รายงานหน้า 2 : ข้อเสนอสู้‘โควิด’ระบาด ช่วยไทยฝ่า‘มหาวิกฤต’

หมายเหตุข้อเสนอจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา และ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการ ถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง

นโยบายมาตรการที่เสนอนี้อยู่บนพื้นฐานของการมองเห็น จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประกอบการใช้แนวความคิดว่าในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต้องเตรียมรับกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

Advertisement

1.ปิดประเทศ มีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศ การปิดพรมแดน การห้ามเข้าประเทศ โดยไม่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศทุกประเทศเข้าประเทศไทย ยกเว้นกรณีจำเป็นยิ่งยวด เช่น เจ้าหน้าที่ทางการทูต องค์กรระหว่างประเทศ หรือผู้มีความจำเป็นทางมนุษยธรรม

เตรียมระบบคัดกรองและกักตัวที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่อาจต้องการกลับจำนวนมาก อำนวยความสะดวกเพื่อให้กลับได้เร็วก่อนที่สายการบินต่างๆ จะหยุดบิน

2.การกักตัวเฝ้าระวังและการอยู่แยกตามลำพัง โดยวางหลักเกณฑ์ในการกำหนดผู้ที่ต้องกักตัวภายใต้ระเบียบและการดูแลของเจ้าหน้าที่ จัดหาสถานที่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกักตัวเอง เช่น ผู้ที่ไม่มีห้องส่วนตัว กำหนดระเบียบวิธีการในการกักตัว มีคู่มือปฏิบัติ คำแนะนำ ข้อห้ามและบทลงโทษ วางระบบกลไกในการกักตัวที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหว เข้าใจสภาพของผู้กักตัว สร้างระบบสื่อสารและข้อมูล

Advertisement

เตรียมบุคลากรทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่นและสาธารณสุข หาอาสาสมัครและว่าจ้างนักศึกษาเริ่มด้วย 5,000 คน เพื่อติดตามดูแลผู้อยู่ระหว่างกักตัว และรวบรวมข้อมูลทั้งด้วยการเยี่ยมเยียนและระบบออนไลน์ สร้างทีมกำกับดูแลภาคสนามไว้เข้าพื้นที่ที่พบปัญหาหนาแน่น

3.การคัดกรองและการตรวจหาผู้ติดเชื้อ โดยกำหนดยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรอง เพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ที่ควรได้รับการตรวจให้มากขึ้น จัดหาน้ำยาและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับห้องปฏิบัติการ และจัดหาเครื่องมือใหม่ๆ ที่ตรวจได้รวดเร็วและแม่นยำ เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้การได้และส่งเสริมการสร้าง Test kits ขึ้นเอง

4.การเตรียมจัดหาทรัพยากรทางสาธารณสุข โดยจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อในระหว่างปฏิบัติหน้าที่สำหรับแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขให้เพียงพอ สร้างโรงพยาบาลชั่วคราวเพื่อรับผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ 5,000 คน ให้โรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มเตียง

5.การจัดระยะห่างและการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยวางหลักเกณฑ์ในการกำหนดจังหวัดหรือเมืองที่จะต้องปิดสถานที่ต่างๆ อย่างที่ทำแล้วในบางจังหวัด เตรียมมาตรการล่วงหน้าเพื่อรองรับผลกระทบที่ตามมาทั้งเฉพาะหน้าและในกรณีที่ต้องยืดเวลาออกไป จ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง แก่ผู้ที่ต้องหยุดงาน เยียวยากิจการที่หยุดงาน

6.การห้ามออกจากบ้าน ห้ามเดินทางระหว่างเมืองและการปิดเมือง แนะนำหรือสั่งให้คนอยู่บ้านตามระดับความเสี่ยง มีมาตรการรองรับสำหรับการยังชีพ ทั้งการให้เงินและจัดระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่เสี่ยง ลดการเดินทางระหว่างเมือง ในพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก ให้จำกัดการเดินทางไปมากับพื้นที่อื่น ปิดหมู่บ้าน ตำบล หรือเมือง ห้ามเข้าออกและให้อยู่กับบ้าน

7.มาตรการทางการเงินและการคลังดูแลธุรกิจทั้งระบบและประชาชนทั้งประเทศ ระยะเวลา 1 ปี โดยกำหนดเวลาที่จะแจกเงินให้คนจนและผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศเป็นระยะให้ดำรงชีพได้ และปรับเพิ่มตามความจำเป็น ให้เงินอุดหนุนให้เอกชนชะลอการเลิกกิจการ ชะลอการปลดพนักงาน คนงาน ออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท หรือไม่เกินวงเงินที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา

ในภาวะเช่นนี้ ปัญหาเศรษฐกิจจำต้องหล่นลงมาเป็นรองแล้ว การว่างงาน ปิดร้านรวง ปิดโรงงาน ปิดธุรกิจ อัตราการเติบโตที่อาจเป็นศูนย์หรือติดลบ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลเฉพาะหน้านี้ จะต้องลดความสำคัญลง

เหลืออยู่วาระเดียว จะให้ทั้งชาติอยู่รอดอย่างไร รัฐบาลต้องคิดว่าจะช่วยคนตกงานให้มีกินอย่างไร ลูกหลานได้เรียนต่อไปอย่างไร พ่อแม่ปู่ย่า ซึ่งอยู่ในวัยเสี่ยงชีวิต ได้ปลอดจากเชื้อโควิด-19 มากที่สุดอย่างไร สังคม โดยเฉพาะผู้มีอันจะกินและธุรกิจใหญ่จะต้องช่วยคิด ร่วมทำ ร่วมเสียสละ ช่วยให้คนที่ลำบาก ตกงาน เป็นหนี้ พออยู่ไปได้ ระหว่างที่ไวรัสระบาดในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้

ไทยทุกคน ทุกระดับ พึงสามัคคี ช่วยกัน เพราะไวรัสเล่นงานเราได้หมดไม่ว่าจะคิดอะไร คิดอย่างไร ยืนอยู่ที่ไหน วิกฤตครั้งนี้จะเป็นวิกฤตองค์รวมที่ครบถ้วน และครอบคลุมทุกองคาพยพของสังคม

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเชิญฝ่ายค้านเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ และฝ่ายค้านพึงตอบรับเข้ามาร่วม เพื่อให้บ้านเมืองฝ่าวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดในครั้งนี้ไปให้ได้

วิกฤตนี้หากตั้งรับให้ดีคนตายจะไม่มาก คนที่จะตายมากคือคนแก่ หรือคนเป็นโรคอื่นหนักอยู่แล้ว แต่คนส่วนอื่นจะไม่ถึงตาย ส่วนไม่น้อยจะติดเชื้อไม่รู้ตัว แต่ไม่มีอาการ ข้อที่ต้องเป็นห่วงคือคนเหล่านี้ถึงอย่างไรก็แพร่เชื้อต่อไปได้ จำต้องลดโอกาสให้เขาได้แพร่เชื้อน้อยที่สุด

ข้อที่เบาใจสักหน่อยคือ ในเวลาไม่นานนัก เราก็จะเกิดภูมิต้านทานโควิด-19 ขึ้นมาในหมู่คนที่มากพอ ที่จะหยุดเชื้อนี้ได้ หรือดีกว่านั้น คืออาจพบยาหรือวัคซีนที่ออกมาก่อนที่ภูมิต้านทานจะเกิดขึ้นมากพอเสียอีก

จุดอันตรายคืออย่ารวมกลุ่ม อย่ากินข้าวร่วมกัน อย่าเฮฮาดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ อย่าประชุม พยายามอยู่บ้านใครบ้านมัน งดสังสรรค์ สันทนาการ และอย่าเข้าใกล้ผู้สูงวัยที่อายุ 60-70 ขึ้นไป คนเหล่านั้นเสี่ยงภัยถึงชีวิตจากโควิด-19

จะให้ดีอยากชวนให้เราหยุดสื่อสารหรือละเว้นการเล่นสื่อสังคม เฉพาะที่เขย่าขวัญกันเอง ที่วิพากษ์วิจารณ์คนที่กำลังทำงาน ละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการต่างๆ แต่แน่นอนหากมีความคิดอะไรดีๆ ให้เสนอได้ และควรจะหาอะไรที่ทำเองได้ หรือร่วมกันทำเองได้

ละเว้นการชี้นิ้วกล่าวผิดคนอื่น หันมาเข้มงวดตัวเองกันเถิด มีวินัยให้มากขึ้น ใช้ธรรมะกับตัวเองกับสังคม แล้วเราจะฝ่าข้ามไปด้วยกัน ธรรมะนั้นไม่ได้มีไว้คุย ไว้สนทนา ไว้สอน ในยามปกติเท่านั้น หากต้องเอามาใช้ในยามวิกฤต

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ออกมานั้นควรต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้สักเล็กน้อย ข้อเสนอของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมาจากบทเรียน ประสบการณ์และสถานการณ์ทั้งโลก แต่รัฐบาลเราคิดว่าช้าไปในการรับมือกับสถานการณ์ เข้าใจว่าเป็นเพราะ 1.การทำงานของรัฐบาลที่ขาดเอกภาพค่อนข้างมาก 2.ราชการไทยยังเป็นระบบราชการที่ล้าหลัง และไร้เอกภาพ 3.รัฐบาลประเมินสถานการณ์ผิด ยังให้น้ำหนักไปที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยมองว่าหากปิดเมืองและมีมาตรการที่เข้มข้นอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

การตัดสินใจของรัฐบาลทั้งในส่วน กทม.และส่วนอื่นๆ ขาดการประสานงานกับผู้ประกอบการ และผู้ที่มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะแรงงานที่รัฐบาลไม่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อมูลอย่างรอบด้าน แต่รัฐบาลกลับใช้อำนาจตัดสิน คิดว่าจะช่วยให้ควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งควบคุมไม่ได้โดยสิ้นเชิง สถานการณ์แบบนี้ทำให้คนจำนวนมากหลั่งไหลไปชนบท เชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปกับประชาชนที่หลั่งไหลไปสู่ต่างจังหวัด ซึ่งจะยากต่อการควบคุม

มาตรการที่ส่วนตัวมองว่าล่าช้า และน่าเป็นห่วง คือ

1.มาตรการกึ่งปิดเมืองที่ล่าช้า และให้อำนาจที่ไม่ชัดเจน กล่าวคือ รัฐบาลไม่กล้าปิดประเทศ แต่มีลักษณะการสื่อสารที่คล้ายๆ กับปิด โดยให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาปิดสถานบริการต่างๆ หากดูแล้วการปิดแบบนี้จะกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งสิ้น มีความชัดเจนเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นนายทุนใหญ่ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเหตุใดการบริหารจัดการจึงมีลักษณะลักลั่น ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน นำไปสู่ปัญหาไม่พอใจรัฐบาลในเวลาต่อมา

2.ภาวะการรับมือของคนที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเยียวยาอย่างไร และเพียงพอหรือไม่ เพราะดูแล้วสถานการณ์คงไม่ใช่เพียง 1-2 เดือน แต่อาจจะเป็น 1-2 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้

สำหรับมาตรการที่มีในขณะนี้มองว่ายังไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุก แค่คณะกรรมการระดับชาติไม่เพียงพอ ตอนนี้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทางฝ่ายการเมืองก็ต้องลดราวาศอกเรื่องโจมตีการทำงานกัน ต้องลดความเป็นฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ทุกคนต้องกลับไปทำหน้าที่เป็นตัวแทน ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ประสานผู้นำท้องถิ่น ประสานกับสาธารณสุข ประสานกับ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในจังหวัด ทำงานเชิงรุกในการติดตาม-ตรวจสอบผู้ป่วย ให้ข้อมูลประชาชน เตรียมทรัพยากร ทั้งเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย

ต้องทำงานเชิงรุกในระดับจังหวัด เพราะขณะนี้ปัญหาบานปลายแล้วเนื่องจากประชาชนหลั่งไหลกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ในจังหวัดเอง เท่าที่ดูแล้วคำสั่งและอำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีการประสานความร่วมมือกันกับท้องถิ่น

อีกทั้งทางจังหวัดต้องแถลงข่าวกับประชาชนทุกแหล่ง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นบวกหรือลบ ไม่ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือมีผู้ติดเชื้อมากน้อยเพียงใด ต้องให้ประชาชนรู้ว่าสถานการณ์ของจังหวัดตัวเองอยู่ระดับไหน พยายามให้เกิดการสื่อสารอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อป้องกันเฟคนิวส์

อีกประการที่อยากฝากไว้คือ เรื่องภาระของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างกะทันหัน ในส่วนของภาระหนี้สิน ทั้งดอกเบี้ยและค่างวดต่างๆ อยากให้รัฐบาลช่วยในส่วนนี้ด้วย อย่างน้อยค่าเทอมบุตรหลานช่วงนี้ขอให้งดเว้นไปก่อน หรือไม่ต้องจ่ายค่าเทอมจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อลดผลกระทบ ไม่เช่นนั้นจะสร้างแรงกดดัน สร้างความตึงเครียดมากเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image