นายกฯมอบ 6 แนวทางทำงาน ‘ศูนย์ ศคบ.’ สั่งทุกส่วนปรับแผนงาน โยกงบมาลงด้านสธ.

นายกฯ มอบ 6 แนวทางการทำงาน ‘ศูนย์ ศคบ.’ สั่งโยกงบประมาณมาลงด้านสธ. หวังสยบการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า ในวันนี้ตนได้การรับแต่งตั้งจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เป็นโฆษกศูนย์ ศบค. ซึ่งในคำสั่งแต่งตั้งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการศูนย์ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้มีอำนาจหน้าที่หลากหลายอย่าง ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งการจัดหา การบริหารจัดการ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจัดโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ การจัดตั้งหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการตามที่เห็นสมควร การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง การจัดให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชพลเรือน เพื่อดำเนินการตามแผนการรักษาความปลอดภัย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดำเนินมาถึงจุดที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อระดมทรัพยากรทางการบริหาร และสรรพกำลังของทุกหน่วยงาน รวมถึงการออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อหยุดยั้งการระบาด ควบคู่กับการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่จะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ให้ขยายตัวไปถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการทำงานของศูนย์ฯ จำนวน 6 ข้อคือ

Advertisement

1. ให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละด้านเสนอแผนรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติโดยละเอียดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ได้กำหนดการทำงานในแต่ละด้าน

2. ให้มีการบูรณาการจัดระบบการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม

3. ให้มีการติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ของประชาชนในทุกกลุ่ม และให้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบ โดยการให้การเยียวยา

Advertisement

4. ให้ความเชื่อมั่นในระบบทางการแพทย์ที่เป็นความหวังสำคัญที่สุดของประชาชน ให้มีการระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่มี ทั้งในส่วนกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐและเอกชน โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำในเรื่องของเวชภัณฑ์ สถานพยาบาล อุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้มีใช้เพียงพอกับประชาชน โดยจะมีการประสานกับกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นการละข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นมาสู่ประเทศไทย

5. ให้เน้นเรื่องการสื่อการในยามวิกฤต โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ขอให้มีการประชาสัมพันธ์โดยประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชน โดยได้ขอความร่วมมือสื่อทุกสำนัก ให้เน้นย้ำในเรื่องของการให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่อง Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในสังคม เพื่อลดการระบาดของไวรัส

และ 6. เรื่องของงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ขอให้ทุกส่วนราชการปรับแผนงานโครงการของภาครัฐ เพื่อนำงบมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุข

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า โดยในที่ประชุมทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุขได้มาชี้แจงงานด้านสาธารณสุขในเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ทั้งเรื่องของปัญหาและแนวทางการแก้ไข ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการสั่งการและการประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคด้วย ส่วนผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้กล่าวสรุปและเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมสินค้า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเกี่ยวกับการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่มีสัญชาติไทยในต่างประเทศ และปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในการประชุมได้ลงรายละเอียดมากมาย

ภาพรวมจากการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ในวันนี้สาระสำคัญที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ การมียุทโธปกรณ์ ในสถานการณ์โรคระบาดนี้ ศัตรูของเราก็คือเชื้อโรค ที่เราจะต้องต่อสู้ให้หมดจากแผ่นดินไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทหาร ซึ่งเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจะต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหลาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงรายละเอียดในเรื่องของหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันทางการแพทย์ หรือ PPE และเครื่องช่วยหายใจ โดยได้มีการหาแนวทางและลดข้อจำกัดในการนำเข้าและการลดภาษี ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้ให้แนวทางว่าในช่วงแรกจะมีการประชุมศูนย์ทุกวัน โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อให้การทำงานกระชับ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาลงมือปฏิบัติงาน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนทุกคน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้การระบาดยุติลงโดยเร็ว ตนในฐานะโฆษกของศูนย์ ศบค. จะทำหน้าที่ชี้แจงต่อสื่อมวลชนทุกครั้ง ภายหลังการประชุมในเวลาประมาณ 11.00 น. ของทุกวัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ศูนย์ ศคบ. จะแยกการแถลงออกจากศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศูนย์ ศคบ. จะดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการ ส่วนเรื่องของเทคนิคและการแพทย์จะเป็นของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการแถลงทุกครั้งเราจะแยกเวลากันอย่างชัดเจน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังการประกาศข้อกำหนดได้รับรายงานปัญหาหรือข้อติดขัดหรือยัง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเสนอข้อปัญหาติดขัดในที่ประชุม แต่จะพูดคุยกันถึงการเตรียมอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรียกให้เป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 1 ราย มีข้อเท็จจริงอย่างไร นพ. ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขและเขตพื้นที่นั้น โดยในวันนี้จะมีการแถลงที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะประสานการทำงานระหว่างทีมสอบสวนโรคและกรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่าเรามีระบบดูแลอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image