09.00 INDEX: ความผิด มาตรการ Lock Down ละเมิด กฎแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท”

ปรากฏการณ์ที่ผู้คนไปแออัดยัดเยียด ณ สถานีขนส่งจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคน เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม คือ รูปธรรมแห่งความสำเร็จ จากมาตรการ Lock Down อันทรงพลัง

แต่จะเป็นความสำเร็จตาม “เป้าหมาย” ที่กำหนดไว้หรือไม่ ยังน่าสงสัย

เพราะไม่ว่าแถลงจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าแถลงจาก นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป

มิได้ต้องการให้ประชาชน “แห่” กันออกจากกรุงเทพมหานครกระทั่งสถานีขนส่งแทบแตกแบบนั้น หากแต่ต้องการให้ทุกคนอยู่นิ่งกัก ตัวอยู่กับบ้าน

Advertisement

นี่คือเจตนาที่ไม่ขาดเอกภาพกับผลของมาตรการ “เข้ม”

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาจากสมมติฐานที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ใน กทม. การ Lock Down กทม. 3 สัปดาห์

“เพื่อต้องการให้ทุกคนอยู่นิ่ง” เป็นประกาศจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล

Advertisement

กระนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็อาจจะ “พลาด”

พลาดตรงที่ 1 ไม่เข้าใจองค์ประกอบของคนที่เข้ามาอยู่ใน กทม.ซึ่งจำนวนหนึ่งมิได้เป็นคน กทม. หากแต่เป็น “แรงงาน” ทั้งจากต่างจังหวัดและจากประเทศเพื่อนบ้าน

พลาดตรงที่ 1 เมื่อใช้มาตรการ Lock Down โดยไม่มีมาตรการรองรับ พวกเขาย่อมตกงาน ย่อมไม่มีรายได้ การอยู่นิ่งๆ ใน กทม.โดยไม่มีรายได้จึงเป็นอันตราย

เป็นอันตรายพอๆ กับต้องติดเชื้อไวรัสโควิด-19

มาตรการ Lock Down ครั้งนี้ไม่ว่าจะมาจากสมองก้อนโตของใครในรัฐบาล ในกระทรวงสาธารณสุข ในหมู่บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยทางการแพทย์

แต่ได้มองข้ามหลักแห่งอิทัปปจยา อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งปฏิจจสมุปมาท อันเป็นกฎแห่งการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญ

นั่นก็คือ มองสรรพสิ่งอย่างหยุดนิ่ง อย่างสถิต ไม่เห็นพลวัต

มองเห็นประชาชนใน กทม.หยุดนิ่ง มองเห็นประชาชนใน กทม.อย่างมิได้เริ่มต้นจากสภาพความเป็นจริง

จึงก่อให้เกิดสภาพการณ์ใหม่อันอยู่เหนือความคาดคิด

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image