จับตาปรับ ‘ครม.’ เขย่าแค่ ‘พปชร.’ ไม่ยุ่งพรรรคร่วม?

หลังเสร็จสิ้นภารกิจการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับรัฐมนตรีอีก 5 คน ของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยคะแนนโหวตไว้วางใจ นายกฯและ 5 รัฐมนตรีผ่านฉลุย โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้คะแนนไว้วางใจสูงสุดที่ 277 เสียง

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คะแนนไว้วางใจมาในลำดับสุดท้ายที่ 269 เสียง

ตามมาด้วยจุดยืนและข้อเรียกร้องของ 17 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ต้องปรับภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เสียใหม่ ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีที่มีข้อครหาในเรื่องคดีความในอดีต รวมทั้งการชี้แจงการอภิปรายของฝ่ายค้านที่ยังไม่เคลียร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการร่วมเป็นครม.ด้วย

แม้หากจะดูจากจังหวะ เวลา ในการปรับครม. อาจอยู่ในข่ายที่เป็นไปได้ เนื่องด้วยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เมื่อปฏิบัติหน้าที่มาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะผ่านเกณฑ์ 6 เดือน มาพอดี บวกกับสัญญาใจที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยให้ไว้กับผู้ที่เคยผิดหวังในเก้าอี้รัฐมนตรีเมื่อครั้งการฟอร์ม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 2/1

Advertisement

นักวิเคราะห์การเมืองจึงมองตรงกันในความเป็นไปได้ที่จะปรับ ครม.หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อปรับเปลี่ยน ยกเครื่องการทำงานของรัฐมนตรีบางคนที่อาจทำงานไม่เข้าเป้า

แต่การปรับ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ที่เป็นรัฐบาลผสมถึง 19 พรรคนั้น คงไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายนัก โดยแกนนำของแต่ละพรรคที่ส่งขุนพลมาร่วมเป็นรัฐมนตรีใน ครม. ต่างส่งสัญญาณตรงกันว่า หากแกนนำพรรคพปชร.จะปรับครม.นั้น จะต้องปรับครม.ในสัดส่วนของพรรค พปชร.กันเองว่าใครจะเข้า ใครจะออก ไม่มีการยึดโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมอื่นๆ ไปปรับ ครม.ด้วย

สำหรับ ครม.ประยุทธ์ 2/1 มีจำนวนทั้งสิ้น 36 คน รวม 39 ตำแหน่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ดังนี้ พรรคพปชร. 18 คน ประกอบด้วย นายกฯควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองนายกฯ 3 คน, รัฐมนตรีว่าการ 11 คน, รัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 7 คน 8 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รองนายกฯควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการ 3 คน รัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 คน

Advertisement

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 7 คน 8 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รองนายกฯควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการ 3 คน รัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 2 คน 2 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ 1 คน กับรัฐมนตรีช่วยว่าการ 1 คน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 1 คน 1 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 1 คน 1 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สัญญาณจากนายกฯถึงพรรครัฐบาล สอดคล้องตรงกันกับรายงานข่าวที่ว่า ในการหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนว่าจะมีการปรับครม.แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไร และระบุด้วยว่าจะไม่ปรับโควต้าในส่วนของพรรคร่วม พรรคใดดูแลกระทรวงใดอยู่ จะยังได้ดูแลเหมือนเดิม ให้แต่ละพรรคไปพิจารณาเป็นการภายในเองว่าจะปรับเปลี่ยน ตัวบุคคลหรือไม่

สอดคล้องกับคำยืนยันของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ระบุว่า ได้แจ้งต่อนายกฯว่าในส่วนของพรรค ภท.ขอรักษาโควต้าเดิม ไม่ขอขยับปรับเปลี่ยน แม้ขณะนี้จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมาจาก ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ย้ายมาร่วมงานกับพรรค ภท. แต่ไม่ขอเรียกร้องเพิ่มตำแหน่ง และขอให้เป็นเรื่องและอำนาจของนายกฯที่จะเป็นผู้พิจารณา

หากเป็นไปตามสัญญาณที่ นายกฯ ส่งถึงพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะไม่แตะโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีที่พรรคร่วมรัฐบาลดูแลอยู่นั้น ประเด็นที่ต้องโฟกัส คือ การปรับ ครม. ในโควต้ารัฐมนตรีในส่วนของพรรค พปชร. โดยเฉพาะรัฐมนตรีในสายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ทั้ง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. และไม่ได้มีส.ส.ในกลุ่มสนับสนุน เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่นๆของพรรค พปชร. ที่มี ส.ส.ในแต่ละกลุ่มสนับสนุน ดังนั้น อาจเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะถูกปรับ ครม. เพราะไม่มีกลุ่ม ส.ส.สนับสนุน

ถึงขั้นที่นายสุวิทย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “เล่นการเมืองแบบเดิมๆ จะเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร? ที่ผ่านมาผมพูดแต่เรื่องงานที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ หลีกเลี่ยงไม่พูดการเมือง แต่มีข่าวออกมาเป็นระยะว่าจะมีการปรับ ครม.หลังอภิปราย และมีชื่อผมติดอยู่ในโผถูกปรับออกด้วยเหตุผล (ตามข่าว) อยู่ 3 ข้อ คือ 1.ผมขาลอยในพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส. และไม่ได้จ่ายเงินให้พรรค 2.ผมไม่มีฐานเสียง ส.ส.ในมือ และ 3.ผมไม่เข้าพรรค และไม่มีพวกในพรรค วันนี้ขอแสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะที่ถูกทั้งคนในพรรคและสื่อพาดพิงอยู่เสมอครับ”

นายสุวิทย์ ระบุอีกว่า “ผมเข้าร่วมกับพรรค พปชร. เมื่อจะมีการเลือกตั้งได้ลาออกจากรัฐมนตรีไปทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรค เดินสายช่วยลูกพรรคหาเสียงทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีก็ทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ คิดว่าหากมีปรับ ครม. และคัดเลือกรัฐมนตรีด้วย 3 เหตุผลนี้ ประเทศไทยคงไม่มีทางหลุดจากวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ที่สร้างปัญหาซ้ำซากแบบเดิมที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้”

“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตเชิงซ้อน นายกฯ และครม.ต้องมีความรู้ ความสามารถ และมีปัญญานำพาประเทศไปข้างหน้า มากกว่าการปรับ ครม.ตามอำนาจต่อรอง และแรงกดดันจากกลุ่มคนที่รอแสวงหาประโยชน์ในรัฐบาล ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วยความตั้งใจ จริงใจและทำงานอย่างสุดความสามารถ เพราะอยากเห็นประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้น”

“แน่นอนว่าการเข้ามาร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แล้ว หรือในรัฐบาลนี้ล้วนมาจากนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัดเลือกด้วยตัวเอง ผมเคารพและเชื่อมั่นในการตัดสินใจของนายกฯเสมอ และเชื่อว่าหากจะปรับครม.ก็ต้องด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ของนักการเมืองครับ ช่วยกันพลิกโฉมการเมืองแบบใหม่กันเถอะ ประเทศไทย รอการพัฒนาอีกหลายอย่าง อย่างแรกที่สำคัญที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ คือ นักการเมืองแบบเดิมๆ บางคน นี่ละครับควรต้องรีบพัฒนา” รมต.สุวิทย์ร่ายยาวถึงกระแสข่าวที่จะถูกปรับพ้นเก้าอี้

อย่างไรก็ตาม การปรับ ครม.ใหม่ครั้งนี้ ใครจะอยู่ ใครจะไป อยู่ที่คนชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะนายกฯจะเป็นผู้พิจารณา

ต้องรอลุ้นว่าโฉมหน้า ครม.ใหม่จะ “ดี” หรือ “ยี้” กว่าเดิม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image