“ล่ามโซ่” 7น.ศ. เสียงถามหา “สิทธิ”

แฟ้มภาพ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีภาพใช้เครื่องพันธนาการที่เท้าของ 7 นักศึกษา ผู้ต้องขังฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดินทางจากเรือนจำมาขึ้นศาลทหาร ดังอื้ออึงถึงความเหมาะสม

มีเสียงชี้แจงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ที่จริงเป็น “กุญแจเท้า” ไม่ใช่ตรวนอย่างที่วิจารณ์กัน

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ประเด็นการใช้เครื่องพันธนาการผู้ต้องขัง จะไม่ลงรายละเอียดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใด แต่จะให้ความเห็นในหลักการโดยรวม

อันดับแรกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตของนักสิทธิมนุษยชน การประชุมยูพีอาร์ และหลักของข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ทำให้เกิดแนวคิดและถือเป็นโอกาสที่ดี และเหมาะสมที่กรมราชทัณฑ์ จะต้องมีการดำเนินการบางอย่างที่สอดคล้องกับแนวทางและหลักสากล จะมอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ คิดเรื่องของแนวทางปฏิบัติ การใช้ดุลพินิจ

Advertisement

เนื่องจากจะเห็นได้ว่า การใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังนั้น ถึงแม้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2479 มาตรา 14 ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง แต่ยังมีข้อเว้น ได้แก่ (1) เป็นบุคคลน่าจะทำอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น

(2) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตไม่สมประกอบ อันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น (3) เป็นบุคคลน่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม (4) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุม เห็นเป็นการสมควรจะต้องใช้เครื่องพันธนาการ (5) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่าเป็นการจำเป็นต้องใช้เครื่องพันธนาการเนื่องแต่สภาพของเรือนจำ หรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น ภายใต้บังคับอนุมาตรา (4) และ (5) แห่งมาตรานี้

ในวงเล็บข้อต่างๆ ที่กำหนดขึ้นใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ นั้นเป็นเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเพื่อการทำงานที่ชัดเจน และเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกัน จึงเห็นว่าควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ประกอบการใช้ดุลพินิจ ทั้งนี้ในแนวทางดังกล่าว เจ้าหน้าที่

Advertisement

ผู้ปฏิบัติ นักสิทธิมนุษยชน หรือผู้เกี่ยวข้อง ต้องมากำหนดร่วมกันว่า คดีแบบไหน พฤติการณ์ผู้ต้องขังลักษณะใด ต้องใช้เครื่องพันธนาการแบบไหน เพราะเครื่องพันธนาการ ไม่ได้มีแค่ โซ่ตรวน แต่จะประกอบด้วย ตรวน กุญแจมือ กุญแจเท้า และโซ่ล่าม บางคดีร้ายแรง ใช้เครื่องพันธนาการหลายชิ้น ทั้งตรวน กุญแจเท้า

ปลัดกระทรวงยุติธรรมยังบอกด้วยว่า อยากให้สังคมมองหลายมุม ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ต้องทำแบบนั้น ไม่ได้หมายรวมถึงกรณีที่เกิดขึ้น และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุ มีนักโทษบุกทำร้ายผู้พิพากษาถึงหน้าบัลลังก์ มีเหตุหลบหนี ระหว่างนำตัวมาขึ้นศาล พอเกิดสิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้สังคมเข้าใจในส่วนนี้

“การจะพิจารณาว่า คดีไหน นักโทษคนใด ต้องดำเนินการแบบใด ในลักษณะเฉพาะจง คงทำไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ดุลพินิจ แต่ทุกอย่างต้องมีแนว มีหลักปฏิบัติ ต่างประเทศก็มีการดำเนินการแบบนี้ มีการใช้ดุลพินิจ แต่อยู่ภายใต้แนวปฏิบัติที่คิดขึ้นมา เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง การใช้เครื่องพันธนาการเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้เคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ประจานใคร” ปลัดกระทรวงยุติธรรมชี้

ขณะที่ประเด็นเรื่องการเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่มีระเบียบให้เข้าได้ 10 คน โดยผู้ต้องขังต้องระบุชื่อว่าจะให้ใครเข้าเยี่ยม ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า จำกัดสิทธิทั้งของผู้ต้องขัง และญาติมิตรของผู้ต้องขัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม แจงว่า เป็นเรื่องดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำ เช่นกัน แล้วแต่ลักษณะและประเภทของเรือนจำ การเยี่ยมจะเยี่ยมกี่คนก็ได้แล้วแต่สถานที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งเรื่องเวลา เพราะอย่าลืมว่าเรือนจำมีญาติมาเยี่ยมผู้ต้องขังแต่ละวันจำนวนมาก ถ้าหากให้เวลาคนใดคนหนึ่งมากเกินไปจะมีการร้องเรียนเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี กรณีตีตรวนผู้ต้องขัง มีคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 ระบุว่า 1.การใส่ตรวนนักโทษเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีลักษณะเป็นการทรมาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 32 และเป็นการทำให้เสียหายต่อร่างกาย ขัดต่อมาตรา 420 ป.แพ่งและพาณิชย์ 1.การใส่ตรวนขัดต่อปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ข้อ 1,5 กติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7, 10(1) ซึ่งมีผลใช้บังคับในประเทศไทย และขัดต่อกฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 33 แม้ไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่เป็นเอกสารที่สังคมสหประชาชาติเห็นชอบ กรมราชทัณฑ์จึงควรใช้เป็นแนวทางด้วย

3.การอ้างข้อขัดข้องด้านอาคารสถานที่ไม่รัดกุมเพียงพอเพื่อใส่ตรวนผู้ต้องขัง เป็นการแก้ปัญหาไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตกกับผู้ต้องขัง 4.การจำตรวนผู้ต้องขังที่มีโทษประหารชีวิตไว้ตลอดเวลา โดยเห็นว่าเป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนี ตามมาตรา 14(3) โดยไม่ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องขังแต่ละรายว่าหลบหนีหรือไม่ แต่นำเหตุเรื่องโทษประหารชีวิตมาเป็นข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องขังจะหลบหนี ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นการคาดการณ์ของกรมราชทัณฑ์

และ 5.แม้ผู้ฟ้องคดีจะถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ตามคำพิพากษาของศาล แต่เป็นเพียงการสั่งให้ควบคุมหรือจำคุก

หมายถึงการจำกัดอิสรภาพเท่านั้น กรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิจะกระทำการใดๆ แก่เนื้อตัวร่างกายของผู้ฟ้องคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้

ระหว่างอันตรายและการหลบหนีที่เกิดจากผู้ต้องขัง กับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ควรจะให้น้ำหนักกับเหตุผลใดมากกว่า น่าจะถึงเวลาต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image