เลขา สมช.ยัน เดินทางข้ามจังหวัดทำได้ แต่ต้องถูกตรวจเข้มข้น ลั่นจัดการเด็ดขาดผู้ฝ่าฝืน

เลขา สมช.ลั่น ดำเนินมาตรการเด็ดขาด จำ-ปรับ ผู้ฝ่าฝืนมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ ยังไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ขอให้ชะลอ ถ้าจำเป็น ต้องพร้อมถูกตรวจเข้มข้น เผย กต.ห่วงหลังสงกรานต์แรงงานต่างด้าวทะลักกลับไทย ยอดโควิดพุ่งอีก 

 

เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 26 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ว่าวันนี้เป็นการหารือถึงภาพรวมข้อกำหนดต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งเน้นข้อกำหนดต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และยังมีข้อกำหนดบางอย่างที่ยังไม่ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะทำการชี้แจงต่อสาธารณะ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ที่ประจำอยู่ตามจุดตรวจ (ด่าน)​ จะแจ้งอีกครั้ง อย่างกรณีการเดินทางข้ามจังหวัดที่ในข้อเท็จจริงไม่อยากจะให้มีการข้ามที่ไหน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องข้ามก็จะต้องเจอกับมาตรการที่เข้มข้น ทั้งการตรวจอุปกรณ์ในรถ การตรวจอุณหภูมิร่างกาย การตรวจบัตรประจำตัวประชาชน และถ้าตรวจพบว่ามีไข้ก็จะส่งตรวจไปที่โรงพยาบาลทันที

เมื่อถามย้ำถึงมาตรการความเข้มข้นในการเดินทางข้ามเขตจังหวัด พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า โดยหลักการไม่ต้องการให้เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการแพร่เชื้อจากจังหวัดสู่จังหวัด แต่ต้องการให้จำกัดการเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดของตัวเอง แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องข้ามก็จะถูกตรวจอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความจำเป็นที่ต้องข้ามออกนอกพื้นที่ จึงขอร้องหากไม่จำเป็นอย่าเดินทางข้ามจังหวัด เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ ก็ขอให้อยู่แต่ภายในที่พัก เพราะถ้าผู้สูงอายุติดเชื้อโรคอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

เมื่อถามว่า แล้วเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ที่เดินทางอยู่นั้นมีอาการหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวของผู้เดินทาง เพราะมาตรการที่ออกมาไม่ใช่เพื่อคนอื่น และอย่าลืมว่าผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว รวมถึงเด็กเล็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมาตรการที่ออกมาก็เพื่อให้คนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ได้ป้องกันตัวเองด้วยการไม่ออกจากบ้าน และหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็สามารถทำได้

Advertisement

พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ความเสี่ยงอีกอย่างที่น่าเป็นห่วงคือการที่ลูกหลานออกไปข้างนอกแล้วกลับมาอยู่กับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมี Social distancing

“สำหรับโทษ ถ้าฝ่าฝืนมาตรการและข้อกำหนดจริงๆ จะรับโทษหนักจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เราไม่อยากใช้มาตรการลงโทษขนาดนั้น จึงขอความร่วมมือกันก่อนให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดแต่ถ้ายังไม่เชื่อฟังกันอีกก็ต้องเพิ่มความเข้มข้น และบทลงโทษต่อๆ ไป ซึ่งบทลงโทษถึงวันนี้เจ้าหน้าที่จะจริงจังแล้วแต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาว่ามีเจตนาร้ายหรือดีมากน้อยแค่ไหน โดยพื้นที่เข้มข้นจะทำทั่วประเทศพร้อมกัน” พล.อ.สมศักดิ์กล่าว

รายงานข่าวจากที่ประชุม ศบค.เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แก้ไขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 กระทรวงการต่างประเทศแสดงความเป็นห่วงตามแนวชายแดนรอบประเทศเป็นพิเศษ ว่าทุกฝ่ายจะต้องมีความระมัดระวัง และดูแลปัญหาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะต่อกรณีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงานต่างด้าวกลับเข้าไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ คือจะต้องมีการคัดกรองและตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย

Advertisement

รายงานข่าวจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค.ยังได้มีการประเมินแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและจำนวนคาดการณ์ถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 โดยภาคประชาชนร่วมมือในการเว้นระยะห่าง หรือ Social distancing 80% จะมีผู้ป่วยสะสม จำนวน 7,745 ราย แต่หากประชาชนร่วมมือในการเว้นระยะห่าง Social distancing เพียง 50% จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และถ้าไม่มีมาตรการป้องกันจะทำให้มีผู้ป่วยสะสมถึง 25,225 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image