจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image