“ทางเลือกน้อย” โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

แม้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ลดโทนความรู้สึกเป็นอริกับบางฝ่ายลง ด้วยการเปลี่ยนฉายารัฐธรรมนูญจากรัฐธรรมนูญปราบโกง

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ

เพื่อดูเป็นกลาง นิ่มนวลยิ่งขึ้น

กระนั้น ธงที่ชูอวดก็ยังเป็นเรื่องปราบโกงอยู่

Advertisement

ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ “เอียง” จึงต่อต้าน

เลยทำให้ตอนนี้ไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่า รัฐธรรมนูญนี้จะผ่านประชามติหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญจุดหนึ่งคงขึ้นอยู่กับ “แป๊ะ” ด้วยว่าจะเอาอย่างไร

Advertisement

ซึ่งตอนนี้เร็วไปสักนิดที่จะสรุป เพราะแป๊ะก็คงต้องฟังเสียงจากสังคมโดยรวมด้วยว่าจะเอาอย่างไร

หากย้อนกลับไปทบทวนหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอแนะต่อนายมีชัย 10 ข้อ

ก็อาจพอจะประเมินได้ในเบื้องต้นได้ว่า แป๊ะพอใจร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมามากน้อยเพียงใด

10 ข้อมีดังนี้

1.เข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม

2.รัฐธรรมนูญไม่ยาวเกินไป แต่ไม่สั้นจนขาดสาระสำคัญ

3.กำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง

4.บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี วางกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองหรือนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ

5.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญเฉพาะก่อนหรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น

6.รัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตันไว้ด้วย

7.การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

8.ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับประชาชน

9.ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ

10.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ

จากทั้ง 10 ข้อ จะเห็นว่านายมีชัยและคณะกรรมการร่างฯตอบโจทย์ได้อย่างสุดสุด

ดังนั้นในเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์น่าจะพึงใจ

แต่ในความพึงใจดังกล่าว ก็คงต้องยอมรับว่าเป็นความ “ไม่พอใจ” ของอีกหลายๆ ฝ่ายด้วย

เพราะหลายๆ ฝ่ายนั้นเห็นว่า มีเนื้อหาในรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่ขัดกับแนวทางประชาธิปไตย และนำไปสู่ข้อสงสัยเกี่ยวกับสืบทอดอำนาจอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน และคงเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญ ข้อห่วงใยเหล่านั้นเมื่อเป็นรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีช่องทางที่จะแก้ไขได้

ด้วยนายมีชัยและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปตอบสนองข้อเสนอของ คสช. ที่จะไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขได้ยากมาก

เป็นเสมือนการยื่นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ให้กับคนไทย คือต้องรับ รับแล้วต้องปฏิบัติไปตามนั้น แก้ไขไม่ได้

ไม่เปิดทางถอยไว้อย่างเมื่อปี 2550 คือให้รับ (รัฐธรรมนูญ) ไว้ก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง

แม้ที่สุดมันจะเป็นวาทกรรมปลอมๆ ที่ไม่เป็นจริง แต่ก็แง้มช่องให้ “พยายามแก้ไข” ไม่ใช่ปิดตายเหมือนครั้งนี้

จนทำให้คนเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้รู้สึกถึงการไม่มีทางเลือก

นอกจากคว่ำมันเสีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image