กิตติพงษ์ ชี้ โควิด-19 เป็นวิกฤตของเรือนจำ ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

กิตติพงษ์ ชี้ โควิด-19 เป็นวิกฤตของเรือนจำ ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

วันนี้ (17 มี.ค.) นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “Covid-19 เป็นวิกฤตของเรือนจำที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน!” ใจความว่า

“ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เช่นนี้ เรือนจำและสถานคุมขังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ยิ่งเมื่อพบว่าผู้ต้องขังอย่างน้อย 2 รายใน 2 เรือนจำตรวจพบเชื้อดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดใหญ่ได้ เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหานักโทษล้นคุกอยู่ในขณะนี้

ปัญหา Covid-19 กับผู้ต้องขังนับเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ ถึงขนาดที่เมื่อเร็วๆนี้ Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต้องออกมาแสดงความกังวล เพราะถ้าบริหารจัดการไม่ดีอาจเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ได้

Advertisement

ปัจจุบันประเทศไทยเรามีผู้ต้องขังประมาณ 380,000 คน นับเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 อาเซียน เรามีปริมาณผู้ต้องขังสูงเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศที่มีประชากรมากกว่าเราหลายเท่า เช่นอเมริกา จีน อินเดีย และยังแซงหน้าอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านของเราซึ่งมีประชากรมากกว่าเราถึงกว่า 4 เท่า ไปแล้ว

จากปริมาณของนักโทษที่เป็นอยู่เมื่อคำนึงถึงขนาดของเรือนจำที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังเพียงแค่ประมาณ 200,000 คน สะท้อนว่ามีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าความจุเกือบเท่าตัว จนเป็นที่ทราบกันว่าผู้ต้องขังแต่ละคนมีที่นอนคนละไม่ถึง 1 ตารางเมตร ฉะนั้นจะใช้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” หรือ social distancing ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ความแออัดในเรือนจำจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงของ Covid-19 และอาจกระทบต่อสวัสดิภาพของทั้งผู้ถูกคุมขังและเจ้าหน้าที่หากไม่มีแนวทางการป้องกันที่รัดกุมเพียงพอ

Advertisement

นอกจากนี้ปัญหาความเครียดของผู้ต้องขังจากความกลัวโรคระบาด และมาตรการใหม่ๆที่จำกัดโอกาสในการผ่อนคลายยังอาจนำไปสู่ความวุ่นวายและการจราจล ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ

ผมต้องขอให้กำลังใจและชื่นชมกรมราชฑัณฑ์ของไทยที่พยายามแก้ปัญหาภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่มาโดยตลอด ในเรื่อง Covid-19 ก็เช่นกัน กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหา เช่น การตั้งวอร์รูมกรมราชทัณฑ์ เพื่อเกาะติดสถานการณ์ทุกวัน, การคัดกรองและแยกกักกันสำหรับผู้ต้องขังรายใหม่ทุกราย, การคัดกรองผู้ป่วย และแยกกักกัน, มาตรการงดเยี่ยมญาติ และงดการทำงานฝึกอาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถบรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็น่าจะยังไม่พอเพียงกับขนาดของปัญหาที่ต้องเผชิญ

ผมเห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้ามาการจัดการปัญหา “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” อย่างเป็นระบบทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของเรือนจำในบ้านเราอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้อีกต่อไป

ในภาวะฉุกเฉินนี้หลายประเทศได้นำหลายๆมาตรการมาใช้ เช่น มีการกักตัวผู้ต้องขังใหม่ 14 วันก่อนส่งตัวเข้าเรือนจำ มีการลดการเดินทางไปศาลของนักโทษโดยใช้ video conference มีการงดการเยี่ยมของญาติ (แต่ต้องเพิ่มความสะดวกของช่องทางอื่นในการติดต่อ เช่น video conference โทรศัพท์ หรืออีเมล์ เป็นต้น) และมีมาตรการพิเศษในการแยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ Covid-19 เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอาการป่วยที่อาจได้รับอันตรายเป็นพิเศษจากการติดเชื้อ เป็นต้น

ผมคิดว่ามาตรการต่างๆเหล่านี้ควรนำมาปรับใช้กับผู้ต้องขังในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ทั้งมาตรการคัดกรองโรคและแยกสังเกตอาการสำหรับผู้ที่ถูกรับตัวและก่อนจะปล่อยตัว ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเพิ่มเติม เช่น การใช้ video conference สำหรับการเยี่ยมญาติหรือการพิจารณาคดีมากขึ้น เพื่อช่วยลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและลดการเคลื่อนย้ายประชากร โดยควรถูกนำมาใช้บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่จะมีสุขภาพที่ดีและได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมจากรัฐ

นอกจากนี้ การใช้มาตรการแทนการคุมขัง เช่น การปล่อยตัวก่อนกำหนด การพักการลงโทษ การคุมประพฤติ และการพิจารณาให้ประกันตัว โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ต้องขังหรือผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ตลอดจนผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงต่ำหรือคดีที่ไม่รุนแรง เป็นประเด็นเร่งด่วนที่น่าจะนำมาพิจารณา เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและลดความแออัดภายในเรือนจำอย่างเร่งด่วน

จากข้อมูลผู้ต้องขังในเรือนจำในปัจจุบันผมเห็นว่ามีกลุ่มที่ควรได้รับการปล่อยชั่วคราว หรือควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการปล่อยตัว ประกอบด้วย

– นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน

– “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา” ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีราวๆ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

– ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิตหากโควิดระบาด ทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราวๆ 5,800 คน

– กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีก 9,000 คน ซึ่งเป็นสถิติติดอันดับโลกเช่นเดียวกัน

ผู้ต้องขังเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอาจพิจารณาร่วมกัน เพื่อใช้วิธีการปล่อยชั่วคราว (ให้ประกันตัว) หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังอันจะเป็นการช่วยลดความแออัดในเรือนจำไปในตัว

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้วิกฤติไปก่อน และต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปถึงห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย

สำหรับระยะยาว ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องพูดคุยกันอย่างจริงจึงถึงการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เพราะจากสภาพที่เป็นอยู่ ชัดเจนว่าประเทศไทยใช้โทษจำคุกฟุ่มเฟือยเกินไป

จนมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ทำให้เราครองแชมป์ติดอันดับต้นๆของประเทศที่มีผู้ต้องขังสูงสุดของโลกอยู่ในขณะนี้!”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image