กรธ.ผุดไอเดียทำเอกสาร 9 ข้อดีร่างรธน.แบบพกพาแจกปปช.

กรธ.ผุดไอเดียทำร่างรธน.ฉบับพกพาแจกปปช. จ่อหารือปม ประชาธิปไตยใหม่เข้าข่ายผิดกม.ประชามติ 15 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายศุภชัย ยาวะประภาษ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำเนื้อหาในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า อนุกรรมการฯได้เชิญเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยมาร่วมประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าของการติดตามงานประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การลงพื้นที่ของเครือข่ายวิทยากรระดับหมู่บ้าน(ครู ค.) ล่าสุดยังพบปัญหา คือ ไม่มีเอกสารที่จะแจกให้ประชาชนในระหว่างการบอกข้อมูลหรือเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนยังอาจไม่เข้าใจดีพอ ดังนั้นกรธ.จึงผลิตเอกสารประกอบการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม อาทิ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพกพา ที่ใช้คำขวัญที่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างประเทศให้พัฒนา สร้างคุณค่าให้คนไทย” สามารถพับและพกใส่กระเป๋าได้ มีเนื้อหาที่นำเสนอข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ 9 ประเด็น ได้แก่ 1.สิทธิของประชาชน 2.บัตรทองที่ไม่หายไป 3.ประชาชนได้รับความยุติธรรมไม่ล่าช้า 4.ปราบโกงอย่างจริงจัง 5.การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ 6.การเมืองไทยจะเปิดเผยและโปร่งใส 7.ยุทธศาสตร์และขั้นตอนปฏิรูปที่ชัดเจน 8.ประเทศไทยเป็นสังคมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง และ 9.การบริหารงานท้องถิ่นโปร่งใส โดยล่าสุดได้อัพโหลดผ่านทางเว็ปไซต์ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดไปศึกษา และได้ทยอยแจกให้ประชาชนแล้ว
สั่งวิเคราะห์เอกสารเอ็นดีเอ็มอย่างละเอียด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่กรธ.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำเนื้อหาในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบเอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กรธ.ต้องการให้จำแนกรายละเอียดของเอกสารแยกเป็นประเด็นๆที่ชัดเจน ทางอนุกรรมการฯได้นัดประชุมพิจารณารายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เบื้องต้นจะแบ่งการพิจารณารายละเอียดเป็น 4 ประเด็น คือ ความเห็นต่าง ความเห็นแย้ง ที่ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ประเด็นที่บอกข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนและประเด็นที่เป็นข้อความที่บิดเบือน โดย 2 ลักษณะดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง เผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ปลุกระดม เหตุผลสำคัญที่ต้องแจกแจงรายละเอียดให้เป็นประเด็นๆชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หากกกต.จะนำกรณีดังกล่าวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามต้องพิสูจน์ว่าบุคคลใดที่เป็นผู้ผลิตถ้อยคำในเอกสาร เพื่อเอาผิดตามกฎหมาย ส่วนบุคคลที่นำเอกสารไปแจก หากไม่สามารถพิสูจน์เจตนาได้ว่ามีความเชื่อตามอย่างไม่สุจริตใจ อาจมีช่องว่างในการดำเนินการทางกฎหมาย เพราะอยู่ในสถานะผู้สนับสนุนการกระทำเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image