รายงาน : ฟัง‘ข้อเสนอ-ชี้แนะ’ ‘พรก.กู้เงิน2แสนล.’

 

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการ ภาคธุรกิจ และนักการเมือง กรณีมาตรการของกระทรวงการคลังที่เตรียมพิจารณาออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน วงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ศิริกัญญา ตันสกุล
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ฝ่ายนโยบาย

Advertisement

กรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาออก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความจริงแล้วมาตรการนี้สอดคล้องกับนโยบายที่ทางพรรคก้าวไกลเคยเสนอ เราทราบดีว่าขณะนี้ภาวะทางการคลังค่อนข้างมีปัญหาเพราะไม่มีเงินงบประมาณมากพอที่จะใช้พยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจนี้ไปได้ แต่ก่อนที่จะกู้เงินก็อยากจะขอความร่วมมือจากรัฐบาลให้เริ่มจากการตัดค่าใช้จ่ายและงบประมาณที่ไม่จำเป็นจากกระทรวงต่างๆ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณ แล้วนำมารวมไว้ที่งบกลาง

ทั้งนี้ ในส่วนของรายจ่ายประจำมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 40% ซึ่งเป็นรายจ่ายบุคลากรและเงินเดือนข้าราชการ สำหรับงบลงทุนขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 12% เท่ากับว่ายังพอมีช่องที่จะโอนย้ายมาใช้ก่อนได้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญเรื่องการใช้งบประมาณใหม่ เพราะในช่วงวิกฤตนี้ กระทรวงสาธารณสุขควรจะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม เพราะต้องใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ การโอนงบในส่วนนี้คาดว่าจะได้รวมจำนวนทั้งหมด 8 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท

สำหรับงบกลาง ช่วงที่ผ่านมาประชาชนตั้งข้อสงสัยว่างบกลางหายไปไหน ขณะนี้มีงบกลางทั้งหมด 5.2 แสนล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาดูที่เอกสารรายละเอียดจะพบว่ามีการวางการจัดสรรงบไปใช้ในเรื่องต่างๆ ไว้แล้ว ไม่สามารถดึงออกมาใช้ได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และบำเหน็จบำนาญข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ก็มีส่วนที่สามารถดึงมาใช้ได้ทันที ที่เรียกว่าเงินสำรองฉุกเฉินจำเป็น ที่มีอยู่ 9.6 หมื่นล้านบาท จนถึงปัจจุบันรัฐบาลใช้จ่ายไปแล้ว 9.4 หมื่นล้านบาท และล่าสุดก็ดึงงบออกอีก 1.5 พันล้านบาท ไปใช้ซื้อยาและเวชภัณฑ์จากประเทศจีน จึงเท่ากับว่าเงินในส่วนนี้เกือบจะไม่มีเหลือใช้จ่ายอีก

หากจะต้องปิดยาวไปจนถึงเดือนเมษายนตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะนำไปสู่อะไร จะเป็นการล็อกดาวน์ให้ทุกคนทำงานจากที่บ้านหรือไม่ ในส่วนนี้รัฐก็ต้องเตรียมเม็ดเงินไว้ใช้ในการพยุงเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ภายหลัง จึงเสนอว่าถ้าจะต้องออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่างบกลางปี รัฐบาลต้องทำการกู้เงินก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีรายได้

ส่วนกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พร้อมสนับสนุนไทยนั้น ในส่วนนี้มีนัยยะอย่างไร ส่วนตัวฟังแล้วก็รู้สึกตระหนกเล็กน้อย เพราะมีการกล่าวถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง คือเมื่อปี 2540 ประชาชนยังสามารถกลับภูมิลำเนาและทำการเกษตรได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะมีภัยแล้ง ดูแล้วก็อาจจะเลวร้ายกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่จะถึงขั้นที่ไอเอ็มเอฟจะเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะการที่ไอเอ็มเอฟเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นจะต้องมาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกตกใจได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ทางการคลัง ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทย หรือหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการกันภายในได้ ยกเว้นแต่ว่านายสมคิดจะชี้แจงว่าความจริงแล้วสถานการณ์ตอนนี้วิกฤตอยู่ในระดับใด ต้องการเม็ดเงินเท่าไหร่และเราไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ เราจึงต้องขอความช่วยเหลือไปที่ไอเอ็มเอฟ ประเด็นนี้จึงต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตกรรมการนโยบาย
และกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากไม่มีการทบทวนการจัดสรรเงินงบประมาณใหม่อาจต้องกู้มากกว่า 2 แสนล้านบาท หากทบทวนการจัดสรรงบใหม่จะลดความเสี่ยงฐานะทางการคลังในอนาคต และกู้ในระดับ 2 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอในระยะนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยและเศรษฐกิจหดตัว ติดลบในปีนี้ ระดับของการติดลบขั้นต่ำไม่น่าจะต่ำกว่า 5-6% เกิดภาวะชะงักงันครอบคลุมเกือบทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ แม้ไม่มีมาตรการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ก็ต้องทำขาดดุลงบประมาณและต้องกู้เพิ่มอยู่แล้วโดยสภาพ เพราะไม่มีทางที่จะเก็บภาษีได้ตามเป้า โดยมาตรการคลังชุดใหม่ต้องมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคน กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวทางเศรษฐกิจแบบฉับพลันและรุนแรง ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการและกิจการอุตสาหกรรมบางส่วน ภาคเกษตรกรรมก็จะเผชิญภัยแล้งด้วย ต้องเตรียมงบประมาณไว้ดูแลด้วย

ขณะที่ระดับของวิกฤตเศรษฐกิจก็ไม่น้อยไปกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ครอบคลุมกลุ่มคนทุกฐานะทางเศรษฐกิจ โดยกระทบหนักสุด คือกลุ่มลูกจ้างรายวัน แรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ชนชั้นกลาง รวมทั้งธุรกิจและกิจการขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง การขับเคลื่อนด้วยการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ชดเชย การหดตัวของการบริโภคและการลงทุนเอกชนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่รั่วไหล มียุทธศาสตร์เป้าหมายชัดเจน และบูรณาการมาตรการต่างๆ เข้าด้วยกัน ขนาดของการขาดดุลงบประมาณเทียบกับจีดีพีจะต้องไม่ต่ำกว่า 6-8% พ.ร.ก.กู้เงินจึงอาจต้องมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะหากต่ำกว่านี้จะไม่มีแรงผลักดันเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นหรือฟื้นตัวในช่วงต้นปีหน้า การทำขาดดุลเพิ่มเติมอีกจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม เพราะไม่สามารถเก็บภาษีเพิ่มได้อยู่แล้ว และสมมุติฐานที่ประมาณการเอาไว้ทั้งในงบประมาณปี 2563 และ 2564 นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้วต้องทบทวนใหม่ ต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 2563 และ 2564 ใหม่ งบประมาณอะไรที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนให้เลื่อนไปก่อน โดยเฉพาะงบการจัดซื้ออาวุธ และการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในปีหรือสองปีนี้

ควรจัดสรรงบเพิ่มเติมให้กับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การกู้เงินเพิ่มเติมยังไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังตราบเท่าที่มีการใช้จ่ายเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหลและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของงบประมาณ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะปีหรือสองปีข้างหน้าจะไม่เกินเพดาน 60% อยู่ และจะยังไม่มีปัญหาตราบเท่าที่เราสามารถฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นมาได้ในปีหน้าและปีต่อไปในระดับเฉลี่ย 3-4% เป็นอย่างน้อย

มาตรการทางเศรษฐกิจทั้งเฟสแรกและเฟสสองที่ผ่านมาคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3% ของจีดีพี ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา อีกทั้งมาตรการปิดสถานประกอบการอย่างฉับพลันในกรุงเทพฯก็ไม่ได้เตรียมการอย่างรอบคอบ รัดกุม ทำให้แรงงานจำนวนมากถูกบังคับด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจให้เดินทางกลับต่างจังหวัด นำไปสู่ภาวะแพร่กระจายของการติดเชื้อไปทั่วประเทศ ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณมากกว่าเดิมในการคุมการแพร่ระบาด และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาใช้งบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็น 10.26% ของจีดีพี เยอรมันใช้มาตรการการคลังสูงถึง 384,500 ล้านดอลลาร์ ในการดูแลผลกระทบโควิด-19 คิดเป็น 10.41% งบเพียง 3% จึงยากจะประคับประคองเศรษฐกิจได้ ยกเว้นใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มียุทธศาสตร์และโยกงบมาใช้ในสิ่งที่จำเป็นก่อน หากจะใช้งบเพิ่มมากๆ จากการกู้เงินก็จะเสี่ยงต่อฐานะการคลังในอนาคตได้

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ร.ก.กู้เงิน 2 แสนล้านบาท ถือว่ามากสำหรับการออกกฎหมายกู้เงิน เพราะอย่าลืมว่าเงินส่วนนี้จะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะตามมาในระยะยาวพอสมควร และต้องอย่าลืมว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงปีนี้ โอกาสที่จะเห็นจีดีพีติดลบมีความเป็นไปได้สูงอยู่จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาไวรัสโควิด-19 จึงมีโอกาสที่จีดีพีจะติดลบและจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น จริงอยู่ว่าเรื่องของวินัยการเงินการคลัง อัตราส่วนระหว่างหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ ณ วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยค่อนข้างที่จะปริ่มน้ำมาก และเนื่องจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของเราอยู่ประมาณ
50 กว่าเปอร์เซ็นต์ หากเศรษฐกิจของไทยยิ่งติดลบด้วย โอกาสที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศไทยใน
ระยะยาวในระดับระหว่างประเทศจะเกิดปัญหา

หลายประเทศอาจจะมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูง แต่ความเชื่อมั่นเขามีมาก อย่างกรณีญี่ปุ่น หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประมาณเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ความเชื่อมั่นเยอะจึงไม่ได้เป็นปัญหา แต่กรณีประเทศไทยเมื่อความ
เชื่อมั่นทางการเมืองยังเกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองอยู่ อีกทั้งเกิดปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เรื้อรัง จึงมีความน่ากังวล

ส่วนตัวจึงมองว่าตัวเลขเยอะพอสมควร เพราะอันที่จริงยังมีกลไกอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ซึ่งเราก็ยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ เช่น การกำหนดนโยบายที่จะเป็นผลให้เกิดการถ่ายทอดเศรษฐกิจลงสู่พี่น้องประชาชน ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการบริโภคต่างๆ ที่มากขึ้น แต่ด้วยนโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้ หลายอย่างทำให้เศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากจึงเกิดขึ้นได้ยาก เป็นผลมาจากภาวะที่เรียกว่า “รัฐราชการแบบใหม่” ซึ่งจะมีลักษณะนโยบายที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและระบบราชการ ในขณะที่การตอบสนองต่อประชาชนก็จะได้รับความสำคัญน้อยกว่า ทั้งนี้ หากมีการกู้เงินมาแล้ว จะต้องไม่มีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะเดิม กล่าวคือ เศรษฐกิจที่จะไปเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่จะต้องหาวิธีที่จะวางรากฐานโครงสร้างในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ เช่น การส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง ทำอย่างไรจะให้เกิดสตาร์ตอัพในระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง และต้องทำให้เกิดการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจลงสู่ชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image