รายงานหน้า 2 : กกร.กระทุ้งรัฐแก้วิกฤตโควิด ลดภาระค่าใช้จ่าย-เติมสภาพคล่องธุรกิจ

หมายเหตุ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แถลงผลสรุปการประชุมประจำเดือนมีนาคม ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กกร.ได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ซึ่งล่าสุดเชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึงแม้การแพร่ระบาดในจีนจะสามารถควบคุมได้แล้ว แต่ปัญหาของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย และชะลอการท่องเที่ยว เนื่องจากมีมาตรการในการควบคุมออกมา รวมถึงการเดินทางไปประเทศต่างๆ ก็มีมาตรการในการคัดกรองที่เพิ่มขึ้น และไม่สะดวกต่อการเดินทางด้วย ทั้งยังมีการยกเลิกกิจกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งประเมินว่าหากโรคระบาดยังอยู่จนถึงสิ้นไตรมาส 1/2563 จะส่งผลให้รายได้ในภาคการท่องเที่ยวสูญหายไปกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวไปจนกินเวลาถึงครึ่งแรกของปี 2563 จะทำให้เม็ดเงินสูญหายเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังหวังว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในเร็วๆ นี้ ขณะนี้ให้น้ำหนักปัจจัยกังวลไปที่ 1.โควิด-19 2.ภัยแล้ง 3.สงครามการค้า (เทรดวอร์) 4.การเมืองในประเทศ ซึ่งหากมีการลงถนนหรือชุมนุมประท้วง จะสร้างความกังวลสูงขึ้นมาก

โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่แน่นอนว่าจะคลี่คลายเมื่อใด เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2563 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากโรคระบาดล้วนๆ นอกจากจะกระทบภาคการค้า และการผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกแล้ว ยังกดดันภาคการบริการอย่างการท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้หยุดชะงักลง ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังภาคธุรกิจต่างๆ ให้มีการลดการจ้างงาน และปิดกิจการ ซ้ำเติมประเด็นด้านกำลังซื้อของครัวเรือนที่เดิมก็อยู่ในภาวะที่เปราะบางจากหลายปัจจัยลบอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงด้วย โดยจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 ที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวลงในแทบทุกรายการ

ADVERTISMENT

ที่ประชุม กกร.คาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2563 เครื่องชี้ต่างๆ น่าจะยิ่งสะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจหลังจากนั้นคงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหลัก ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทย ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อผ่านจุดสูงสุดไป เหตุการณ์ต่างๆ น่าจะทยอยคลายตัวลงได้ และส่งผลให้มีการประเมินตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยลดลง โดยปกติในช่วงที่ผ่านมา กกร.จะมีการประเมินและแถลงคาดการณ์การเติบโตของตัวเลขจีดีพีไตรมาสละ 1 ครั้ง แต่ครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้จากช่วงเดือนมกราคม 2563 กกร.ได้ให้ประมาณการตัวเลขจีดีพีไว้ที่ 2.5-3.0% ซึ่งในปลายเดือนมกราคม 2563 เกิดวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดขึ้น รวมถึงเห็นปัจจัยที่กระทบกระเทือนกับภาคเศรษฐกิจไทยหลายเรื่อง อาทิ งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น กกร.จึงมีการปรับลดจีดีพีลงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาลงอีก 1 ครั้ง จนครั้งล่าสุดเมื่อประเมินแล้วพบว่า สถานการณ์โรคระบาดยังมีแนวโน้มไม่สามารถคลี่คลายได้ กกร.จึงมีมติในการปรับลดจีดีพีลงอีก 1 ครั้ง เหลือโตเพียง 1.5-2.0% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับจีดีพีลง 3 เดือนติดต่อกัน ในอัตราที่คาดการณ์แล้วว่าโควิด-19 จะแพร่ระบาดจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2563 หรือเบาบางลงในช่วงนี้ ในส่วนของการส่งออกยังคงประมาณการไว้เท่าเดิม แม้ในช่วงเดือนมกราคม 2563 จะมีท่าทีดีขึ้น แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เงียบเหงาลงไปสูงมาก โดยคาดว่าการส่งออกในเดือนมีนาคม 2563 จะมีวี่แววดูดีขึ้น ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อยังคงไว้ที่ 0.8-1.5%

โดยมี 12 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องสำอาง เคมี โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม หัตถกรรมสร้างสรรค์ โรงเลื่อยโรงอบไม้ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น อัญมณีและเครื่องประดับ เทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร สมุนไพร และมี 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ เซรามิก แก้วและกระจก ยา เหล็ก และผลิตภัณฑ์หนัง ส่วนอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบน้อยมี 24 ประเภท ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันปาล์ม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ แกรนิตและหินอ่อน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลการเกษตร ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์ยาง เยื่อและกระดาษ พลาสติก น้ำตาล ก๊าซ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เครื่องจักรกล
และโลหะ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ปัจจัยบวกคือ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศคู่ค้าของจีนหันมาซื้อสินค้าไทยแทนสินค้าจีน รวมถึงมีคำสั่งซื้อในประเทศคำสั่งซื้อจากจีนเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบคือ ปัญหากระบวนการขนส่งจากจีนมีความล่าช้า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงส่งผลให้ยอดขายสินค้าในประเทศลดลงตาม ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีนได้ เพราะโรงงานปิด ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้า หรือติดต่อธุรกิจในประเทศจีนได้

ADVERTISMENT

เพื่อประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เฉพาะหน้านี้ไปได้ กกร.คาดหวังให้ภาครัฐออกมาตรการทั้งด้านการคลัง และด้านการเงินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่าย และเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันก็เตรียมการรับมืออย่างเพียงพอ สำหรับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทย โดยแม้ภาครัฐจะกำลังอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเพื่อประคองเศรษฐกิจ ที่ประชุม กกร.ก็ยังประเมินว่า ผลกระตุ้นจากมาตรการ อาจจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรม กกร. จึงมีการพิจารณาทบทวนประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ในครั้งนี้
และหากสถานการณ์ยังไม่คลายตัว ก็จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนมาตรการที่ได้เสนอให้ภาครัฐช่วยนั้น มีมาตรการที่ได้เสนอไปแล้ว อาทิ มาตรการทางไฟแนนซ์ การลดค่าไฟ ประกันสังคม และมาตรการทางสินเชื่อต่างๆ โดยจะนำเสนอภายในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 โดยตรงได้ ซึ่งการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทน กกร.เข้าร่วมประชุมครบทั้ง 3 หน่วยงานหลัก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีการรับฟังความคิดเห็นของเอกชนมากขึ้น รวมถึงต้องการนำเสนอมาตรการถาวรและชัดเจนคือ ต้องการให้ภาครัฐมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนหรือ กรอ.ส่วนกลาง เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะเป็นการประชุมของภาคเอกชน ที่สามารถตั้งหัวข้อได้เอง สามารถนำเสนอให้ภาครัฐ และติดตามความคืบหน้าได้ โดยข้อเสนอนี้ได้พูดมาหลายครั้งตั้งแต่สมัยเสนอปกขาว ในช่วงที่รัฐบาลเพิ่งขึ้นมาใหม่ๆ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร โดยถือว่ากรอ.ที่เสนอไปเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเอกชนต้องการเวตของตัวเอง ในการคุยกับภาครัฐ เพราะในช่วงที่ผ่านมา เอกชนได้นำเสนอข้อคิดเห็นผ่านเวทีต่างๆ ที่ต้องยอมรับว่าแม้ภาครัฐจะรับฟังและให้ความสนใจ แต่เวทีเหล่านั้นมักเป็นเวทีโครงการของภาครัฐเองเป็นหลัก

ตัวเลขจีดีพีในตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว แต่จะเป็นจุดต่ำสุดหรือไม่นั้น จะต้องมีการประเมินและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้จีนเริ่มควบคุมได้แล้ว แต่การแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล โดยประชาชนในประเทศเองก็มีความวิตกกังวลมาก ไม่มีความต้องการอยากออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

สำหรับการปลดหรือปรับลดพนักงานนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นการปรับลดหรือการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ในภาคการท่องเที่ยวอาจจะมีการทำงานที่บ้าน หรือลดการทำงานน้อยลงบ้าง แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาพรวมทุกประเภทอุตสาหกรรม ขณะนี้มีการพูดถึงงบประมาณของภาครัฐ โดยมีการหารือกันว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพราะเราได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ทั้งงบล่าช้า ภัยแล้งรุนแรง ต่อเนื่องมาจนถึงโรคระบาด จากแนวโน้มที่จะออกมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 มานั้น เบื้องต้นเป็นมาตรการของภาครัฐเอกชนไม่ได้เสนอ แต่ถามว่าจะช่วยได้หรือไม่ มองว่าตอนนี้ยังมีหลายเรื่อง การที่จะผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายโดยตรงและการช่วยเหลือภาระหนี้สิน เชื่อว่าจะมีออกมาจากภาครัฐทั้งหมด โดยในวันศุกร์ (6 มีนาคม) น่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น

ปรีดี ดาวฉาย
ประธานสมาคมธนาคารไทย

การประเมินสถานการณ์จุดต่ำสุดของจีดีพีไทย ถือเป็นการประเมินที่ยากมาก เพราะเป็นการมองไปข้างหน้า และคาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงมากน้อยเท่าใด และหากไปถึงครึ่งปีแรกของปี 2563 จะเป็นอย่างไร โดยขณะนี้มองว่าตัวช่วยยังมี ในส่วนของมาตรการภาครัฐที่ยังไม่ออกมา ซึ่งเชื่อว่าหากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเข้ามาช่วยได้เยอะ ตัวเลขก็จะออกมาดีมากขึ้นได้ ซึ่งหากให้มองไปข้างหน้าในอนาคตคงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะฉะนั้นต้องรอว่าในวันที่ 6 มีนาคมนี้ จะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม เป็นการกระตุ้นในรูปแบบใดบ้าง ขณะเดียวกันหากสามารถควบคุมโรคระบาดได้ ตัวเลขก็จะฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น แต่หากลุกลามมากกว่านี้ก็จะต้องมีการประเมินอีกครั้ง

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ฉุกเฉินที่ 0.50% คงต้องมาดูว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างไร ซึ่งตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็อยู่ที่ 1% แล้ว แต่จะเป็นระดับที่ต้านกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาประเทศไทยได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะมีหลายปัจจัย ไม่ได้เป็นเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว โดยความจริงแล้วดอกเบี้ยต่ำเงินทุนจะต้องไหลออก แต่จะไหลออกอย่างเดียว หรือไหลเข้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะต้องไปควบคู่กัน โดยการส่งออกและนำเข้าจะต้องอยู่ในอัตราที่เท่ากัน เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้ ส่วนตัวไหนที่กระโดดขึ้นมาแบบผิดปกติ ก็ต้องเข้าไปดูแลต่อไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image