รายงานหน้า 2 : ส่องช่องโหว่‘พรก.ฉุกเฉิน’ สกัด‘โควิด-19’ไม่สะเด็ด

หมายเหตุนักวิชาการและนักการเมืองให้ความเห็นถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-30 เมษายน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ผลมากน้อยแค่ไหน และมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรณีรัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่แน่ใจว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะนโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน แนวทางปฏิบัติแต่ละจังหวัดแตกต่างกันทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้แก้ปัญหาเพราะต่างคนต่างทำ และทำให้ประชาชนสับสน

Advertisement

แนวทางแก้ปัญหาต้องกระตุ้นและสร้างความตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน เพื่อสร้างความรับผิดชอบในสังคม แต่มีประชาชนบางส่วนที่อยู่ในระดับฐานรากอาจปฏิบัติตามมาตรการหยุดอยู่บ้านช่วยชาติไม่ได้ เพราะเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ต้องออกนอกบ้านทำมาหากิน

ที่สำคัญรัฐจำเป็นต้องมีแหล่งกระจายอาหาร และวัสดุป้องกันตนเอง อาทิ หน้ากากผ้า หน้ากากพลาสติกใส เจลล้างมือ ในเขตตัวเมืองหรือชุมชนให้มากที่สุด ไม่กระจุกตัว เพื่อให้ประชาชนไปใช้บริการได้สะดวกเพราะโควิดแพร่กระจายเกือบทั่วประเทศแล้ว

นอกจากนี้ต้องระดมทรัพยากรของประเทศไปช่วยป้องกันและยับยั้งโควิดแพร่กระจาย ทั้งเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ งบประมาณ โดยเฉพาะงบฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาท งบกลางอีก 50,000 ล้านบาท รวม 146,000 ล้านบาท ให้นำไปใช้ด้านสาธารณสุขมากกว่าจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากเป็นภัยคุกคามจากโรคร้ายที่เป็นภัยรูปแบบใหม่

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังขาดประสิทธิภาพด้านการป้องกันและรณรงค์ประชาชนให้ความร่วมมือ ไม่ปิดประเทศเพื่อป้องกันความเสียหายจนสถานการณ์บานปลาย มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น ต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วต่อสถานการณ์ ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดวิทยามาช่วยสื่อสารให้ข้อมูลประชาชนอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันความสับสน ไม่ใช่ให้บุคคลที่ไม่มีความรู้มาสื่อสารหรือให้ข้อมูลกับประชาชน เพราะไม่เข้าใจบริบทการป้องกันโรคและภัยอันตรายดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยง

วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช้าเกินไป เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงความตระหนกตกใจของประชาชนในกรุงเทพฯ หรือผู้ใช้แรงงานที่ต้องกลับภูมิลำเนา เพราะหากอยู่ใน กทม.ก็ไม่มีรายได้ ดังนั้น เขาจึงคิดว่าดีที่สุดคือกลับไปภูมิลำเนาตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่รัฐบาลไม่มีแผนรองรับการเคลื่อนย้ายฝูงชนจำนวนมหาศาล ทำให้คนรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การประกาศขอให้ประชาชนให้ทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ผลอย่างจริงจัง เพราะเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ใช่การบังคับใช้ ใน กทม.ยังมีพนักงานทำงานอยู่ในบริษัทห้างร้านต่างๆ อยู่

ข้อดีของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คืออย่างน้อยก็ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ดุลพินิจควบคุมการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องมีระยะเวลาชัดเจน แม้ครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ 1 เดือน และสามารถขยายต่อได้ แต่ต้องดูจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันว่าเพิ่มหรือลดลงขนาดไหน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องของไวรัสที่ไม่สามารถใช้กฎหมายจัดการหรือควบคุมได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องการควบคุมคนให้อยู่ในอาณาบริเวณ และควบคุมการใช้กฎหมายให้เด็ดขาดมากยิ่งขึ้น จึงต้องแยกกันระหว่างการรักษาโรคที่เป็นทางวิทยาศาสตร์กับเงื่อนไขในการควบคุมโรค ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคม

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดูเหมือนจะไม่ค่อยสัมพันธ์กันนัก เนื่องจากโรคระบาดมีกฎหมายเฉพาะอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.โรคระบาด พ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรง หรือ พ.ร.บ.ของท้องถิ่น ที่ให้อำนาจส่วนงานต่างๆ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ในการดูแลจัดการโรคระบาดได้อยู่แล้ว จึงดูเหมือนว่าเราไม่ได้ใช้กฎหมายที่มีอยู่นี้อย่างเต็มศักยภาพ เรากลับไปใช้มาตรการควบคุมคน ซึ่งก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

การใช้กฎหมายในการจัดการควบคุมโรค รัฐบาลต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และให้กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องมาเป็นพระเอก เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีรายละเอียดเรื่องการกักตัว ควบคุม และดูแลคน พ.ร.บ.ปกครองส่วนท้องถิ่น มีหลายมาตราพูดถึงการให้อำนาจท้องถิ่นสามารถควบคุม บริหาร จัดการโรคติดต่อ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถใช้ได้บางส่วนเรื่องการควบคุมคน การสัญจร จึงกลายเป็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายแม่บทก่อน แล้วตามด้วยกฎหมายลูก ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนพอสมควรในการบริหารจัดการ

เป้าหมายหลักคือการควบคุมคน กิจกรรมของผู้คนในสังคม แต่ไวรัสเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโดยเฉพาะ จึงควรใช้ พ.ร.บ.เหล่านี้เป็นตัวนำแล้วเสริมด้วยการควบคุมผู้คน

การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็นกฎหมายหลัก สะท้อนวิธีคิดแบบท็อปดาวน์ เชื่อว่าสั่งแล้วจะควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อใช้จริงเกิดความลักลั่น ซ้ำซ้อนกันพอสมควร หากเอากฎหมายที่มีอำนาจหน้าที่อยู่แล้วเป็นตัวตั้ง จะทำให้แต่ละส่วนงานรู้ว่าตนเองมีอำนาจหน้าที่แค่ไหน แทนที่จะทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ กลับต้องรับฟังนโยบายจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้ง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนย้อนแย้งกันอยู่

อีกเรื่องที่เป็นจุดอ่อนคือการเซ็นเซอร์สื่อ เนื่องจากรัฐบาลสามารถใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาจอ้างเรื่องเฟคนิวส์ บิดเบือน แต่ต้องยอมรับว่าบางครั้งการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอาจสะท้อนข้อเท็จจริงที่เขาเห็น แต่รัฐบาลยอมรับความจริงไม่ได้ จึงอาจใช้กฎหมายฉบับนี้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็เป็นได้

ก่อนจะเกิดภาวะโควิด-19 รัฐบาลก็ล้มเหลวในการบริหารหลายเรื่อง รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ปิดปากประชาชนไปในตัว แม้รัฐบาลจะอ้างเหตุผลสถานการณ์ที่เปราะบางนี้ แต่ประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลได้เสมอ ส่วนที่เป็นเฟคนิวส์ รัฐบาลก็มีหน่วยงานรับผิดชอบ ดูแล ติดตาม ควบคุมอยู่แล้ว ต้องแยกออกจากกัน เพราะหากรวมกันก็เหมือนกับรัฐปิดปากประชาชนไปโดยปริยาย

ธีรัจชัย พันธุมาศ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลมีอำนาจมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการ และการตัดสินใจอย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการหน้ากากอนามัย ความจริงรัฐบาลต้องจัดเตรียมให้ทุกคนมีไว้ป้องกันตัว แต่กลับมีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ทำให้หน้ากากอนามัยหายไปจากตลาด เกิดข้อสงสัยว่ามีคนได้รับประโยชน์ นายกฯก็กำลังตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน แต่จะกล้าใช้อำนาจกับคนเหล่านี้หรือไม่

ประสิทธิภาพในการควบคุมโรค พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ช่วยอะไรเลย ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้เน้นตรวจหาคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนตรวจฟรี ไม่ว่าจะมีอาการเข้าข่ายหรือไม่ก็ตาม ส่วนประเทศไทย การตรวจพบผู้ติดเชื้อจำกัดอยู่ในคนที่มีอาการและอยู่กลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่ได้รับการตรวจฟรี และคนที่มีกำลังทรัพย์เข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน แต่คนทั่วไปที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่อาจติดไวรัสแต่ไม่รู้ตัว และไม่มีเงินจะไปตรวจเองจะทำอย่างไร คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก เราจึงไม่ทราบชัดเจนว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อจำนวนกี่คน

การที่นายกฯรวบอำนาจเกือบทั้งหมดมาที่ตัวเอง ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นผลงานที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น พอประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ก็มีคนจากกรุงเทพฯและปริมณฑลไหลกลับภูมิลำเนา สะท้อนว่าการวิเคราะห์ไม่รอบคอบ ไม่คิดล่วงหน้า จึงซ้ำเติมให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ต้องใช้สติปัญญาให้มากกว่านี้ หรือดูแนวทางจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งข้อเสนอจากคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ รัฐบาลไม่ต้องกลัวว่าผลงานจะเป็นของใคร แต่มาร่วมกันเดินดีกว่า หรือรัฐบาลอาจจะให้พวกเราเข้าไปช่วยเสนอความเห็นหรือวางแผนในที่ประชุมก็ยินดีที่จะช่วยทุกอย่าง

เรามีคนเก่งๆ มากมาย นายกฯเรียกมาเป็นที่ปรึกษาได้ แต่ถ้าไม่นำคนที่มีความรู้มาช่วย ต่อให้มีอำนาจมากก็ไม่มีประโยชน์ คือเหมือนมีมีดในมือ แต่ฟันอะไรไม่ได้

อรุณ โสฬส
นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตรการทั้งหมดที่ทางส่วนกลางและทางจังหวัดออกมานั้นเห็นด้วย แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากประกาศของจังหวัดบางฉบับเป็นการขอความร่วมมือ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เช่น ประกาศปิดชายหาดทุกหาดและพื้นที่สาธารณะ แม้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะไม่ออกมาทำกิจกรรมที่ชายหาดหรือสวนสาธารณะ แต่ก็ไปรวมตัวที่จุดอื่นแทน เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นก็ทำได้แค่ตักเตือนขอความร่วมมือให้กลับเข้าไปยังที่พัก ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้

ส่วนการขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่ให้ออกจากที่พักเวลาตั้งแต่ 20.00-03.00 น.นั้น ควรขยายเวลาเป็น 20.00-06.00 น. และการขอความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับเพราะยังมีประชาชนและนักท่องเที่ยวออกไปร้านสะดวกซื้อ และรวมกลุ่มกันในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ทางจังหวัดควรออกเป็นคำสั่งให้งดการออกจากที่พักในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อยุติวงจรการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

ขณะนี้คนภูเก็ตอยากให้ใช้ยาแรง บังคับใช้กฎหมายตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเต็มที่ และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน เพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงการแพร่ระบาด ต้องยอมเจ็บระยะสั้น เพื่อจบและฟื้นตัวเร็วขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image