รายงานหน้า 2 : วงเสวนา‘ฝ่าวิกฤตประเทศ’ ชี้สูตรปลดล็อก-แก้รธน.

หมายเหตุ – สถาบันสร้างไทย พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดเสวนาระดมความคิดหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตประเทศไทย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง และนักกฎหมาย ร่วมเสวนา ที่ห้อง Think Lab อาคารโอเอไอ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม

โภคิน พลกุล
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.)
และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์
และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

มีการพูดกันมาหลายยุคหลายสมัยเรียกร้องให้นายกฯ มาจาก ส.ส. อยากเห็นคนที่เป็นผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงเข้ามาดูแลบ้านเมือง วันนี้มีวิกฤตปัญหาไวรัสโควิด-19 เขาก็ไม่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาให้ประชาชน เพราะเขาไม่ได้มาจากประชาชน อยู่ไปวันๆ ทำเท่าที่ทำได้ ต่างกับนักการเมืองที่ใส่ใจประชาชนเพราะเขามาจากประชาชน

Advertisement

เขาออกแบบบ้านให้เผด็จการอยู่ได้ ประชาธิปไตยอยู่ยาก หรืออยู่ไม่ได้เลย หลายคนที่เคยสนับสนุนก็เริ่มผิดหวัง เริ่มตีตนออกห่าง เพราะรู้แล้วว่าอย่างนี้ไม่ใช่บ้านที่ตัวเองต้องการ

ทุกอย่างอยู่ที่กติกาใหญ่ คือบ้าน ถ้าบ้านออกแบบไม่ดี ไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชน หรือตอบโจทย์อนาคตของประเทศ อยู่กันแบบนี้ เราไม่มีอนาคตหรอก

ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนเริ่มตระหนักแล้วว่าบ้านสำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญต้องทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่กับการเมืองเท่านั้น พวกเราจึงเสนอว่าเราต้องมีบ้านใหม่ มีแบบอย่างมาแล้วในปี 2539 โดยอาศัยความร่วมมือกันจากคนในสังคม ต้องมีรัฐบาลเป็นแกนนำ

Advertisement

ดังนั้น ต้องมีบทบัญญัติหมวดหนึ่งที่เปิดช่องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นเลือกตั้งคนขึ้นไปร่างรัฐธรรมนูญตามสัดส่วนประชากร แล้วนำไปเข้ากระบวนการประชามติ เรามาร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ฟรีและแฟร์กันไหม รัฐธรรมนูญที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่มีการแทรกแซงแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560

การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการแก้ไขเป็นรายประเด็น ต้องเข้าสู่บทบัญญัติที่มีอยู่ในปัจจุบัน คนที่จะเสนอได้คือมีคณะรัฐมนตรี ส.ส.และประชาชนเข้าชื่อกัน 20,000 คน จากนั้นจะพิจารณา 3 วาระ แต่ที่ไปทำให้แก้ไม่ได้เลย คือในวาระ 1 กับ 3 ต้องมี ส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 ดังนั้น ใครก็ตามที่ควบคุม ส.ว.ไว้ไม่ให้เห็นชอบก็ตกหมดแล้ว

ขณะเดียวกันในวาระที่ 3 ถ้าพรรคใดที่ไม่มีใครเป็นประธานสภา หรือนั่งในรัฐบาล 20% ไม่เห็นด้วยก็ไม่ผ่านอีก สรุปคือแก้ไม่ได้ถ้าไม่เห็นพ้องต้องกัน ถ้าฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยในประเด็นใดๆ ก็แก้ไม่ได้ ปล่อยไว้แบบนี้มีแต่ประเทศจะพังพินาศ ดังนั้น ต้องชักชวนทุกฝ่ายออกมาเห็นด้วย และฝ่ายที่จะกดดันให้ฝ่ายที่ไม่ยอมต้องยอม ได้แก่ นักศึกษา และประชาชน

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์
และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เมื่อดูจากหัวข้อที่เราพูดคุยกัน ผู้ร้ายคือรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตของประเทศ ส่วนพระเอกคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้วิกฤตหายไป ถามว่ารัฐธรรมนูญเป็นผู้ร้ายจริงหรือเป็นเพียงแพะ ต้องมาพิสูจน์กันว่านายรัฐธรรมนูญทำให้เกิดวิกฤตหรือไม่

เกิดวิกฤตอะไรบ้างในสภา เกิดพรรคการเมืองหลากหลาย มีไม่กี่เสียงก็ได้เป็น ส.ส. เราได้รัฐบาลจากพรรคการเมืองจำนวนมาก เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะโหวตในสภาแต่ละเรื่องหากป่วยก็ต้องลากกันเข้าไปในสภาให้ได้

เมื่อพ้นจากไวรัสโควิด ตามมาด้วยปัญหาภัยแล้ง หน่วยวิจัยจากสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์ว่าช่วงปลายปีจีดีพีประเทศจะอยู่ในระดับ 0.5% ต้องบอกว่าปัญหาทั้งหมดมาจากนายรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นกลไกที่ออกแบบการเมืองไทยโดยได้รัฐบาลแบบนี้ ได้ ส.ส.แบบนี้ ได้ ส.ว.แบบสอพอ ไม่มี ล.ลิง ได้สภาหน้าตาแบบนี้ ดังนั้น เราต้องมาคิดว่าจะร่วมกันออกแบบบ้านเมืองเพื่อแก้วิกฤตกันอย่างไร

เมื่อทุกฝ่ายเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหา วิธีที่ง่ายเริ่มจากการแก้เล็กกับแก้ใหญ่ แก้ในกับแก้นอก โดยแก้เล็กคือ เอาประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันโยนเข้าไปในสภา ให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยกันแก้ เช่น แก้เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบเหมือนเดิม

ส่วนการแก้ใหญ่คือ แก้กันทั้งฉบับ ซึ่งคนที่จะแก้คือรัฐสภาต้องเห็นชอบและต้องทำประชามติสอบถามประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา

ต่อมาคือ การแก้ในต้องอาศัยกฎกติกาที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้วิธีนี้ต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกัน ครม. ส.ว.และประชาชนต้องเห็นพ้องต้องกัน หวังได้ค่อนข้างลำบากพอสมควร ผมเชื่อว่าการแก้ในโดยธรรมชาติของตัวมันเองไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเขาพอใจที่จะอยู่อย่างนี้ต่อไป ใครจะบ่น ใครจะด่าก็ไม่สนใจ หูทวนลมแล้วอยู่ไปเรื่อยๆ

ส่วนการแก้นอกคือ คนในสังคมต้องเสียงดังพอ รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถรับสิ่งนี้ต่อไปได้อีกแล้ว เมื่อไปดูปรากฏการณ์นักศึกษาที่เขาต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ขนาดเสียงดังไม่มากยังสร้างความหวั่นไหว แรงสั่นสะเทือน ถึงขั้นรองประธานกรรมาธิการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ชื่อย่อ พ.ท่าทีเปลี่ยน รีบเสนอให้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาทันที แถมจะเปิดสภาให้นักศึกษาเข้ามาเสนอแนะด้วย

ดังนั้น ถ้าเสียงดังๆ จากประชาชนรับรองว่าแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างแน่นอน เริ่มจาก 5 ข้อคือ รัฐบาลต้องลาออก เลือกตั้งใหม่ ไม่เอา ส.ว.ชุดนี้ ไม่เอาองค์กรอิสระชุดนี้ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ถ้าเรามีโจทย์ตั้งต้นว่าฝ่าวิกฤตประเทศไทยด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องกลับมาดูว่าสิ่งที่เป็นมหาวิกฤตของไทยมีอะไรบ้าง ด้านแรกคือ เศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า ด้านสังคม ทั้งปัญหาพีเอ็ม2.5 ปัญหาโควิด-19 นี่คือปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อพูดถึงด้านการเมือง การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา เป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอยากเห็นอนาคตที่ก้าวต่อไป เมื่อย้อนดูปัญหาเชิงโครงสร้างพบว่าโครงสร้างรัฐเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ

ดังนั้น เมื่อดูวิกฤตปัญหาของประเทศไทยทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและเชิงโครงสร้าง ล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น

ทั้งนี้ วิกฤตประเทศไทยเกิดขึ้นจากความไม่สมดุล ซึ่งเกิดจากการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ความไม่สมดุลเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่เชิงที่มา เนื้อหาและกระบวนการ

ทำไมรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นปัญหาและควรได้รับการแก้ไข เพราะกระบวนการร่างเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ น้อยลง องค์กรร่างก็ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มีมาตรา 44 คอยจำกัดการมีส่วนร่วม สร้างบรรยากาศไม่เกิดความเป็นประชาธิปไตยในการกำหนดกติการ่วมกัน

ดังนั้น ทั้งเรื่องกรอบกติกาในการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งบรรยากาศการร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการลงประชามติบนความว่างเปล่าจึงทำให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นถูกบดบังในเนื้อหาสาระที่ควรมีและขาดการมีส่วนร่วม

กระบวนการเนื้อหามี 3 ส่วนหลักคือ 1.การสร้างประชาธิปไตยถูกควบคุมกำกับ เห็นได้จากการมีบทเฉพาะกาลที่พูดถึง ส.ว.ที่มาจากการสรรหาในวาระแรก หรือช่วง 5 ปี ส่วนตัวเรียกว่า ส.ว.ยกกำลังสอง 2.การสร้างสภาวะรัฐธรรมนูญคู่ กล่าวคือเนื้อหาส่วนหนึ่ง มาตรา 279 บัญญัติรับรองคำสั่งต่างๆ ของ คสช.เสมือนมีรัฐธรรมนูญสองฉบับในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดภาวะรัฐคู่ขนาน ซ่อนตัวในองค์กรต่างๆ เช่น ส.ว. กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 3.การสร้างรัฐราชการแบบใหม่

เมื่อดูเรื่องกระบวนการ พบว่าทำให้โครงสร้างระบบรัฐสภาบิดเบี้ยว การเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมเกิดปาร์ตี้ลิสต์พิสดาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้การสร้างพรรคการเมืองที่มีฐานจากประชาชนเกิดขึ้นยาก พรรคการเมืองถูกยุบง่าย แต่ตั้งยาก

สุดท้ายทำให้เกิดภาวะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหามากกว่าเป็นพื้นที่แก้ปัญหา ทางออกคือทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเกิดการมีส่วนร่วม เริ่มจากการที่รัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาในกระบวนการ รวมทั้งจัดดุลอำนาจให้สมดุล สิ่งเหล่านี้คือหัวใจหลักของการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถนำสังคมไทยให้พ้นจากวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การฝ่าวิกฤตประเทศไทยทางออกหนึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวไม่เห็นว่าการแก้ไขแบบเล็ก หรือแก้บางมาตราจะแก้วิกฤตการณ์ของประเทศได้อย่างไร หากจะแก้ต้องแก้ใหญ่ แก้ด้วยพลังอำนาจของประชาชน การแก้ครั้งนี้ไม่ใช่แก้ปัญหาปัจจุบันเท่านั้น แต่แก้ปัญหาในอนาคต รวมทั้งอดีตด้วย เนื่องจากฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยวางกับดักไว้จำนวนมาก

ปัจจุบันเราต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.ให้ได้ แต่รากเหง้าเผด็จการยังอยู่ในสังคมไทย ดังนั้น ถ้าขุดรากเหง้าออกไป สถานะประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง เราจะไม่มีรัฐประหารอีกเลย

ผมมีโมเดลที่เสนอคือ เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ (ส.ส.ร.ปป.) ซึ่งก้าวหน้ากว่าปี 2540 องค์ประกอบ ส.ส.ร.ปป.คือ 1.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามพื้นที่จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน หากจังหวัดไหนมีจำนวนประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ให้เพิ่มเป็นสัดส่วน 2.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 15-20 คน โดยใช้ร่างของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ฉบับปี 2540 เป็นต้นแบบ ทำให้การร่างใช้เวลาไม่นาน 3.มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม หรือสถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับประชาธิปไตยร่วมขับเคลื่อนด้วย

ต้องกำหนดกรอบเวลา มิฉะนั้นฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยจะยื้อเวลาไปเรื่อยๆ ดังนั้น จึงควรกำหนดไว้ว่าเดือนพฤษภาคม 2563 ต้องทำให้เสร็จทุกอย่างตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องเสร็จในเดือนตุลาคม 2563

ทั้งนี้ ส.ส.ร.ปป.จะร่างให้เสร็จภายใน 4-6 เดือน แล้วให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ว.ต้องหายไปตามการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง แบบนี้ถึงจะไม่มีวิกฤตแน่นอน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image