ผู้ว่าฯสตง. เปิดหมดเปลือก ปมสอบ ‘ราชภักดิ์’ ภาษาชาวบ้านคือ ‘รับค่าตอบแทนมาบริจาค’

หมายเหตุ – นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล อาทิ อุทยานราชภักดิ์-สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

คดีที่เป็นประเด็นร้อนที่ สตง.กำลังสอบอยู่ ร้อนที่สุดคือเรื่องราชภักดิ์ เรื่องงบ 20 ล้านบาทโรงหล่อ สรุปเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับการตรวจสอบของ สตง. อยากจะปูพื้นให้เห็นภาพรวมทีละขั้นตอนว่า สิ้นปีงบประมาณ สตง.ต้องตรวจทุกส่วนของราชการว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ซึ่งงบกลางในส่วนของกองทัพ พบว่ามีงบกลางอยู่ยอดหนึ่งที่ยอดกลาง 63 ล้านบาท บังเอิญจังหวะนั้นเป็นข่าวว่าได้มีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เราก็เข้าไปตรวจสอบ เป็นเรื่องตรวจสอบปกติและพบว่าไม่มีอะไรที่ผิดปกติ อาจจะมีความไม่ประณีตเรียบร้อยอยู่ในระหว่างงานแก้ไขได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือผิดปกติใดๆ

นอกจากนี้ ไปตรวจเรื่องเงินกองทุนที่มีข่าวบอกว่ามีคนบริจาคบ้าง สตง.เข้าไปตรวจสอบตามปกติ ได้รับความร่วมมือให้ตรวจสอบในหลักฐานรายละเอียดการรับเงิน สตง. พบว่าการรับเงินบริจาคมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างในโครงการนี้ สมทบกับงบกลางซึ่งน่าจะไม่พอ เพราะว่าโครงการนี้ใหญ่มาก งบกลางแค่ทำเรื่องพื้นฐาน แต่งานหนักจะเป็นพวกพระรูปหล่อซึ่งใหญ่โตมโหฬาร แบบนี้ค่าใช้จ่ายคงเยอะ ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องบริจาค เมื่อเราไปตรวจเงินบริจาคมีเปิดรับเป็นบัญชีให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบ ร่วมบริจาคเข้าไปในบัญชี หากต้องการใบเสร็จสามารถไปขอได้ มีการออกใบเสร็จไว้พร้อมเสมอ สำหรับคนที่บริจาคเข้าบัญชีขอรับได้

Advertisement

อีกส่วนหนึ่งมีออกรายการทางสถานีโทรทัศน์ เราเก็บหลักฐานตรงนั้นมาเทียบกับการรับเงินเข้าบัญชีการออกใบเสร็จรับเงิน ทุกอย่างตรงกันหมด ยังไม่มีประเด็นอะไรเลย ซึ่งรายรับในขณะนี้มีการปิดบัญชีไปแล้วส่วนหนึ่ง เหลือเพียงแค่บัญชีหลักบัญชีเดียวเอาไว้ คือรวมศูนย์บัญชีเดียวจะได้ไม่กระจาย หลักฐานดูจากการจ่ายเงิน จ่ายเงินงบประมาณ เราก็ดูแล้วไม่มีปัญหา รายจ่ายหลักๆ ที่เป็นข่าวและมีประเด็นข้อสงสัย เราก็เคลียร์ไปทีละประเด็นว่ามีหลักฐานอะไรถูกต้องหรือไม่ เช่น ค่าปลูกต้นไม้ ที่ว่ามีซื้อต้นไม้แพงจริงหรือไม่ ต้นไม้มีคนบริจาคมาทำไมต้องไปซื้อ แต่พอตรวจสอบเข้าไปจริงๆ มันไม่มีการซื้อต้นไม้จริง มีแค่ที่สวนนงนุชบริจาคมา ส่วนต้นไม้ที่ไปติดชื่อคนไม่ได้แปลว่าคนที่มีชื่อเขาไปซื้อต้นไม้มา แต่เป็นคนบริจาคเงินแล้วก็ได้ชื่อไปติดไว้ตรงต้นไม้ ก็ไม่ได้มีเรื่องเสียหายอะไรส่วนนั้น

ตอนนี้ก็เหลืออย่างเดียวคือ เรื่องจ่ายเงินหล่อองค์พระรูป มี 6 โรงหล่อ รวมแล้ว 7 พระรูป มีโรงหล่อหนึ่งได้ 2 พระรูป รวมทั้งหมด 7 พระรูป จำนวนเงิน 318 ล้านบาท มีการจ่ายเงินและมีการติดตามตรวจสอบ ขณะเดียวกันมีการบริจาคมาจากโรงหล่อ 5 แห่ง เป็นคนมีชื่อ มีหลักฐานว่าบริจาคเงิน คนละ 3 ล้านบาทบ้าง 4 ล้านบาทบ้าง คิดแล้วประมาณ 10% ของค่างานโดยประมาณ แต่เอามาบริจาคในนามของ 5 โรงหล่อ สตง.ดูหลักฐานต่อไปว่าเงินยอดนี้มาจากแหล่งไหน เพื่อจะดูว่ามาจากเงินที่ได้ มาจากรายได้ของเขาแล้วมาบริจาคอย่างไร หรือไม่

ดูแล้วปรากฏว่าเงินทั้งหมดมาจากโรงหล่ออีกโรงหล่อหนึ่ง มีงานที่เกี่ยวข้องเป็นลักษณะเป็นที่ปรึกษาของโครงการนี้ ได้เอาเงินมาบริจาครวมแล้วในนามของ 5 โรงหล่อ รวมแล้ว 20 ล้านบาทจริง

Advertisement

เงินจำนวน 20 ล้านบาทนี้มีคนไปเข้าใจว่าเป็นค่าหัวคิว แต่จากการพิสูจน์โรงหล่อที่ชื่อ “สยามปุระ” เราค้นดูตรวจสอบหลักฐานข้อเท็จจริง พบว่าทางเจ้าของสยามปุระมีบทบาทตั้งแต่ออกแบบ ดำเนินงานวางผัง มีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายที่รับงาน ทีนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า พระรูปองค์หนึ่งราคาอาจจะตกองค์ละ 60-70 ล้านบาท แต่ทำไมจริงๆ รับงานเหลือแค่ 45 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่าตอนการที่ลดราคาลง มีส่วนมาจากบทบาทของทางโรงหล่อสยามปุระ คล้ายๆ เป็นคนประสานงาน แล้วทำให้ราคาลดลง

อันนี้คือข้อเท็จจริงอันหนึ่งและเป็นครั้งแรกที่ผมพูดข้อเท็จจริงนี้ออกมา

สตง.พยายามค้นหาข้อเท็จจริง แต่ความจริงก็อย่างที่ปรากฏว่าเงินที่บริจาคผ่านทางสยามปุระ กลับมาเข้าเงินกองทุน ถ้าคิดว่าเงินส่วนนี้เป็นส่วนลด ก็ช่วยทำให้ 318 ล้านบาท ลดลงมา 20 ล้านบาท จะเหลือ 290 กว่าล้านบาท ถ้ามองในแง่นี้จะเรียก 20 ล้านบาทว่าค่าหัวคิวอาจจะยังไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเรียกภาษาชาวบ้านคือว่า คนนี้รับค่าตอบแทนมาจากโรงหล่อ 5 แห่ง แล้วนำมาบริจาค ตามหลักฐานมันเป็นแบบนั้นจริงๆ

ส่วนจะตัดสินขั้นสุดท้ายอย่างไรนั้น ขอตรวจสอบให้ชัดเจนกว่านี้อีกหน่อย ตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สอบถามทางโรงหล่อ ส่วนทางผมกำลังดูในแง่หลักฐานการเงิน เพื่อจะมาร่วมหารือกันว่าสุดท้ายแล้วข้อสรุปเห็นตรงกันหรือไม่ อย่างไร ตอนนี้เท่าที่ประมวลได้ 20 ล้านบาทนี้ มาจากสยามปุระ นำมาบริจาคในนาม 5 โรงหล่อ ซึ่งมาจากเงินที่สยามปุระ ซึ่งเป็นตัวแทนไปให้คำปรึกษาในขั้นตอนต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องหารายละเอียดมาตกผลึกให้ได้

ผมคิดว่าอีกไม่นาน อย่างที่บอกไว้ว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะสรุปให้เห็นภาพความจริงว่าเป็นอย่างไร มีหัวคิวหรือไม่ หรือจะเรียกว่าหัวคิวหรือไม่ อย่างไร ก็ต้องพิจารณาต่อไป

กรอบเวลาสิ้นเดือนมกราคม 2559 ที่กำหนด ทิศทางคดีจะออกมาอย่างไร

ตราบใดที่ยังไม่สิ้นสุด ผมไม่อยากสรุป แต่ได้เล่าข้อเท็จจริงเพื่อคิดว่าทางสื่อจะช่วยสะท้อนออกไปตามข้อเท็จจริงนี้ อีกทั้งเราอยากจะรับฟังความคิดเห็นจากสังคม ในฐานะคนตรวจสอบ เราเห็นข้อแตกต่างจากสิ่งที่เราตรวจมาในอดีต เราเคยตรวจแต่เรื่องเงินทอนที่ทอนแล้วหายไปเลย แต่นี่เป็นหัวคิวแล้วกลับมาบริจาค อยากให้รับฟังข้อเท็จจริงเหล่านี้และช่วยกันวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง ผมจะพยายามสะท้อนข้อเท็จจริงออกไปเพื่อสังคมจะได้นำไปประกอบการพิจารณา สุดท้ายเราจะตอบด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมด

ต้องมีการเชิญผู้ประสานงานอย่างเซียนพระ อ. เข้ามาให้ข้อมูลหรือไม่

เราได้เชิญมาแล้วและได้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาเรียบร้อยแล้ว ขอเอามาวิเคราะห์ดูก่อน แต่ผมคิดว่า จากข้อเท็จจริง เราจะไม่รับฟังแต่สิ่งที่เซียนพระคนดังกล่าวพูดเท่านั้น แต่เราต้องดูบริบทสิ่งแวดล้อมด้วยว่าเจอกันแล้วจะฟังความได้อย่างไร แต่จากหลักฐานเราต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่า สยามปุระหรือเซียนพระคนนั้นได้มีบทบาทอยู่เกือบตลอด ไม่ใช่เดินไปเดินมา แต่มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกแบบ วางผัง และการแก้ปัญหาต่างๆ ในระหว่างการหล่อ แต่ประเด็นองค์พระรูปแพง เราตัดประเด็นนี้ออกไป เพราะเมื่อดูจากราคาตั้งต้นคือ 60-70 ล้านบาท แต่ทอนไปเหลือเพียง 40-45 ล้านบาท เมื่อใช้หลักวิชาการก่อสร้างถอดแบบดูแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่รายงานมาว่าแพง ผมสั่งไปแล้วว่าถ้าแพงให้รีบบอก แต่ดูแล้วก็ยังไม่ได้มีอะไรที่เกินเกณฑ์ปกติ

มีจุดไหนที่ยังมีข้อสงสัยหรือค้างคาใจหรือไม่

ในทางตรวจสอบ เราหายสงสัยแล้วเพียงแต่ต้องการความจริงนี้ให้ประชาชนไปช่วยกันดู แล้วเราจะได้มาตอบคำถามร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วเป็นเรื่องเลวร้ายหรือไม่

ผลสอบจะออกมาคล้ายๆ กับของทางกระทรวงกลาโหมหรือไม่ ว่าไม่พบว่ามีการทุจริต

ขณะนี้ผมตอบท่านได้เลยว่า ที่เราตรวจมา การที่กองทัพไปรับเงินบริจาคมา กองทัพทำตามกระบวนการ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ มีการลงรับเข้าบัญชีทุกอย่างถูกต้อง ดั้งนั้นในส่วนของการรับบริจาคเงินจำนวน 20 ล้านบาทนี้ไม่น่าจะผิด ส่วนงบกลางอะไรต่างๆ กระบวนการขั้นตอน วิธีการที่มาสนับสนุนงบประมาณก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร การใช้จ่ายจะต้องมีหลักฐาน สตง.ตรวจสอบไปตามหลักฐาน การรับปกติ มีหลักฐานลงรับ ไม่น่าจะมีเงินรั่วไหลเลย ผมเรียนว่าเรายังเชื่อมั่นในระบบการทำงานของทางกองทุน โดยต่อมาเป็นมูลนิธิแล้ว ซึ่งตรงนี้อีกหน่อยทาง สตง.อาจจะขอปวารณาตัวเป็นผู้สอบบัญชีเพื่อดูแลตรงนี้ให้กับมูลนิธิด้วย เท่ากับดูแลแทนประชาชนด้วยส่วนหนึ่ง

ยืนยันว่าเงินรับบริจาคนั้นไม่มีอะไรที่เสียหาย แต่ปัญหาคือว่า ตอนที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายก่อนที่จะนำมาสู่การบริจาค ตรงนี้มีอะไรผิดปกติหรือไม่ พอรับได้มากน้อยแค่ไหนที่เราจะไปเรียกเอาหรือถือว่าเป็นหัวคิวหรือเปล่า

คดีอื่นอย่างเช่นเรื่อง สสส.

นับแต่ที่มีการตรวจสอบย้อนไปตั้งแต่ในอดีต สตง.พยายามสะท้อนปัญหา ข้อแนะนำให้ สสส.เพื่อให้นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกระบวนการที่จะให้เงินของ สสส.ออกไปสู่การใช้จ่าย สตง.มีการตั้งประเด็นเรื่องวิธีการหักภาษีบ้าง เรื่องการทำสัญญาบ้าง ฯลฯ เพื่อสร้างความกระจ่างชัด จนมาถึงยุคที่มีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) นำเข้าไปสู่กระบวนการของ คตร. มีหลายส่วนที่ทาง คตร.เห็นพ้องกับ สตง.ว่ามีความไม่รัดกุมเหมาะสม ทั้งนี้ แม้จะมีกฎหมายที่บอกว่าให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสมตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี จึงเป็นที่มาของปัญหา คือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย หรือหากปรับเปลี่ยนกฎหมายไม่ได้ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อที่จะเปิดช่องให้มีการปรับเปลี่ยนทั้งตัวบุคคลและกฎหมายได้

ขณะนี้ก็อย่างที่ทราบคือ มีการใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น แต่ไม่ได้สามารถแก้ไขได้หมดทุกอย่างทันที เบื้องต้นก็ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลได้เพื่อเปิดช่องให้มีการสรรหา ซึ่งเราอย่าไปกลัวว่าทหารจะเอาพวกตัวเองมา สิ่งเหล่านี้สังคมตรวจสอบได้ และต่อจากนี้เราอาจจะต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เอาคนที่มีประโยชน์ทับซ้อนเข้ามา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้คงรอให้เข้าสู่การปรับแก้กฎหมายและตัวบุคคลเพื่อให้งานเดินหน้าต่อไป ในเมื่อตัวเลขภาษีบาปเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วเราใช้เงินเป็นหมื่นล้าน ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการที่จะเอาภาษีตรงนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มองค์กรจำนวนหนึ่งเท่านั้น การรณรงค์ที่ผ่านมาเหมือนกับเป็นเพียงอากาศ ผลที่บอกว่าจะไปถึงส่วนรวมนั้นอ้อมมาก อ้อมจนบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราได้ประโยชน์อะไร

ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพิ่มอำนาจให้ สตง.ในการให้คำแนะนำต่อรัฐบาล จะมีผลต่อการบริหารของรัฐบาลหรือไม่

เรามีข้อคิดเห็นที่เสนอไปยัง กรธ.ส่วนหนึ่ง โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลา สตง.ตรวจสอบบัญชีทางการเงินแล้วบังเอิญไปพบเรื่องทุจริต เราต้องส่งหลักฐานต่างๆ ที่ได้มาต่อไปยังพนักงานสอบสวน ถ้าลดขั้นตอนโดยการส่งไปยังพนักงานอัยการได้จะรวดเร็วขึ้น ส่วนการออกแบบของ กรธ.ในเรื่องการให้คำแนะนำรัฐบาลนั้น ท่านคงได้ตระหนักว่า ที่ผ่านมาในหลายๆ รัฐบาลแม้องค์กรอิสระอย่าง สตง.จะมีหนังสือแจ้งเตือนแล้ว ก็ไม่รับฟัง ปล่อยปละละเลยจนก่อให้เกิดความเสียหาย จน ป.ป.ช.ต้องมาบอกว่าตอน สตง.เตือนคุณทำไมไม่ฟัง จึงเป็นข้อที่ตกผลึกว่าหากให้องค์กรตรวจสอบผนึกกำลังกัน เป็นแนวทางที่ดี ซึ่งถ้าเห็นตรงกันในทิศทางเดียวกันว่านโยบายนี้รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายควรจะต้องรีบป้องกันระงับไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นคงจะเดินหน้าต่อไปแล้วก็เกิดความเสียหาย แบบนี้เป็นประโยชน์ อย่าไปมองว่าเป็นการขัดขวางการทำงานของคนที่เป็นตัวแทนของประชาชน

เราต้องถามประชาชนเจ้าของเงินแผ่นดินก่อนว่า ถ้าคุณเลือกเขามาแล้ว เขาจะใช้จ่ายเงินอีลุ่ยฉุยแฉก คุณยังจะอยู่เฉยๆ ไหม แม้คุณจะไม่ออกมาเคลื่อนไหว แต่องค์กรอิสระที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนเขาจะเป็นตัวแทนของประชาชนที่จะออกมาบอกกับฝ่ายบริหารที่จะใช้เงินเหล่านั้น เป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดความเสียหาย ดีกว่าปล่อยให้เกิดความเสียหายแล้วมาเอาผิดกันทีหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image