‘สุนี’แนะควรเขียน’สวัสดิการรัฐ’เป็น’สิทธิปชช.’ ไม่ใช่ใน’หน้าที่รัฐ”


ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศเรียกร้องนำข้อดี รธน.40-50 บัญญัติใน รธน.ใหม่ ชี้ประเด็นสิทธิเสรีภาพ ควรเป็น “สิทธิ” ไม่ใช่ “หน้าที่รัฐ” แนะกำหนดสัดส่วนชายหญิงเท่าเทียมต่อการตัดสินใจทุกระดับ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 มกราคม ที่อาคารรัฐสภา 2 ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (Wemove) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.) และโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวที “เสียงประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นวันที่ 2 โดยนางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ประสานงาน Wemove กล่าวสรุปข้อเสนอของกลุ่มว่า รัฐธรรมนูญใหม่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญที่พัฒนากว่าฉบับ 2540 และ 2550 โดยเฉพาะหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้บททั่วไปให้นำมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” มาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงสิทธิในสวัสดิการสังคม เช่น การศึกษา สาธารณสุข เด็ก ผู้พิการ ฯลฯ ไปบัญญัติเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเป็นฐานคิดที่ขัดแย้งกับความมุ่งหวังของประชาชน ที่ต้องการให้เป็น “สิทธิ” เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถอ้างสิทธิต่างๆ ในการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามสิทธิ ที่สำคัญอีกประการคือ สิทธิแรงงาน การคุ้มครองแรงงานหญิง และเสรีภาพในการชุมนุม ที่ไม่มีบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงควรนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีอย่างกว้างขวางในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพเช่นเดิม

นางสุนีกล่าวต่อว่า ในส่วนของสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมาตรา 66 และ 67 ที่เคยบัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่บัญญัติให้ต้องมีองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สิทธิชุมชนถูกจำกัดอย่างมาก รวมถึงสิทธิในหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งมีการเสนอในทิศทางการปฏิรูปชัดเจนว่าต้องลดอำนาจรัฐส่วนกลาง เพิ่มอำนาจประชาชนและท้องถิ่น แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ชัดเจน และไม่มีหลักการสำคัญที่เคยปรากฏ โดยเฉพาะอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มีข้อสังเกตส่วนของสถาบันการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มุ่งปราบปรามและป้องกันการทุจริต โดยเน้นนักการเมืองเป็นสำคัญ แต่สภาพความเป็นจริงของสังคมไทย การทุจริตมีความสลับซับซ้อน เชื่อมโยงทุกระดับ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความเข้มแข็งและมีบทบาทในการตรวจสอบการทุจริต

นางสุนีกล่าวว่า สำหรับความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นส่วนหนึ่งที่มีการรณรงค์สัดส่วนที่เท่าเทียมกันของหญิงและชายในการตัดสินใจทุกระดับ ซึ่งควรนำมาบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความชัดเจน ทั้งการส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง การกำหนดผู้บริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่น การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรต่างๆ ของรัฐทั้งหมด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image