16 ปี ‘ทนายสมชาย’ สหภาพยุโรปจี้ผู้แทน ‘โคทม’ วอน เยียวยาสังคม หวังรัก ‘ความเป็นธรรม’ ขอแรงหนุนผ่านร่าง กม.ป้องกันอุ้มหาย

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดงาน 16 ปี หลังจากการบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย “ยังอยู่ในความทรงจำ: ทวงความยุติธรรมที่หายไป” สืบเนื่องจากวันที่ 12 มีนาคม 2563 เป็นวันครบรอบ 16 ปีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งลักพาตัวไปจากรถยนต์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งขณะนี้นับเป็นเวลา 16 ปีที่ยังไม่มีใครได้พบทนายสมชาย ทั้งยังไม่มีใครทราบถึงชะตากรรมและถิ่นที่อยู่

โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการรูปภาพและสิ่งของส่วนตัวของผู้ที่สูญหาย จำนวน 7 คน พร้อมเวทีเสวนาสาธารณะ เพื่อรำลึกถึงการถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย รวมถึงกรณีผู้สูญหายอื่นๆ และเพื่อสะท้อนเสียงของผู้เสียหาย ความคืบหน้าและพัฒนาการในการสืบสวนสอบสวน ตลอดจนประเมินความคืบหน้าของกรอบกฎหมายของประเทศไทย เพื่อแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร, ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม นักสิทธิมนุษยชน ญาติผู้เสียชีวิต และประชาชน ร่วมงานคับคั่ง

ต่อมา เวลา 14.30 น. สมาชิกครอบครัวของผู้สูญหายอธิบายถึงรูปภาพและสิ่งของส่วนตัวที่นำมาจัดแสดง ภายใต้ชื่อ “ยังอยู่ในความทรงจำ : นิทรรศการรูปภาพและสิ่งของส่วนตัวของผู้สูญหาย” อาทิ ของส่วนตัวของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร, นายนายทนง โพธิ์อ่าน, นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, พ่อเด่น คำแหล้, นายพอละจี รักเจริญ, นายสยาม ธีรวุฒิ และ นายจะหวะ จะโบ เป็นต้น

เจนนี่ ลูนมาร์ค ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปมีบทบาทในประเทศไทยอย่างมากเพราะเป็นภาคีสำคัญให้กับภาคประชาสังคม เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อขยับขยายพื้นที่ประชาธิปไตย สนับสนุนหลักนิติรัฐและนิติธรรม รวมไปจึงส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีตัวแทนหลายภาคส่วน ทั้ง นักการทูต ตังแทนจสกองค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิที่มีชื่อเสียงมาร่วมงาน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของงานวันนี้ เพื่อรำลึกถึงผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยเฉพาะ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่สูญหายไป และยังไม่ทราบชะตากรรมจนถึงวันนี้

Advertisement

โดยทางสหภาพยุโรปขอยืนยันว่า สหภาพยุโรปมีจุดยืนที่จะส่งเสริมการป้องกันการบังคับสูญหาย เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคลอย่างรายแรง มนุษย์ทุกคนไม่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย และไม่ควรมีข้อยกเว้นใดๆ ที่ให้ความชอบธรรมกับการละเมิดในลักษณะนี้ เรามารวมตัวที่นี่เพราะล้วนเชื่อในหลักการสิทธิมนุษยชน ว่าไม่ควรมีมนุษย์คนไหนควรได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ดูถูกเหยียดหยามสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการที่สะท้อนในข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เรามี อนุสัญญาต้านการทรมาณฯ ซึ่งถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ โดยได้รับการลงสัตยาบรรณจากทุกรัฐที่เป็นสมาชิก 47 รัฐ สำหรับประเทศที่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับสหภาพยุโรปก็ต้องลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้เช่นกัน เพราะเรามุ่งหวังว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ปลอดการซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม

ทั้งนี้ ในปี 2562 การเมืองไทยมีการพัฒนาเชิงบวก เนื่องจาก กลับเข้าสู้การเมืองในระบอบรัฐสภา สหภาพยุโรปได้ให้ความร่วมมือในหลายด้าน พร้อมสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน การที่เรามารวมตัวกัน หวังว่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงตัวแทนประชาชน (ส.ส.) ว่า การบังคับบุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา

Advertisement

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี กล่าวว่า มี 8 เรื่องมาเล่าให้ฟัง ทั้ง เรื่องของนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาแรงงาน สูญหายไป มีเรื่องที่เกิดเมื่อปีที่แล้ว กรณี คุณสยาม ธีรวุฒิ คนหนุ่มสาวที่แสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ก็สูญหายไปเป็นเวลา 1 ปี กรณีที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่ต้นเหตุมีมายาวนานมาก เป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองของคุณสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งลงเลือกตั้ง และสุดท้ายเลิกราไปอยู่ลาว ยังไม่วายมือของผู้มีอิทธิพลก็ตามไปทำให้คุณสุรชัยสูญหายไป หรือ กรณีของคุณบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ 5 ปีกับการต่อสู้เพื่อสิทธิในถิ่นฐาน สิทธิพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยง ยังดีที่พบกระดูกและดีเอ็นเอ แต่ก็มีการแย้งว่าไม่ใช่ของเจ้าตัว ยังมีกรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ.2545 เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ไปจนถึงสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอื่นๆ เช่น พ่อเด่นคำแหล้ กรณีปฏิรูปที่ดินอีสาน แต่ที่เรามารวมกันในโอกาสนี้ คือกรณีการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร

“16 ปีก่อน คือการเริ่มต้นปะทุ เรื่องความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังดำเนินอยู่ต่อไป ทนายสมชายต่อสู้เพื่อสิทธิ ให้คนที่ถูกกล่าวหา สามารถมีทนายไปสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ด้วยกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม ทำให้ทนายสมชายหายไป ถ้ายังมีชีวิตอยู่ วันนี้เขาจะมีอายุครบ 70 ปี และจะเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมและกระบวนการยุติธรรมได้อีกมาก ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ยืนยันคำกล่าวของตัวเองด้วยชีวิต บุคคลทั้ง 8 เป็นบทเรียนสอนใจให้พวกเราไม่มากก็น้อย”

นายโคทมกล่าวอีกว่า จำนวนผู้สูญหายในไทย ตามที่ สหประชาชาติขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อปี 2562 มี 76 ราย ซึ่งความจริงมีมากกว่านี้ ทั้ง การสูญหายเป็นกลุ่ม เป็นล็อต ซึ่งเกิดขึ้นและสอดคล้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง บทเรียน คือ คนที่ต่อสู้ คนที่รักความเป็นธรรม คนที่ปกป้องสิทธิตัวเองและสิทธิผู้อื่น มักเป็นบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อได้ ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องปกป้อง เยียวยาสังคม และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปราบปรามคนที่ทำให้บุคคลสูญหาย และถึงแม้เราไม่ใช้รัฐ อย่างน้อยขอให้มีความรู้สึกร่วม ลองเอาเท้าของเราไปใส่รองเท้าของคนอื่น ถ้าตาบอด หูหนวก เราต้องเป็นอย่างไร ถ้าคนที่เรารักสูญหายไปจะเป็นอย่างไร ผมไม่สามารถที่จะรู้สึกแทนคุณอังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ ของทนายสมชายได้ แต่ความรู้สึกที่ใกล้เคียงอย่างหนึ่งคือการสูญเสียของแม่ผม ที่สะเทือนใจไม่ใช่เพราะคนที่รักเสีย แต่เพราะหมดโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณท่าน อย่างไรก็ตาม วิธีตอบแทนบุญคุณของคุณสมชาย คือ ครอบครัวทนายสมชายทำในสิ่งที่คุณสมชายอยากทำ นี่คือความรู้สึกที่พอจะถ่ายทอดได้

“การเยียวยาบุคคลสำคัญ แต่อยากเห็นการเยียวยาสังคมในทำนองเดียวกัน จึงอยากเสนอให้ญาติวีรชน รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ก่อน ตั้งเป็น คณะกรรมการญาติผู้สูญหาย จัดงานเชิงรำลึก เชิงสังคม ไม่เฉพาะกรณีทนายสมชาย แต่รวมถึงกรณีอื่นๆ เวียนกันไป โดยอาจเลือกวันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันผู้สูญหายสากลก็ได้

“ตัวแทนสหภาพยุโรปได้พูดถึงกฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ซึ่งมีอยู่ร่างหนึ่งที่กระทรวงยุติธรรมได้ร่างขึ้น แต่ยังไม่ขยับ และอีกร่างหนึ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ยกร่างขึ้นมา และยื่นต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน ของสหประชาชาติ เราต้องการชื่อของท่านหากต้องการสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ท่านจะช่วยให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านได้ไม่มากก็น้อย”

“เรามาร่วมกันระลึกถึงคุณสมชายในวันนี้ เราร่วมกัน เอาใจเราไปร่วมในความทุกข์โศกและความกล้าหาญของคุณอังคณาและลูก เราอยากช่วยกันให้สังคมนี้รักความเป็นธรรมมากขึ้น” นายโคทมกล่าว

จากนั้น เวลา 15.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ความคืบหน้าของกรอบกฎหมายและกระบวนการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย” ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ร่วมฟังเสวนาเพื่ออัพเดตสถานการณ์ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม ผู้ร่วมงานต่างยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา อีกด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image