มท.เผย 22-25 มี.ค.มี ปชช.จาก ‘กทม.-ปริมณฑล-ตปท.-พท.เสี่ยง’ ต้องเฝ้าสังเกตอาการกว่า 5 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ มท.และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท. รองปลัด มท. ผู้บริหารระดับสูงของ มท.และผู้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัด มท. นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม โดยมีผลตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงได้แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยปลัด มท.ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการ และประสานงานกับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด และผู้ว่าฯ กทม.

นายฉัตรชัย กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดฯ รวมทั้ง บูรณาการทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกจังหวัดได้รวบรวมประกาศจังหวัดซึ่งผู้ว่าฯ ได้ใช้อำนาจในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ได้มีผลใช้บังคับก่อนข้อกำหนดดังกล่าว มายัง มท.เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

Advertisement

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัด มท.กล่าวว่า ข้อสั่งการในที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ให้การดำเนินการตามมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่ (Social Distancing) อาทิ การเฝ้าควบคุม สังเกตอาการผู้กักกันตัวเอง ณ ที่พำนัก (Home Quarantine) ทุกกลุ่ม การจัดตั้งจุดควบคุมโควิด-19 โดยร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนเร็วเพื่อควบคุมการจัดกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก การสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการตามมาตรการสกัดกั้นการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทยในพื้นที่ด่านทางบก และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามข้อสั่งการ ศบค.ได้แก่ พื้นที่ที่ต้องยกระดับความเข้มข้นทุกมาตรการตาม พ.ร.ก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (กทม. จังหวัดปริมณฑล ชลบุรี พัทยา ระยอง หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค) และพื้นที่ที่มีการปิดพื้นที่ และควบคุมการจัดการภายใน (จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และภูเก็ต)

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัด มท.กล่าวว่า ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลประชาชน ผู้เดินทางจาก กทม. จังหวัดปริมณฑล ต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่เสี่ยง ที่เข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ ขณะนี้ มท.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำระบบการรายงานข้อมูล ผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Quarantine Monitor (Thai QM) ซึ่งปัจจุบันทีมดำเนินการคัดกรอง แยกกัก กักกัน ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ได้สำรวจพื้นที่ และพบตัวบุคคลที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม จำนวนกว่า 5 หมื่นคน และได้เข้าสู่กระบวนการเฝ้าสังเกตอาการ ณ ที่พำนักของตนเองตามมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด นอกจากนี้ มท.ได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำแอพพลิเคชั่น AOT Airport Application สำหรับติดตามการกักตัวของบุคคลกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ผ่านระบบ GPS แบบ Realtime อีกด้วย จึงขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดกำชับนายอำเภอ เน้นย้ำกลไกท้องที่ และท้องถิ่น ในการดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อการป้องกัน และเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ อย่างเข้มงวด และให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายจากการทักทาย หรือทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก รวมถึง การขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดการเดินทาง เพื่อสกัดกั้น และควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image