กมธ.ดีอีเอส วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ครั้งแรก ติดขัด ‘ชวน’ ชี้ นำมาใช้ประชุมสภา อาจมีปัญหา

“กมธ. ดีอีเอส” จัดประชุมผ่าน วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ครั้งแรก ยังติดขัดระบบภาพและเสียง ด้าน ชวน”เข้าสังเกตการณ์ บอกหากนำมาใช้กับประชุมสภาฯ 500 คนอาจมีปัญหา

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. เวลา 10.30 น.ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร มี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. ได้ทดลองใช้การประชุมผ่านวีดีโอทางไกล (เทเลคอนเฟอเรนซ์) เป็นครั้งแรกเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน ตามมาตรการ work from home ลดการรับหรือแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวได้เชิญตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมประชุมในห้องกมธ. และมีวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมประชุม นอกจากนั้นยังมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ พร้อมคณะทำงานได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ในการประชุมนายฐากรได้รายงานต่อกมธ.ฯถึงมติของกสทช. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ต่อมาตรการที่ผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตช่วยเหลือรัฐและประชาชนในภาวะวิฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาล เช่น การใช้งบประมาณของกสทช. ส่วนของค่าประมูลคลื่นความถี่ มูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าซื้อแพคเกจอินเตอร์เน็ตในครัวเรือน ให้กับ 500 ครัวเรือนที่ซื้อแพคเกจอินเตอร์เน็ตราคาถูกและไม่เต็มประสิทธิภาพ และงบประมาณ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทระยะเวลา 3เดือน คือ เดือนละ 400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้กับผู้ใช้บริการเครือข่ายมือถือแบบเติมเงิน จำนน 50 ล้านเลขหมาย เพื่อเพิ่มจำนวนการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถืออีก 10 กิกะไบต์

นายฐากร กล่าวต่อว่า จากที่หารือกับผู้ให้บริการ 5 ผู้ประกอบการ กสทช. จะขอให้ผู้ประกอบการส่งสัญญาเพื่อตรวจสอบแพคเกจอินเตอร์เน็ตครัวเรือนและบนมือถือให้กสทช. ตรวจสอบก่อนดำเนินมาตราการที่หารือ นอกจากนั้นแล้วจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการอย่าลดสปีดการใช้งานอินเตอร์เน็ต หรือจ่ายสปีดอินเตอร์เน็ตให้เต็มประสิทธิภาพ หากพบว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลงและเอาเปรียบประชาชนจะใช้มาตรการตามกฎหมายดำเนินการทันที

นายฐากร กล่าวด้วยว่าขณะที่การให้บริการแจ้งข่าวสารไปยังประชาชนนั้น ได้ให้ความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ และกรมควบคุมโรค เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนผ่านข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) วันละ 2 รอบ คือ ช่วง 7.00 น. และ 14.00น. โดยใน 1 ชั่วโมงสามารถส่งข้อความ ได้ 1 แสนเลขหมาย โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคือ คนที่กักตัวและกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อเฝ้าระวัง ขณะเดียวกันการส่งข้อมูลผ่านข้อความสั้นนั้นผู้ให้บริการแต่ละเครือข่ายจะทยอยส่งไปยังผู้ใช้บริการ แต่จะงดการส่งช่วง 21.00 น. เพื่อป้องกันการรบกวนผู้ใช้บริการ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการประชุมกมธ.ฯ ยังมีการหารือถึงการจัดประชุมผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ ที่พบว่ามีปัญหาเรื่องเสียงและสัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมถึงข้อบังคับการประชุมกมธ.ที่ยังไม่รองรับการประชุมลักษณะดังกล่าว ที่มีกติกาและข้อบังคับที่ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งน.ส.กัลยา ได้ฝากนายชวน ที่ร่วมสังเกตการณ์อยู่ให้พิจารณาแก้ไขข้อบังคับเพื่อรับรองการทำงานผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและลดความเสี่ยงต่อการแพร่หรือรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่นายชวน กล่าวให้กำลังใจการทำงานของกมธ.ฯ ว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการประชุมกมธ.ฯ อาจมีปัญหาไม่มาก แต่หากจะนำไปใช้กับการประชุมสภาฯ ที่มีจำนวนคนประชุม 500 คนอาจต้องหารือกันอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับข้อบังคับการประชุมกมธ.ฯ ที่ไม่รองรับนั้น เพราะข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่มีข้อกำหนด ขณะที่ประกาศของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่เกี่ยวข้องระบุว่าการประชุมผ่านทางไกล ทำได้ แต่ผู้มาประชุมที่ต้องนับเป็นองค์ประชุมต้องใช้เสียง 1 ใน 3 และต้องนั่งในสถานที่เดียวกัน ห้ามประชุมนอกราชอาณาจักร ขณะที่การลงมติใดๆ ต้องใช้เสียง 1 ใน 2 อย่างไรก็ตามในการประชุม กมธ. นอกจากมีกมธ.ร่วมประชุมแล้ว จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ เช่นเจ้าหน้าที่ชวเลข ผู้ชี้แจง ฝ่ายเลขานุการของกมธ.เข้าร่วมด้วย รวมถึงหากจะลงมติใดๆ จะมีผลผูกพันตามกฎหมายด้วย ทำให้การใช้ประกาศของกระทรวงดีอี ไม่สามารถครอบคลุมการทำงานของสภาฯ ได้ และหากสภาฯ จะแก้ไขข้อบังคับหรืองดเว้นการใช้ข้อบังคับ จำเป็นต้องขออนุมัติจากที่ประชุมสภาฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image