รายงานหน้า 2 : วิพากษ์ 6 มาตรการป้องโควิด ปิดแต่ไม่จบ-อนาคตวิกฤต

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ออก 6 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Advertisement

โดยปกติเมื่อเกิดอาการไม่สบาย หรือมีอาการป่วยคล้ายโรคไข้หวัด จะไม่สามารถยืนยันได้ทันทีว่า ป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือไม่

แต่ถ้าหากมีการป่วยด้วยโรคโควิด-19 และมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถเดิน วิ่ง ขยับร่างกาย รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ ได้ หรือเกิดขึ้นในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง อายุไม่มาก คนหนุ่มสาว และผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว อาการป่วยก็จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้เล็กน้อย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ กรณีเช่นนี้รับประทานยารักษาโรคอาการเหล่านั้นจะหายไปได้เอง

หากผู้ที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยขณะนี้ ไม่แนะนำให้ไปที่โรงพยาบาล (รพ.) เพราะหากตรวจพบเชื้อ แต่ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย ทางแพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยกลับไปดูแลตนเอง พักผ่อนตามคำแนะนำ เนื่องจากอาการน้อย เชื้อไวรัสหายเองได้

แต่ขณะที่อยู่บ้านจะต้องแยกห้องพัก แยกสิ่งของเครื่องใช้ รักษาระยะห่างกับคนรอบข้าง 2 เมตร เพื่อความปลอดภัย เฝ้าดูอาการตนเอง หากมีอาการป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น หายใจเร็วขึ้นแต่น้อยกว่า 30 ครั้งต่อนาที รู้สึกเพลีย ไม่ค่อยอยากรับประทานอาหาร และมีไข้เล็กน้อยขึ้นไปแล้ว จึงต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาใน รพ.

การพิจารณาผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นผลบวก จะต้องดูควบคู่กับอาการป่วย เพื่อวินิจฉัยรักษา ผู้ป่วยอาการน้อยที่พักอยู่บ้าน ไม่ต้องใช้ยารักษาอะไรเลย รับประทานยาพาราเซตามอลได้ และเมื่อมีอาการจะแพร่เชื้อได้อีก 20 วัน จึงจะต้องแยกตัวเองออกจากผู้อื่นในระยะนี้จนกว่าจะครบ หากมีพื้นที่ในบ้านน้อย จะต้องแบ่งขีดเส้นจำกัดพื้นที่ให้ชัดเจน หากจะเข้าห้องน้ำจะต้องเข้าเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดให้ดี

เนื่องจากมีผู้ป่วยอาการที่ไม่มาก ทำให้ไม่ทราบได้ว่าผู้ติดเชื้อจริงๆ แล้วมีจำนวนมากแค่ไหน หากจะอ้างว่าผู้ติดเชื้อมีไม่มากนั้น ไม่เป็นความจริง

อธิบายได้ว่า เนื่องจากขณะนี้จะต้องมีผู้ติด/รับเชื้อในประเทศไทยจำนวนมากพอสมควร แต่มีอาการเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่ทราบได้ว่าติดเชื้อโควิด-19 จริง มีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัสต่อและอาจจะทำให้มีการแพร่ในวงกว้าง

แต่การแสดงอาการของโรคจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เนื่องจากการติดเชื้อมีลักษณะเป็น “ลูกโซ่” หมายถึง แต่ละโซ่ที่เกิดขึ้น ผู้ที่รับเชื้อจนเกิดอาการและทำให้เกิดมีการแพร่เชื้อนั้น จะมีระยะไม่เท่ากัน แสดงอาการออกมาไม่พร้อมกัน จะค่อยๆ ทยอยออกมาเป็นลูกโซ่และเป็นเน็ตเวิร์ก คือ เครือข่ายกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้น

ถามว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แล้วหรือไม่ อย่างเช่นกรณีที่เกิดในสนามมวย ที่ไม่สามารถหาได้ว่าใครเป็นผู้แพร่เชื้อคนแรก

กรณีนี้ไม่ทราบว่าต้นตอของการแพร่เชื้อ นัยยะหนึ่งคือ เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แล้ว ทุกครั้งเมื่อมีผู้ติดเชื้อทั้งรายบุคคลหรือกลุ่มก้อน จะต้องมีผู้ที่เป็นคนแพร่เชื้อที่อาจจะไม่ทราบว่าได้ไปแพร่เชื้อให้ที่ไหนมาแล้วบ้าง

หากเราบอกว่าคนติดที่สนามมวย ขณะนี้เราตามตัวได้หมด แต่ต้องนึกถึงว่า คนที่นำเชื้อมาให้ที่สนามมวย เขาก็สามารถเดินไปแพร่เกิดเป็นกระจุก เป็นกลุ่มต่างๆ ต่อไปได้

นี่คือที่มาแล้ว แท้ที่จริงแล้วเราอยู่ในภาวะที่มีการแพร่กระจายทั่วไปอยู่แล้ว ผมเห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุว่าการเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศ เนื่องจากประเมินได้จากสถานการณ์การพบผู้ป่วยจำนวนมาก หรือการแพร่ของเชื้อกระจายเป็นวงกว้าง มาตรการส่วนตัวที่ผมได้แนะนำให้มีการปิดเมือง เพื่อให้ประชาชนอยู่บ้าน ทั้งผู้ที่มีอาการมากหรือน้อยเป็นระยะเวลา 20 วัน เป็นสิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งมาตรการนี้ในหลายประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ออสเตรีย และอีกหลายประเทศ

มาตรการของเรายังมีช่องโว่ ถึงแม้จะปิดสถานบริการ แต่คนที่ไปทำงาน ยังเดินทางไปทำงานปกติ ใช้รถโดยสารสาธารณะปกติ ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นยังเหมือนเดิม การปิดสถานที่ เป็นการปิดในกลุ่มใหญ่

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มที่เป็นลูกโซ่ ยังดำเนินแพร่เชื้อต่อไปได้ เพราะฉะนั้นให้ปิดเมืองหมด 21 วัน และภายหลังใช้มาตรการเสริม เช่น รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร การตรวจหาผู้ติดเชื้อใหม่ในกลุ่มและพื้นที่ต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้แพร่กระจายซ้ำสอง หลังจากนั้นเราจะใช้ชีวิตได้ปกติ เริ่มหายใจหายคอได้ เราจะต้องเริ่มต้นศูนย์ใหม่อีกครั้ง อย่างน้อยก็ทำให้ประเทศไทยสะอาดใหม่ และหลังจากนั้นก็คอยควบคุมไม่ให้มันโผล่ออกมาอีก

การที่ประชาชนออกไปนอกบ้าน แล้วรับเชื้อเข้ามา ก็จะเป็นการรับเชื้อเข้าสู่คนในครอบครัวอีก และขณะนี้ปัญหาที่ รพ.พบคือ ผู้สูงอายุเข้ามารับการรักษา แต่ไม่ทราบว่าติดเชื้อมาได้อย่างไร เพราะส่วนใหญ่อยู่แต่บ้าน ไม่ได้ไปสถานที่อื่นๆ

ตอนนี้มันมั่วไปหมดแล้ว เราก็อกสั่นขวัญแขวนแล้วที่ รพ. ตัวเลขของผู้ติดเชื้อยืนยันที่ปรากฏไม่สามารถคาดคะเนจำนวนผู้ติดเชื้อจริงๆ ในประเทศได้เลย และทุกคนที่ได้รับเชื้อ ก็นึกถึงว่าผู้ที่เป็นคนแพร่เชื้อให้ อาจจะไปไหนต่อไหนแล้วก็ได้

ถามว่ากรณีที่มีผู้ป่วยเป็นไข้ไม่สูง ไอ และมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด แต่มีอาการน้อยและรับประทานยาจนหายได้เอง หากหลังจากที่อาการป่วยหายดีและไม่มีอาการป่วยแล้ว แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งมีการตรวจแอนติบอดี้ของเชื้อโควิด-19 ในร่างกายแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก นั่นหมายถึงว่าการป่วยในครั้งนั้นเป็นการป่วยด้วยเชื้อโควิด-19 หรือไม่ กรณีนี้ แสดงว่าเป็นการติดเชื้อโควิด-19 แต่เพียงแค่เชื้อไวรัสนั้นหายเองได้โดยการรับประทานยา เนื่องจากแอนติบอดี้เป็นสิ่งที่ไปต่อสู้กับไวรัสมาแล้ว เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเคยมีการติดเชื้อมา

ทั่วไปผลแอนติบอดี้มี 2 ชนิด คือ 1.การติดเชื้ออย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์ขึ้นไป และ 2.มีการติดเชื้อภายในระยะเวลา 3-5 วัน ดังนั้นการตรวจหาเชื้อ จึงทำให้ทราบว่ามีการติดเชื้อในระยะใด เช่น บางคนมีการติดเชื้อเมื่อ 14 วันที่ผ่านมา หรือมากกว่านั้น กลุ่มนี้โอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก เนื่องจากเชื้อกำลังจะหมดไปแล้ว หรือบางคนอาจจะติดเชื้อในระยะ 3-5 วัน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในการติดเชื้อระยะ 3-5 วัน จะต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองอยู่ในบ้านจนกว่าจะครบ 14 วัน

ยืนยันว่าเชื้อโควิด-19 สามารถหายได้เองในร่างกาย 100% ในผู้ที่มีอาการป่วยน้อย แต่ถ้ามีอาการมาก เชื้อนี้จะแพร่ให้กับผู้อื่นได้ และการแพร่เชื้อของโรคยังเป็นเพียงการสัมผัสสารคัดหลั่ง ไม่ใช่การแพร่ทางอากาศ แต่จะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการของคลินิกทำฟัน ที่มีการดูดละอองฝอยในช่องปาก รวมถึง รพ.ที่มีการดูดสารคัดหลั่ง ดังนั้นแพทย์จึงต้องใช้ห้องความดันลบ ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณเพียง 100 กว่าห้องเท่านั้น ซึ่งรองรับผู้ป่วยไม่ได้ นี่คือเหตุผลสำคัญที่อยากให้ปิดบ้าน

มาตรการของรัฐบาลที่สั่งการให้ปิดสถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว หรือแหล่งที่มีคนเข้าไปรวมตัวกันมากๆ และอื่นๆ ใช้เพื่อจิตวิทยาเพื่อให้ประชาชนไม่ไปในสถานที่ต่างๆ และเพื่อไม่ให้ตัวเลขมันพุ่งสูงในแต่ละวัน

แต่หลังจากนี้ จะมีการรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกวัน และก็จะไม่สามารถทราบได้ว่ามาตรการ การปิดสถานบริการใหญ่ระยะเวลา 14 วัน จะต้องปิดไปอีกนานแค่ไหน อาจจะต้องปิดต่อเนื่องไปอย่างไม่รู้จบ และไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร อาจจะต้องปิดต่อเป็นปี

มาตรการนี้เป็นการแก้ไขที่ได้เพียงบางจุด แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้จุดจบที่เราเข้าใกล้ชีวิตประจำวันจะอยู่เมื่อไร เชื้อไวรัสก็อยู่ในสถานที่ได้ หากมีผู้ที่ติดเชื้อเข้าไป แต่สิ่งที่ต้องทำคือ การดูแลคนไม่ให้รับเชื้อ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

มาตรการนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันการระบาด อย่าลืมว่าการสั่งปิดสถานบันเทิง งดการเรียนการสอน งดการชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าการระบาดหรือการเคลื่อนย้ายของผู้คนจะไม่เกิดขึ้น เพราะการทำงานส่วนต่างๆ ยังคงอยู่

ดังนั้น กระบวนการแก้ปัญหาเท่านี้ไม่เพียงพอ โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเกิดความตื่นตระหนกคือรัฐบาลไม่สามารถฉายภาพอนาคตประเทศไทยให้เห็นได้ เช่น หากเกิดการระบาดอย่างกว้างขวาง หรือเข้าสู่เฟส 3 นั้น รัฐบาลมีมาตรการใดมา
รองรับบ้าง มีจำนวนแพทย์เท่าไหร่ มีโรงพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์เพียงพอหรือไม่ รวมทั้งวิธีการจัดการจะเป็นอย่างไรบ้าง จะเห็นว่าเราไม่เคยได้ยินสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน แม้ในระยะหลังจะเห็นหลายๆ มาตรการที่หยิบเอาเครื่องมือมาใช้ เช่น แอพพลิเคชั่น ระบบแฮกเกอร์ตรวจสอบติดตามผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง แต่กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นโดยภาคเอกชนเป็นหลัก ภาครัฐเดินตาม

ท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่เห็นมาตรการต่างๆ มากไปกว่าการสั่งปิดสถานที่จำนวนหนึ่ง จึงอาจทำให้ความเชื่อมั่นของคนยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ลำพังเพียงแค่การปิดสถานที่คงไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหา แต่ยังต้องมีอีกหลายมาตรการสร้างความเชื่อมั่น อีกทั้งสิ่งที่ภาครัฐแถลงควรตรงกับสิ่งที่ประชาชนพบเจอ เช่น หน้ากากอนามัยที่แถลงว่าชิ้นละ 2.50 บาท ความจริงแล้วมีปริมาณหน้ากากอยู่เท่าไหร่ กระทั่งการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่ประชาชนได้ประสบพบเจอความจริงกลับไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ฟังจากรัฐ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดข้อสงสัยมากมาย จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความชอบธรรมของรัฐบาลในระยะยาว

วันนี้การเข้าสู่หลักที่ทุกคนเข้าถึงได้เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ชุดตรวจโรคที่ใช้เวลาไม่นานและประชาชนตรวจเองได้ ควรกระจายไปสู่ประชาชน เพราะหากย้อนไปดูเมื่อครั้งลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มีการแจกร่างรัฐธรรมนูญและสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 17 ล้านครัวเรือน รัฐยังทำได้ แต่ทำไมครั้งนี้ถึงแจกชุดตรวจโรคให้ประชาชนไม่ได้ ดังนั้น การปิดเพียงแค่สถานที่จึงเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ที่สำคัญคือต้องไม่ปิดแบบเฉยเปล่า เพราะถ้าเป็นเช่นนี้คงไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะขณะที่ปิดสถานที่อยู่นั้น รัฐบาลควรให้แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนพูดคุยกัน เพื่อเตรียมความพร้อม กระทั่งเตรียมคลีนโซนไว้ให้กับชุมชนแต่ละแห่ง เพื่อช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้คนหยุดอยู่บ้านอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม หากแต่ละชุมชนพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ ก็เป็นเรื่องดี แต่วันนี้เรายังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย ที่เห็นมีเพียงบางหน่วยงานหยุดงาน ทำงานที่บ้าน แต่ยังไม่ได้ยินคำแนะนำต่างๆ จากรัฐว่าให้แต่ละชุมชนเตรียมความพร้อมอย่างไร แม้แต่การกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาก็ยังไม่เห็น กลายเป็นว่าทุกอย่างติดอยู่บนพื้นฐานที่เราอาจเรียกว่าระบบราชการ เนื่องจากปัญหาพื้นฐานของระบบราชการคือการควบคุม สั่งการ การบังคับบัญชา กฎระเบียบ งบประมาณ รวมทั้งรอการสั่งการจากยอดพีระมิดลงมาก่อน โดยสิ่งเหล่านี้ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งหมด

เดิมทีเรามีศูนย์ที่กระทรวงสาธารณสุข ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตอนนี้เรามีศูนย์พิเศษที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ภาวะรวมศูนย์เหล่านี้เข้มข้นขึ้น ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การสั่งการของนายกฯ กลับกลายเป็นว่าเราเห็นบทบาทการสั่งการของนายกฯน้อยมาก อีกทั้งการแถลงข่าวที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ วันนี้จึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจลงสู่ชุมชน รวมทั้งใช้กลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกัน

การแก้ปัญหา ณ วันนี้ควรทำอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยมีการประเมินข้อมูลต่างๆ เป็นระยะ เช่น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะทำอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจน ที่สำคัญคือภาครัฐต้องฉายภาพอนาคตประเทศไทยให้คนเห็นให้ได้ แล้วความเชื่อมั่นจะกลับมา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image