กม.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว ยกระดับป้อง‘โควิด-19’

หมายเหตุ ความคิดเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองต่อข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิว เป็นมาตรการเข้มข้นป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

วิรัช รัตนเศรษฐ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

ADVERTISMENT

การบริหารราชการของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับชิดชอบการแก้ไขปัญหานั้น ในขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในส่วนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลถือว่ามีมาตรการการรับมือและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปตามลำดับความรุนแรงของสถานการณ์ โดยเฉพาะบุคลาการทั้งทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ถือว่ามีความชำนาญและความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการติดเชื้อโควิด-19

ในส่วนของวิปรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล มั่นใจว่าข้อมูลและข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคง เชื่อว่านายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนในการตัดสินใจที่จะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ในการแก้ปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งการปิดเมือง การยกระดับในด้านกฎหมายเพื่อควบคุมการเดินทางของประชาชนเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ตรงนี้จะเป็นดุลพินิจของนายกฯที่จะต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์

ADVERTISMENT

ขณะนี้ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลต่างพร้อมใจกันให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 กับรัฐบาล ทั้งการปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศของหน่วยงานรัฐ อย่างการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาจะยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะจะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะให้สมาชิกมาร่วมตัวกัน และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นด้วย เวลานี้จึงขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ
โควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายอื่นๆ และประชาชนควรให้ความร่วมมือต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลด้วย

วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.)

เห็นด้วยกับแนวคิดการใช้กฎหมายพิเศษในประเทศไทยเพื่อมีมาตรการยับยั่ง ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเอาไม่อยู่แล้วด้วยวิธีธรรมดา ดังนั้น การใช้กฎหมายพิเศษเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์นอกเหนือจาก พ.ร.บ.ป้องกันโรคติดต่อ เมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินจะได้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ใช้ความมั่นคงเป็นหลัก พร้อมทั้งต้องใช้กฎหมายให้เข้มข้น เจ้าหน้าที่ต้องมีมาตรการในการติดตาม หากใช้กฎหมายพิเศษหรือมาตรการพิเศษแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ติดตามก็จะไม่ช่วยอะไรเลย ต้องมีมาตรการคัดกรองการอนุญาตให้ประชาชนออกไปจ่ายใช้สอยหรือซื้อของกินได้อย่างไรให้ชัด จะให้ร้านเปิดขายได้อย่างไรนั้นรัฐบาลต้องกำหนดกฎเกณฑ์ และมีเจ้าหน้าที่ติดตามผลและดูแลให้ประชาชนสามารถปฏิบัติได้

เมื่อถึงสถานการณ์อย่างนี้แล้วประชาชนทุกคนต้องเสียสละเพราะโควิด-19 ขยายการติดต่อไปรวดเร็วจากความใกล้ชิด เช่น กรณีในสนามมวยกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปทั่วประเทศ ทำให้มีการขยายไปค่อนข้างจะเร็ว ดังนั้น หากรัฐบาลออกกฎหมายพิเศษเพื่อป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ประชาชนทุกคนจะต้องเสียสละ อยู่บ้าน ห้ามเดินทางไปไหนโดยไม่จำเป็น หากจะออกเดินทางต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับรองแพทย์ ดังนั้น หากออกกฎหมายแล้วไม่เข้มข้นมันก็จะไปเรื่อย เราไม่อยากให้เป็นแบบประเทศต่างๆ ที่เขาเริ่มขยายวงกว้างและเป็นหนักอยู่ขณะนี้ วิธีการป้องกันให้ดีที่สุดคือให้ประชาชนไม่ไปกลายเป็นตัวสื่อถึงคนอื่น ให้อยู่ในที่จำกัด ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องป้องกัน ส่วนกรณีผู้ว่าฯกทม. ออกมาตรการปิดห้างไม่รวมร้านสะดวกซื้อหรือตลาดของสดนั้น ผมเห็นด้วยจะได้เป็นการป้องกัน แต่ขอประชาชนอย่ากักตุนสินค้าให้ซื้อแบบพอมีพอกินเท่านั้น ถือเป็นการประหยัดไปในตัวด้วย

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ตอนนี้เรามีการตั้งคณะกรรมการแต่ละจังหวัด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อยู่แล้ว ทั้งนี้ เมื่อดูในมาตรา 35 จะพบว่าอำนาจของคณะกรรมการในการควบคุมนั้นเพียงพอแล้ว โดยสิ่งที่ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมี แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่มี เช่น การให้คนเข้ามารายงานตัว หรือให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมาย

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องประกาศในสภาวะฉุกเฉินจริงๆ ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะอำนาจในการสั่งปิดต่างๆ มีอยู่ใน พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งหรือการป้องกันก็จะมีอำนาจบางอย่างที่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังไม่ชัดเจน เช่น การล็อกดาวน์ เหมือนที่ฝรั่งเศสหรืออิตาลีทำ จึงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ต้องยอมรับว่าที่สถานการณ์เป็นแบบนี้เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่มีเสียงข้างมากในสภา เพราะหากย้อนกลับไปดูสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเหตุการณ์สึนามิ
ได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ เพราะคุณทักษิณมีเสียงข้างมากในสภา แต่ขณะนี้หากดูการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่จัดการโรคระบาดจะพบว่ากระทรวงพาณิชย์ก็ไปทางหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขก็ไปทางหนึ่ง การทำงานของทั้ง 2 กระทรวงไม่ได้สอดประสานกัน 100 เปอร์เซ็นต์ เห็นได้ว่าปัญหาคือเรื่องการเมืองล้วนๆ เนื่องจากกระทรวงเหล่านี้คุมโดยพรรคร่วมรัฐบาล

นี่เป็นปัญหาของรัฐบาลที่ไม่มีเสียงข้างมากในสภา จึงไม่สามารถคุมนโยบายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ณ ตอนนี้ไม่มีมาตรา 44 ในมือใช่หรือไม่ ทว่ายังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย 3 พรรคเล็กเสนอเข้ามา เพียงแต่ก็ต้องอาศัยพรรคร่วมอยู่ดี ผิดกับสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้ตอนน้ำท่วม เพราะเขาก็มีเสียงข้างมากในสภาเช่นกัน สามารถทำได้ แต่สำเร็จหรือไม่ก็ว่ากันอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เรื่องโรคระบาดแบบนี้ก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน

ส่วนตัวเห็นด้วยกับ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 100 เปอร์เซ็นต์ เรารู้อยู่แล้วว่าโรคนี้ติดต่อง่ายมาก และไม่รู้ว่าใครเป็นพาหะ อย่างคณะกรรมการจังหวัดที่อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ประกาศปิดสถานที่ราชการบางแห่ง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่ก็มีจุดอ่อนคืออำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ขาดความเด็ดขาด ไม่เหมือนกฎหมายฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี ด้วยโรคนี้เราจะหวังให้รัฐบาลทำ
อย่างเดียวไม่ได้ ในเมื่อเราก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นพาหะหรือไม่ ดังนั้น การเก็บตัวเองอยู่บ้านจึงเห็นด้วยทั้งหมด และการล็อกดาวน์ 14 หรือ 21 วันก็เห็นด้วย
เต็มที่

ถ้าไปดูคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานควบคุมโรคเขาสั่งปิดมหาวิทยาลัยแล้ว แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องไปมหาวิทยาลัยอยู่ แม้จะไม่มีสอนก็ตาม ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีประกาศจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่าให้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด หลายคนมองว่าเขาไม่ได้สั่งปิด แต่ไม่ใช่ โดยประกาศนี้ไม่ได้พูดถึงการเปิดหรือปิดสถานที่ราชการ แต่หมายถึงวิธีการทำงานว่าให้ทำแบบนี้ ฉะนั้น จึงมีคำสั่งทางกฎหมายที่พิเศษกว่าว่าให้ปิดคือต้องปิด โดยการปิดสถานที่ราชการหรือมหาวิทยาลัยนั้นต้องปิดสถานที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ต้องทำงาน คนละความหมายกัน เพราะเป็นการ Work from Home ก็ได้

ท้ายที่สุดแล้วอยากให้รัฐบาลใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุด อย่าก้ำกึ่ง เพราะปัจจุบันนี้เหมือนครึ่งบกครึ่งน้ำ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันก็สูงขึ้นทุกวัน ขอให้เชื่อหมอที่เป็นที่ปรึกษา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image