จับ‘แรงกระเพื่อม’หลัง‘ศึกซักฟอก’ ‘บิ๊กตู่’ปรับครม.?

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการภายหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต่อการตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการรัฐศาสตร์

การอภิปรายครั้งนี้ต้องยกย่องพรรคการเมืองซีกรัฐบาลสามารถผนึกกำลังได้แน่นมาก ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรคที่ถูกมองว่าเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือมีงาน สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีคะแนนโหวตต่ำสุด หลังโดนอภิปรายหลายเรื่องที่มีข้อเท็จจริงปรากฏ แต่คะแนนที่ได้น้อยเนื่องจาก ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่ยกมือให้เหมือนรัฐมนตรีรายอื่น ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลก็ยังให้การสนับสนุน โดยไม่ได้วิตกว่าหากส่งเสริมคนที่มีประวัติด่างพร้อยจะมีผลกระทบถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่สำคัญหลังการอภิปรายประชาชนในสังคมหรือสื่อมวลชนส่วนใหญ่จะให้ความเชื่อถือต่อไปหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า รวมถึงการวิจารณ์ผ่านสังคมโซเชียลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้น ต้องดูด้วยว่าการเปิดแผล ร.อ.ธรรมนัสครั้งนี้จะเป็นปัญหาหรือข้อสงสัยให้ต่างประเทศหยิบมาโจมตีอีกหรือไม่

Advertisement

กรณี ร.อ.ธรรมนัส เชื่อว่ายังไม่น่าจะมีปัญหากับตำแหน่งทางการเมือง เพราะก่อนยกมือประธานวิปคงคุยกับพรรคร่วมไว้แล้ว เพื่อตกลงว่าคะแนนจะไม่แตกต่างกันมาก และผลออกมาก็เห็นชัดเจนว่าไม่มีแตกแถวโดยพรรคร่วมไม่ได้คำนึงอนาคตทางการเมืองพรรคตัวเองหรือสนใจความรู้สึกของประชาชน หลังจากนี้ผู้นำรัฐบาลอาจให้ ร.อ.ธรรมนัสอยู่นิ่งๆ ไปก่อนเพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะอย่าลืมว่าอีกไม่นานจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายประเภท โอกาสที่แกนนำรัฐบาลจะมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัสไปทำงานการเมืองเพื่อสนับสนุนนักการเมืองท้องถิ่นของพรรครัฐบาลในพื้นที่ภาคเหนือยังมีสูงมาก เพราะเชื่อมั่นในฝีมือการทำงานทั้งบนดินใต้ดิน แถมเป็นคนโปรดของนายกรัฐมนตรี หรือมองมุมกลับหากมองว่า         ร.อ.ธรรมนัสเป็นจุดอ่อนหรืออาจมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมกว่า ผู้นำก็อาจตัดสินใจปลดออกจากรัฐมนตรีเพื่อลดความกดดันของสังคม

สำหรับ 17 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาบอกว่าจะไม่โหวตให้ แต่ขัดกับมติพรรคไม่ได้ เชื่อว่าหากตั้งใจโหวตแหกมติพรรคเพราะเชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนไม่ดี มีมูลตามที่ถูกกล่าวหา ก็สามารถทำได้ตามเอกสิทธิ์ของ ส.ส. เพราะรู้อยู่แล้วว่าโหวตยังไง ร.อ.ธรรมนัสก็ยังสอบผ่าน ส่วนตัวเชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสยังมีความมั่นใจตัวเองสูง เพราะยังกล้าพูดว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในประเทศไทย และการอภิปรายครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้เจาะลึก ร.อ.ธรรมนัสทำให้เป็นเหตุน่าสงสัยพอสมควร

Advertisement

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ในกรณีของ ร.อ.ธรรมนัสถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 5 คน มีเสียงเกิน 170 ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อ ร.อ.ธรรมนัสได้คะแนนน้อยที่สุด อาจเป็นเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับประเด็นที่ ร.อ.ธรรมนัสตอบในสภา แม้มีการพูดถึงกันมายาวนานทั้งในและนอกสภา ก็ยังสะท้อนภาพให้เห็นว่ายังมี ส.ส.อีกส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าการตอบยังไม่ชัดเจน หากดูรัฐมนตรีทั้งหมดที่ถูกอภิปราย เช่น กลุ่ม 3 ป.ก็ต้องอยู่ใน ครม.ต่อไป รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ต้องทำหน้าที่เนติบริกร ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศที่มาจากคำเชิญของนายกรัฐมนตรีก็จะไม่ถูกปรับออก

สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส แม้จะเป็นมือประสานของรัฐบาล เพื่อเชื่อมโยงพรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งต่อไปอาจทำหน้าที่เดิมได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ถ้ามีการพูดคุยกันอย่างลงตัว เชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสอาจถูกปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ขณะที่การเมืองนอกสภาหลายอย่างที่เป็นประเด็นการอภิปราย ทำให้สังคมมีข้อสงสัยหลายเรื่องทั้งคดีที่ออสเตรเลีย วุฒิการศึกษา ก็มีความเป็นไปได้จากการนำไปขยายผล ทำให้ส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาล ถือเป็นโจทย์ใหญ่ เป็นงานหนักที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องเผชิญทั้งเกมในสภาและนอกสภา เพราะอย่าลืมว่าวันนี้มีการทำกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษาอย่างต่อเนื่องก็อาจจะหยิบยกประเด็นเหล่านี้ไปใช้เป็นประเด็น

หากประเมินว่า ร.อ.ธรรมนัสอาจจะมีการแสดงสปิริต ไม่เป็นสายล่อฟ้าให้ถูกโจมตี แต่การตัดสินใจคงจะต้องผ่านการพูดคุยกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลก่อน เพราะรักษาภาพใหญ่ของรัฐบาลให้ไปต่อได้ ดังนั้นการแสดงสปิริตมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้เพราะนายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าจะไม่มีการปรับ ครม.หลังการอภิปราย เพราะระยะการทำงานของรัฐบาลก็ยังไม่ครบ 1 ปี

ที่สำคัญปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่มีหลายมุ้ง อาจมีผลกระทบถึง ร.อ.ธรรมนัส มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะคนในพรรคยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด วันนี้แม้ว่าจะเห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลที่ชัดเจนจากคณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภาที่มีเกิน 270 เสียงสะท้อนความมีเอกภาพ แต่อย่าลืมว่าภายในพรรคพลังประชารัฐอาจมีรอยปริร้าวเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะหลายกลุ่มยังมีการเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มสามมิตรที่ได้โควต้ารัฐมนตรีไม่สมดุลกับจำนวน ส.ส.ในสังกัด หรือกลุ่มของประธานวิปรัฐบาล มีท่าทีที่ไม่น่าจะไปกันได้ดีกับ ร.อ.ธรรมนัสเพราะฉะนั้นสถานะของ ร.อ.ธรรมนัสส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากแรงกระเพื่อมภายในพรรค

ขณะที่ประเด็น 17 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงความไม่พอใจออกมาบอกว่าไม่ต้องการยกมือให้ แต่มีปัญหาจากมติพรรค แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ก็เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้น พรรคนี้จะมีลักษณะ 2 แนวทางที่ส่วนหนึ่งต้องการร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างผลงาน ต้องมีการฟื้นภาพลักษณ์ และมีอีกส่วนก็มีการแสดงออกว่าไม่ยอมรับในสิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมด เหตุผลนี้จึงเห็นความเคลื่อนไหวของพรรคนี้ตลอดเวลาทั้งหัวหน้าพรรคไปทานข้าวกับนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ลูกพรรคบางคนออกมาวิจารณ์รัฐบาลรายวัน โดยเฉพาะหลังการอภิปรายยังบอกว่า ร.อ.ธรรมนัสเป็นสายล่อฟ้า จึงสะท้อนให้เห็นกลยุทธ์และความเก๋าเกมของพรรคประชาธิปัตย์ แต่วันนี้อำนาจต่อรองของพรรคลดลงไปหลังจาก ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ 9 คนจะไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

หากจะคำนึงถึงผลกระทบจากมารยาททางการเมือง จะต้องดูความมีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาวะรัฐบาลผสม ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องคำนึงว่าการวิจารณ์รัฐบาลในขณะที่การเมืองนอกสภาทวีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

กรณีกลุ่ม 17 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงจุดยืนไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่แพ้มติพรรคว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า 17 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หยั่งกระแสจากภายนอกในชุมชนออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยติดตามในช่วงระหว่างการถ่ายทอดสดซึ่งมีทั้งเสียงบ่น เสียงนินทา หรือการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปยังตัวหลักสำคัญที่ถูกอภิปรายอย่าง        คุณธรรมนัสซึ่งไม่สามารถชี้แจงให้สังคมลดความคลางแคลงใจได้ ประชาธิปัตย์ก็มองว่านี่อาจจะเป็นบทบาทหนึ่ง ในสถานะที่ประชาธิปัตย์อยู่ในสถานการณ์ที่ทิศทางยังสะเปะสะปะอยู่ ฉะนั้น อิสระในการออกเสียง ในการแสดงความรู้สึก จึงออกมาในลักษณะที่หัวหน้าพรรคไม่สามารถก้าวก่ายได้

“จริงอยู่ว่ามติพรรคกดดันให้รับรองและยกมือไปก่อน แต่ประชาธิปัตย์ก็ฉวยโอกาสจากจุดนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้จะยกมือ แต่ความรู้สึกของเขาไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับต่อการตอบ อธิบาย หรือการชี้แจงในสภาของ ร.อ.ธรรมนัส ดังนั้น แรงกดดันนี้จะเป็นการสร้างแรงกดดันพุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาปรับเปลี่ยน ครม.หรือ ตัดสินใจว่าตัว ร.อ.ธรรมนัสควรจะอยู่ต่อในในรัฐบาลนี้หรือไม่”

ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเกี่ยวพันกับภาพพจน์ของรัฐมนตรีในรอบนี้อย่างมาก ซึ่งต้องยอมรับว่ารอบนี้พรรคพลังประชารัฐเน้นเรื่องกลยุทธ์ในการยื้อ และผลาญเวลาจนหมดไป ส่วนตัวจึงไม่อยากให้ไปพิจารณาว่าฝ่ายค้านซัดกันเองเรื่องการอภิปรายเกินเวลา เพราะความจริงแล้วระยะเวลายังมีอยู่เนื่ิองจากยังไม่เกินเที่ยงคืน จึงมีเวลาที่จะให้อภิปรายได้อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง

“ตัวหลักสำคัญอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังถูกอภิปรายไม่เสร็จสิ้น เมื่อสอดรับข้อมูลที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตรนอกสภา ส่วนตัวคนอีกหลายคนและสังคมก็เชื่อเหลือเกินว่า พล.อ.ประวิตรไม่สามารถชี้แจงอะไรได้เลยในสิ่งที่นายรังสิมันต์อภิปราย เท่ากับว่าเนื้อหาที่นายรังสิมันต์จัดมาอภิปรายนั้นมีน้ำหนัก แน่นอนว่าตรงนี้ทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดว่าวิปฝ่ายค้านกับวิปฝ่ายรัฐบาลสมคบคิดกันเพื่อให้นำไปสู่การผลาญเวลาตรงนี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้บุคคลสำคัญในอนาคตใหม่อภิปรายเพราะมีข้อมูลเด็ด มีหลักฐาน หรือทราบว่ามีข้อสอบรั่วออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อประชาชนที่มีต่อการอภิปรายไม่วางใจ และรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากภาพพจน์ต่างๆ ทำให้คนเกิดการตั้งคำถามขึ้นมากกว่าแต่ก่อน

ดังนั้น อย่าไปสนใจเรื่องตัวเลข ควรสนใจผลลัพธ์หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า ว่าใครจะเอาหลักฐาน บาดแผล และผลการอภิปรายมาขยายต่อ จะตรวจสอบกันอย่างไร ตรงนี้น่าสนใจมากกว่า”

ในระยะนี้ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะยังไม่ปรับ ครม. และอาจจะยื้อไปจนครบ 1 ปี หรือประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนก่อน แน่นอนว่าจะต้องมีการนำไปสู่การปรับ ครม.อยู่แล้ว เนื่องจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภา รัฐมนตรีบางคนอย่าง ร.อ.ธรรมนัสก็ไม่สามารถชี้แจงได้ อีกทั้งข้อมูลที่ฝ่ายค้านอภิปรายหลายประเด็นในรอบนี้น่าสนใจ ทำให้สังคมได้ตื่นรู้ เช่น ประเด็นไอโอ หรือการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ฟาดลงไปกลางสภา พล.อ.ประยุทธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับมือและชี้แจงให้สังคมรับทราบอย่างเร็วพลัน

ส่วนฝ่ายค้าน คงจะต้องมีการพูดคุยปรับความเข้าใจกันใหม่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งราวปลายปีนี้ รู้สึกว่าเยียวยาความรู้สึกกันได้ ชั่วโมงการอภิปรายก็ต้องคืนให้อนาคตใหม่มีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ อาจจะทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้น เพราะจำนวน ส.ส.ฝ่ายค้านก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ การทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนจะร่อยหรอลงไปทุกขณะ หากยังเล่นเกมแย่งชิงกันนำบทบาทในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าใครมีเนื้อหาน่าสนใจมากกว่ากัน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image