สถานีคิดเลขที่ 12 : ทำให้‘ด้อยค่า’

คีย์เวิร์ด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงการเคลื่อนไหวของ นิสิตนักศึกษา
คือ
1) รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจถูกชักชวน ฟังความข้างเดียว
2) ขอให้นักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ช่วยฟังข้อมูลของรัฐบาลที่ได้แถลงออกไป
3) กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ขู่ หลายๆ อย่างถูกดำเนินการอยู่ในคดีความทั้งหมด
4) สิ่งที่ห่วงคือ ห่วงอนาคตของคนเหล่านี้มากกว่า ไม่ได้โกรธเด็กๆ หลานๆ ลูกๆ เลย
5) มีการนำเรื่องหมิ่นสถาบันเข้าไปขับเคลื่อนด้วย อย่าทำโดยเด็ดขาด ถ้าไปสู่ตรงนั้นจะเกิดเรื่องขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์อาจจะลืมไปว่า นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่อายุ 18-20 ปี ใกล้หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว
และในจำนวนหลายๆ คนนั้น มีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้ว
เขาจึงมีวิจารณญาณ มีวุฒิภาวะ ในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างเต็มเปี่ยม
รักและหวงแหนใน “สิทธิ” ที่มีและได้ใช้ไป
ดังนั้น การมา “ด้อยค่า” พวกเขาลงว่า เป็นเด็ก เป็นเหยื่อ ของการชักชวน ที่อาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและอาจร้ายแรง เพราะก้าวล่วงเข้าไปถึง เรื่องหมิ่นสถาบันดังกล่าว

พิจารณาตามความเห็น และตามการแสดงออกของผู้นำประเทศเช่นนี้
เราจึงไม่แปลกใจเลย ที่กองทัพ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตั้งคำถาม เรื่อง ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ
ซึ่งแน่นอนที่สุด แนวคิดนี้ถูกประเมินโดยฝ่ายตนเองว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ชอบธรรม
ทั้งที่ เอาเข้าจริงแล้ว ปฏิบัติการไอโอดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้อง “ผู้นำและพรรคพวก” ของตนเองมากกว่า
มิได้เป็นไป เพื่อความมั่นคง “แห่งรัฐ” หรือประเทศชาติ ตามความหมายแห่งความมั่นคงอันแท้จริง
เป็นไป เพื่อ “ลุง” ปกป้อง “ลุง”
ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าของผู้กุมอำนาจรัฐบาลเท่านั้น

ปฏิบัติการไอโอ ที่ใช้งบประมาณของรัฐ
ควรจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกส่วน มิใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นี่จึงเป็นปัญหา คล้ายๆ กับการมองนิสิตนักศึกษา
ที่พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ มีความคิดใหม่ มีความเป็นตัวของตัวเอง
ที่ผู้ใหญ่ อาจารย์ รัฐบาล จะต้องเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก ถกเถียง แลกเปลี่ยน ตามระบอบประชาธิปไตย
การที่พวกเขามิได้พูดเสียงเดียวกับรัฐบาล
มิใช่หมายความว่าเขาเป็นศัตรูกับรัฐหรือประเทศ
หรือมิได้เป็นเหยื่อของพรรคการเมืองอย่างกล่าวหา “เหมารวม”
ตรงกันข้าม พรรคอนาคตใหม่ต่างหาก เป็นตัวอย่างของปัญหาความยุติธรรม ความเท่าเทียม ที่ทำให้พวกเขาเห็นสิ่งที่ควรแก้ไขและปรับปรุง อันเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร

ข้อเรียกร้องจากนักศึกษา เช่นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
1.ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างอิสระ และให้มีการทำประชามติก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
2.ให้นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดทางให้รัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรีที่จะนำพาประเทศข้ามพ้นวิกฤต มีความเชื่อมั่น และมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนได้
3.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐประหารลาออก และให้มีการสรรหาบุคคลใหม่เข้าไปแทนที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
มิได้เป็นไปเพื่อนักการเมืองพรรคใด หากแต่เป็นหลักการ ที่น่าจะได้มาถกแถลงกันว่า รับได้หรือไม่ได้ อย่างไร
มิใช่ไปเหมารวมว่า นี่คือการ หลงเชื่อ ถูกล้างสมอง
หรือไป “ด้อยค่า” ว่าเป็นเพียงข้อเสนอ เด็ก-เด็ก

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image