09.00 : INDEX สถานการณ์ ฉุกเฉิน มีนาคม 2563 สถานการณ์ ฉุกเฉิน เมษายน 2553

พลันที่ครม.ให้ความเห็นชอบในการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนับแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นไป ภาพของเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ก็หวนคืนมา

เพราะว่าตัวละครที่ร่วมใน “ปฏิบัติการ”เมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็ยังคง ดำรงอยู่ครบครัน

จะขาดก็เพียง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น

พรรคประชาธิปัตย์อาจมิได้เป็นสดมภ์หลัก หากแต่ก็ยังดำรงคงอยู่ในสถานะแห่งความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เช่นเดียวกับ พรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เป็นส่วนหนึ่ง

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็อยู่ครบ

เพียงแต่ “เป้าหมาย” และ “ภารกิจ” ต่างออกไป

สถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 มีเป้าหมายอยู่ที่การเมือง เป็นการเมืองอันสัมพันธ์กับการชุมนุมของแนวร่วมประ ชาธิปไตยแห่งชาติต่อต้านเผด็จการ(นปช.)

Advertisement

มุ่งสลายการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นที่ถนนราชดำเนินในเดือนเมษายน ไม่ว่าจะเป็นที่แยกราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม

เป็นการแยกสลายการชุมนุมที่ใช้ ”กระสุนจริง”

ขณะที่สถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2563 มีเป้าหมายอยู่ที่จะต้านยันและสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดมาจากมหานครอู่ฮั่น ประเทศจีน

เป็นสถานการณ์ทางด้านการสาธารณสุข ศัตรูเฉพาะหน้าที่แน่นอนคือไวรัส จำเป็นต้องใช้นักรบที่เป็นแพทย์เป็นพยาบาล ติดอาวุธทางด้านความรู้

นี่คือเป้าหมายที่แตกต่างออกไปจากเมื่อปี 2553

จากนี้จึงเห็นได้ว่า สังคมไทยมิได้ไม่มีประสบการณ์อันเนื่องแต่สถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีความอ่อนไหวในทางการเมือง

อย่างน้อย ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เคยผ่าน

ไม่เพียงแต่ผ่านตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 หากแต่ในทุกวันนี้ก็ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

คนกรุงเทพมหานครก็เคยประสบมาแล้วเมื่อปี 2553

แต่ละจังหวะก้าวของสถานการณ์ฉุกเฉินจึงมิได้เป็นเรื่องแปลกหน้า ตรงกันข้าม ล้วนมีประสบการณ์อันอุดมสมบูรณ์

จึงย่อมเกิดภาพเปรียบเทียบขึ้นได้โดยอัตโนมัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image