‘หมอเลี้ยบ’ ท้วงการคำนวณตัวเลขผู้ป่วย ชี้เหตุผู้ติดเชื้อพุ่ง 188 เตือนผลเสียใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ “แนวรบโควิด-19 : ว่าด้วยคณิตศาสตร์โควิด และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีรายละเอียดดังนี้”

 

1) โรคโควิด-19 (ซึ่งต่อไปนี้ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าโควิด) เป็นโรคใหม่ เพิ่งอุบัติขึ้นในโลกของมนุษย์ได้เพียง 4 เดือน ความรู้เกี่ยวกับโควิดจึงมีน้อยมาก ต้องเรียนผิดเรียนถูก ไม่มีใครรู้จริง เราทุกคนต่างเป็นนักเรียนน้อย เพียงแต่บางคน บางประเทศ ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยราคาแพง

2) การทำนายอัตราการป่วยของโควิดมีหลายโมเดล แต่การทำนายด้วยกราฟเส้นตรงโดยใช้อัตราเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นการทำนายที่คร่าวๆ ที่สุด ไม่มีหลักเกณฑ์ทางระบาดวิทยา ไม่มีการนำตัวแปรต่างๆ มาประกอบการทำนาย เช่น วัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ความตื่นตัวในการป้องกันและควบคุมโรค ฯลฯ มาประกอบการพิจารณา

Advertisement

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ แต่ก็มีโอกาสผิดพลาด

3) ตัวเลขการทำนายจำนวนผู้ป่วยที่ปรากฏออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะทำนายว่า ในวันที่ 15 เมษายน

หากเราไม่ทำอะไร จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 33% ทุกวัน และมีผู้ป่วยโควิด 350,000 คน ตาย 7,000 คน

หากร่วมกันอยู่บ้าน ใช้มาตรการแรง จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 20% ทุกวัน และมีผู้ป่วยโควิด 24,000 คน ตาย 485 คน

4) แต่ปรากฏว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ย้อนหลัง 4 วันที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงออกมา มีประมาณ 100 รายเศษทุกวัน ไม่มีการเพิ่ม 20% หรือ 33% แต่อย่างใด

ยกเว้นวันที่มีผู้ป่วยใหม่กว่า 180 รายเกิดขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะมีการเปลี่ยนเกณฑ์ในการวินิจฉัยผู้ป่วย จากที่เคยต้องยืนยันด้วยการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นยืนยันด้วยการตรวจเชื้อเพียงครั้งเดียว ทำให้ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นมากในวันนั้นเพราะเป็นการเอาตัวเลข 2 วันมารวมกัน

แต่หลังจากนั้น จำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ลดลงมาเหลือวันละ 100 กว่าๆ เล็กน้อยติดต่อกันมา

5) หากลองคำนวณว่า มีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 100-120 คนทุกวัน (เหมือนที่เพิ่มมาในช่วง 3-4 วันนี้) จนถึง 15 เมษายน จะมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 3,000-3,500 คน และถ้ามีผู้เสียชีวิตที่อัตรา 2% จะเท่ากับเสียชีวิต 60-70 คน

6) ตัวเลขในข้อ 5 ไม่ต่างนักจากที่นักระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรคเคยทำนายไว้ว่า ผู้ป่วยสะสมก่อนวันสงกรานต์ 2563 จะเท่ากับประมาณ 2,500 คน

7) ประเทศไทยควบคุมโรคโควิดได้ผลดีมาตลอดตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563 จนเคยมีการตั้งคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขปิดบังตัวเลขหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมั่นใจในความเป็นมืออาชีพของนักระบาดวิทยาในกรมควบคุมโรค

8) จุดเปลี่ยนของสถานการณ์โควิดในไทย เริ่มต้นจากเวทีมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งเกิด Super Spreader คล้ายกับผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้ และนำมาซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อมากมายหลังจากนั้น

9) เราโชคดีที่คุณแมทธิว ดีน ซึ่งได้รับเชื้อ และเปิดเผยว่า ตนเป็นโรคโควิดทันทีที่มีการยืนยันผลเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ทำให้มีการสอบสวนโรคย้อนกลับไปถึงผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น และสะกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ผลพอสมควร เร็วกว่าที่เกิดขึ้นในกรณี Super Spreader ของเกาหลีใต้

10) สถานการณ์โควิดในไทยวันนี้ จึงคล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ ดังนั้น น่าศึกษาวิธีการที่เกาหลีใต้ใช้ในการควบคุมโรคโควิด ว่าเขาใช้วิธีอะไรบ้าง

11) เกาหลีใต้เน้นอยู่ 4 เรื่องคือ
ก. การตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยถึงกว่า 300,000 คน
ข. การกักตัวกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ 14 วัน
ค. การปูพรมค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
ง. Social distancing

ไม่มีการปิดเมือง (ยกเว้นเมืองแทกู ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคโควิด) ไม่ห้ามการสัญจรระหว่างเมือง ไม่มีเคอร์ฟิว แต่เน้นเรื่องการใส่หน้ากากและการล้างมืออย่างจริงจัง

12) มาตรการที่สำคัญยิ่งของเกาหลีใต้อีกประการหนึ่งคือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น

13) หากพิจารณาจากมาตรการต่างๆ ที่เกาหลีใต้ทำ มาตรการเหล่านั้นสามารถปฎิบัติการอย่างจริงจังด้วยพระราชบัญญัติโรคติดต่อ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

14) ที่น่าเป็นห่วงคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนไม่กล้าแสดงความเห็น, ประชาชนไม่กล้าแจ้งเหตุที่ตนกังวลและต้องการให้รัฐบาลแก้ไข, ประชาชนไม่กล้าร้องเรียนปัญหาที่พบเห็นในการควบคุมโรค

การร้องเรียนแบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในเรื่องหน้ากากอนามัยยังจะทำได้หรือไม่, แพทย์และโรงพยาบาลจะยังแจ้งความเดือดร้อนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้หรือไม่, ประชาชนจะร้องเรียนเรื่องการปฎิบัติงานที่หละหลวมของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณีการโพสต์เรื่องปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ แทนที่ผู้โพสต์จะถูกจับ แต่เขาควรได้รับคำขอบคุณ หรือได้รางวัลด้วยซ้ำไปมิใช่หรือ รัฐบาลไม่ต้องจ้างผู้ตรวจสอบ (Auditor) แต่มีประชาชนช่วยตรวจสอบ…ไม่ดีกว่าหรือ

15) ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยิ่งรุนแรงขึ้น ถ้ามีการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว มาตรการห้ามเดินทางระหว่างเมือง หรือมาตรการอื่นๆ ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในช่วงเวลายาวนานถึง 36 วัน (นานกว่าระยะเวลา 22 วันที่ปิดโรงเรียน ร้านค้า ศูนย์การค้า ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังใช้บังคับหลังจากสิ้นสุดการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ห้างร้านต่างๆอีกถึง 18 วัน)

16) สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่รัฐบาลต้องทำคือ การรณรงค์ Social Distancing อย่างจริงจัง, การจัดหาหน้ากากให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ระหว่าง 22 วันที่ปิดทำการแหล่งชุมชนต่างๆ, การจัดหาแอลกอฮอล์เจลเพื่อล้างมือให้ประชาชนหาซื้อได้อย่างสะดวก, การตรวจคัดกรองผู้ป่วยอย่างจริงจังกว้างขวาง โดยลดหย่อนเกณฑ์ในการตรวจ PCR, การปูพรมค้นหาผู้เสี่ยงต่อการรับเชื้อและให้กักกันตัวเอง 14 วัน

มาตรการข้างต้นนี้เท่านั้นที่ต้องใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เคอร์ฟิว ไม่ใช่การห้ามสัญจรระหว่างจังหวัด ซึ่งไม่ได้ผลนักในการควบคุมโรค และไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนาน

ในชั้นนี้ ผมเห็นด้วยกับมาตรการ Mild Lockdown (ซึ่งผมเรียกว่า หรี่ไฟเมือง หรือ ตรึงเมือง) แบบที่ฮ่องกง, สิงคโปร์ และกรุงเทพมหานครทำก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่เห็นด้วยกับ Massive Lockdown (หรือ ปิดเมือง) แบบที่อู่ฮั่นทำ

17. ถ้ารัฐบาลมีปัญหาประสิทธิภาพและเอกภาพในการทำงาน ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขการบริหารจัดการภายในกันเอง แต่ไม่ใช่ด้วยการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วออกมาตรการที่อาจกระทบกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของคนไทย 65 ล้านคน

และการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ปัญหาประสิทธิภาพในการควบคุมโรคจะได้รับการแก้ไข

18. โควิดไม่น่ากลัว ถ้าไม่ประมาทและป้องกันควบคุมอย่างถูกวิธี เหมือนที่ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดำเนินการอยู่

แต่ที่น่ากลัวคือ

– ความไม่เข้าใจองค์ความรู้เรื่องโควิดของผู้รับผิดชอบ และการไม่ติดตามข้อมูลโควิดที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน
– การรับมือโควิดอย่างสะเปะสะปะ ขาดการวางแผน และไร้ประสิทธิภาพ
– และการไม่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image