สถานีคิดเลขที่ 12 : เข้าใจเด็ก

มุมมองของคนดังหรือบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ influencer ต่อการเคลื่อนไหวแฟลชม็อบ หรือกิจกรรมทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา สรุปแบบไม่ซับซ้อนได้ว่า แบ่งเป็นสองด้าน

ด้านหนึ่งคิดว่า คนรุ่นใหม่กำลังแสดงพลังและการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง ด้วยความคิดของตนเอง ส่วนอีกด้านมองว่า เป็นกลุ่มที่ถูกปลุกปั่นหรือยุยงจาก “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”

มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 โพสต์ข้อความว่า “ภูมิใจนักศึกษาไทย” บนทวิตเตอร์   ส่วนตัว มียอดการรีทวีตเกิน 1 แสนครั้ง

จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ที่โพสต์ไปแบบนั้น เพราะเห็นว่าช่วงเวลาการเป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่เรากำลังสร้างอุดมการณ์ อุดมคติของเราเพราะฉะนั้น สังคมต้องฟังเยาวชน ถ้าเริ่มจากจุดจุดนั้น เราก็ไปต่อได้

Advertisement

ด้านพระเอกคนดัง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ให้สัมภาษณ์เรื่องเดียวกันว่า เวลาคนเราเห็นไม่เหมือนกัน อีกฝ่ายก็มักคิดว่าตนเองไม่ผิด และถ้าจะโทษใคร ก็ต้องโทษคนปลุกปั่นให้มันเกิด ยุให้คนนี้ทำแบบนี้ไปทะเลาะกับคนนี้โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้คิดว่าผิด แล้วมันจะจบลงตรงไหน

จากนั้นไม่นานก็มีแฮชแท็กในทวิตเตอร์และโซเชียลอื่นๆ ออกมาทั้งสองด้านอีก คือ #saveซันนี่ กับ #ซันนี่เป็นสลิ่มเหรอ

ไปๆ มาๆ คำว่า สลิ่มก็เลยเป็นที่ถกเถียงอีกว่าเป็นคำต่อว่าด่าทอหรือไม่ ซึ่งถ้าให้คนในสังคมร่วมกันตัดสิน คำตอบก็คงจะออกมาเป็นสองด้านอีกเหมือนกัน คือ ใช่ กับ ไม่ใช่

Advertisement

สุดท้ายเรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับบริบทของการสื่อสาร แต่เรื่องที่น่าจะเคลียร์กันให้ชัดๆ ว่านักศึกษาออกมาแฟลชม็อบทำไมนั้น หาคำตอบได้ไม่ยาก เพียงแต่เดินเข้าไปคุยอย่างสุภาพชน ก็คงได้คำตอบ ถามคนเดียวไม่พอ ถามหลายๆ คน จะได้ความเข้าใจที่ดีและชัดเจนขึ้นด้วย

คำตอบที่สื่อหลายๆ แห่งถามกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้คำตอบคล้ายๆ กันว่า ไม่ใช่แค่เพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แต่เพราะทนมาหลายครั้งแล้ว ไม่ชอบการเมืองที่เฟค อยากเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีสองมาตรฐาน พร้อมปฏิเสธถ้อยคำโจมตีว่าเป็นพวกชังชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่คนอื่นๆ ก็อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเห็นตามนี้กันไปหมด

เพียงแต่ถ้าผู้ใหญ่ใจกว้างพอ ไม่ควรใช้คำพูดเหยียดพูดเย้ยเด็ก เช่น ใส่หน้ากากอนามัยอายใครหรือ ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าช่วงนี้ทุกคนก็ต่างระวังภัยโควิดกัน จึงเหมือนพูดไม่สร้างสรรค์

ถ้าต้องการเห็นอนาคตของประเทศ ผู้ใหญ่ต้องเลิกควบคุมหรือกำหนดให้เด็กเรียนตรงกับความต้องการของประเทศเพียงเพื่อให้จบแล้วมีงานทำ

มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2549 เคยพูดถึงเรื่องนี้ตอนแวะมามติชนว่า ถ้าคุณคิดแบบนี้ คุณกำลังมองคนรุ่นใหม่ของตัวเองเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นตัวเลข เป็นสิ่งไม่มีชีวิต

เราเป็นมนุษย์ เราต้องส่งเสริมให้เด็กมีความฝัน และมีวิถีชีวิตของตนเอง นั่นคือหน้าที่ของผู้ใหญ่

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image