‘ก้าวไกล’ ไลฟ์ถกเข้มแก้โควิด-19 ‘ศิริกัญญา’ กังขามาตรการเยียวยาแรงงาน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคก้าวไกล จัดรายการพิเศษ “ก้าวไกลพาไทยพ้นวิกฤต” ผ่านช่องทางไลฟ์เฟซบุ๊กของเพจพรรคก้าวไกล พูดคุยในเรื่องเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังวิเคราะห์ถึงผลกระทบ งบประมาณในการแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้ และมาตรการเยียวยาต่างๆ จากภาครัฐ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สิ่งที่พี่น้องแรงงานนอกระบบรอคอยกันอยู่ วันนี้รัฐก็ออกมาตรการช่วยเหลือแล้ว หลักใหญ่ใจความคือ จะมีการชดเชยรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการเป็นจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ปัญหาคือ รัฐมีมาตรการใดตรวจสอบสิทธิว่าประชาชนคนใดได้รับความเดือนร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแรงงานนอกระบบมีทั้งสิ้น 18.7 ล้านคน หักเกษตรกร 9.2 ล้านคน เหลือลูกจ้างรายวัน รับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ขาย 9.5 ล้านคน แต่เงินเยียวยาที่จะช่วยเหลือจำนวน 3 เดือนนี้ มีโควต้าเพียง 3 ล้านคน ซึ่งผู้มีสิทธิในโควต้านี้ รวมถึงผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 อีกกว่า 5 ล้านคน นั่นหมายความว่าเงินจำนวนกว่า 15,000 ล้านบาท จะมีคนแย่งกันจำนวน 14.5 ล้านคน คำถามคือรัฐมีเกณฑ์ในการเลือกอย่างไร ว่าใครเดือดร้อนที่สุด ที่สมควรได้รับเงินเยียวยา

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า เราอยากให้รัฐบาลเข้าไปตรวจติดตาม เข้าไปผลักดันให้การอนุมัติสินเชื่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้เงินของประชาชน รวมไปถึงมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย ซึ่งตอนนี้มีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ให้มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563 ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ไปจนถึงสินเชื่อธุรกิจ sme ซึ่งปัญหาสำหรับมาตรการนี้อยู่ที่การกำหนดว่าใครสามารถลดอัตราผ่อนชำระหนี้ หรือพักชำระเงินต้นได้ อย่างสินเชื่อ sme ที่พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยตามสถานการณ์

Advertisement

“ทุกคนได้รับผลกระทบหมดขึ้นอยู่กับว่าได้รับผลกระทบมากหรือน้อย คนที่ได้รับน้อยที่สุดเชื่อว่าเป็นข้าราชการ รวมถึงนักการเมืองอย่างเราด้วยที่เงินเดือนไม่ถูกลด รวมไปถึงพนักงานเอกชนที่ไม่ถูกลดเงินเดือน แต่ก็ยังมีพนักงานเอกชนบางกลุ่มเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว จากการที่บางสถานประกอบการเริ่มปรับลดเงินเดือน 10-20% ไม่ต้องพูดถึงพ่อค้าแม่ขาย ที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า นี่คือสิ่งที่เรากังวลว่า ใครจะได้รับสิทธิพักชำระเงินต้น ใครเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ ว่าใครจะได้พักชำระเป็นระยะเวลาเท่าไร ปรับลดดอกเบี้ยเท่าไร ซึ่งนโยบายที่รัฐจะต้องทำนั้น ต้องเป็นนโยบายแบบให้โดยเสมอภาค เพราะเมื่อไรที่ต้องตรวจพิสูจน์ หรือพิจารณานั้นต้องใช้เวลา ซึ่งหากใช้หลักเกณฑ์หลวมๆหรือคนมาพิจารณา ความไม่ยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นอยู่แล้ว” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า งบประมาณกลางได้ใช้ไปส่วนหนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่างบรายจ่ายประจำปี 2563 พึ่งได้รับการอนุมติ แต่ได้ถูกใช้ไปพลางก่อนแล้ว จากงบประมาณกลางทั้งหมดกว่า 9 หมื่นล้าน ซึ่งงบกลางในส่วนนี้จะใช้ไปกับกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ตอนนี้ต้องยอมรับว่า งบประมาณฝึกอบรม จัดอีเว้นท์ต่างๆ ไม่ควรจะได้รับงบประมาณ ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากหักงบดำเนินงานในส่วนนี้มา จะได้ประมาณมาช่วยเหลืออีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณเกณฑ์ทหาร และงบจัดซื้อยุทโธปกรณ์ อีกทั้งเรือดำน้ำที่ต้องส่งมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดที่ไวรัสโควิท-19แพร่ระบาดเป็นที่แรก ไม่น่าจะส่งมาได้ทัน ถึงแม้จะเป็นงบผูกพัน แต่สามารถเลื่อนชำระไปได้ หากจัดการงบประมาณอย่างถูกที่ถูกทาง หากจัดทำ พรบ.โอนย้ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น มาใช้เพื่อผ่านวิกฤตในครั้งนี้ เราจะได้งบประมาณมาเพิ่มอีก 8 หมื่นล้านบาท

“หากรัฐจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ จากโครงการหรือส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จะมีเงินเพียงพอที่จะสามารถเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านพร้อมจะผ่านร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 3 วาระรวด เพราะว่าเป็นการทำเพื่อประชาชน เพราะขนาดกลุ่มก่อการร้าย isis ยังประกาศหยุดก่อการร้ายเพราะไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้ไม่มีความมั่นคงอะไรเท่ากับความมั่นคงทางสาธารณสุขอีกแล้ว ” นายวิโรจน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image