‘อธิบดีพช.’ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ 76 จังหวัด ย้ำตระหนัก อย่าตระหนกสู้โควิด19
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ห้องวอร์รูม ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) เป็นประธานการมอบนโยบายงานสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชนในการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอ (Video Conference) และ TV พช. ในการประชุมเชิงปฏิบัติการตรวจติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 1/2563 โดยมีคณะผู้ตรวจราชการกรม และคณะผู้บริหารกรม ส่วนกลางและภูมิภาคร่วมรับฟัง
อธิบดีพช. กล่าว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด – 19 มีความห่วงใย และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้อง ชาว พช. ทุกคน ขอให้ข้าราชการ พช. มีความตระหนัก แต่อย่าตระหนกจนตื่นกลัวเกินเหตุ โดยมีความตื่นตัว ตื่นรู้ต่อสภาพปัญหา และต้องช่วยชุมชนให้เกิดความตระหนัก รับรู้สถานการณ์ มีการป้องกันการแพร่ระบาด และปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติสุข โดยไม่ประมาท ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ อีกด้านหนึ่งเป็นโอกาสที่คนพช. จะได้ขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมมากขึ้น ชุมชนพึ่งตนเองได้มากขึ้น มีความมั่นคงทางอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ยั่งยืน และสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เพื่อให้ผลงานมีความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” การที่จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จนั้น ข้าราชการพช.ต้องลงพื้นที่ พบปะผู้นำ ทำงานกับชาวบ้าน กลุ่มหรือองค์กรต่างๆ และเครือข่าย หาแนวร่วมการทำงานแบบบูรณาการกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการกองทุนต่าง ๆ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องไม่ฉาบฉวย เป็นพี่เลี้ยงกระตุ้นให้คิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาและดูแลสนับสนุน เริ่มด้วยการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัย ส่งเสริมให้ครัวเรือนปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ประชาชนมีความสุข มีอยู่มีกิน ไม่เดือดร้อน โดยให้ข้าราชการ พช. เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร ประสานกับส่วนราชการในจังหวัดอำเภอ ช่วยกันทำให้เห็นเป็นแบบอย่างก่อน เมื่อครัวเรือนเรียนรู้และถือปฏิบัติจนมีความเข้มแข็งแล้ว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขั้นต่อไป ต้องส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหาร่วมกันเช่นที่ พช.ดำเนินการมา ช่วยกันปรับปรุงและส่งเสริมศูนย์สาธิตการตลาด ประสานร้านค้าในชุมชน รวมถึงร้านประชารัฐ ในการจำหน่ายสินค้า OTOP โดยให้ OTOP Trader เป็นศูนย์กลาง ทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่สนับสนุน เช่น บริษัทประชารัฐจังหวัด รวบรวมสินค้า OTOP จากหลายพื้นที่ จากแหล่งผลิตของชุมชน ใช้การจับคู่ความต้องการซื้อและความต้องการขายของสินค้า OTOP ที่จังหวัดมีความเด่นอยู่ โดยเฉพาะสินค้าบริโภคที่เก็บรักษาได้นานพอสมควร และกระจายส่งไปยังร้านค้าในชุมชน แบบร้านสะดวกซื้อที่สนับสนุนโดยภาคราชการ ที่มีของดี ราคายุติธรรม และสร้างรายได้ให้คนในชุมชน โดย ชาวพช. ทำหน้าที่กระตุ้น จุดประกายความคิดให้ช่วยกันดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
“ขอเน้นย้ำการสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน โดยข้าราชการ พช. ต้องใส่เป็นตัวอย่าง และให้จังหวัดนำเรียนท่านผู้ว่าฯ เพื่อขอความร่วมมือให้ส่วนราชการ รวมถึงทุกภาคส่วนสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมต่าง ๆ เพราะ การแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรมไทย และกระตุ้นการตลาด ก่อให้เกิดรายได้ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชน ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานจะต้องมีการรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยต้องรายงานข้อมูลที่เป็นจริงสะท้อนการทำงาน มีความน่าเชื่อถือ และมีการตรวจสอบข้อมูลโดยผู้บริหารพช. ทุกระดับ โดยไปเยี่ยมเยียนและสอบถามชาวบ้านในพื้นที่เพื่อสอบทานข้อมูล ให้กำลังใจ ร่วมดำเนินการและแก้ไขปัญหา”อธิบดี พช. กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้แนวคิดการทำงานว่า “งาน พช. เป็นงานที่อยู่ในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านที่ประชาชนอยู่อาศัย เป็นหลัก ดังนั้น คน พช. ต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน ช่วยชาวบ้านให้เขาพึ่งตนเองได้ ห่วงใยประชาชนเป็นเหมือนญาติพี่น้อง ร่วมทำงานจนได้รับความไว้วางใจ เป็นที่ปรึกษาได้ และปฏิบัติหน้าที่เหมือนดังพระดำรัสของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ทรงสอนสั่งว่า การทำงานของข้าราชการมหาดไทยต้องให้”รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” เพื่อเป้าหมายในการ”บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชน”