ครม.เห็นชอบเพิ่มทุน ธ.ก.ส.ปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก (แฟ้มภาพ)
ครม.เห็นชอบการเพิ่มทุน ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการเพิ่มทุน ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท สืบเนื่องจากมติครม. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ได้อนุมัติการขยายทุนเรือนหุ้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท วันนี้ ครม.เห็นชอบการใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อการเพิ่มทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อให้ ธ.ก.ส. มีเงินทุนเพียงพอในการให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร สามารถรองรับการขยายงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เช่น การส่งเสริม Smart Farmer การพัฒนาผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร และสร้างความมั่นคงทางการเงินและความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดย ธ.ก.ส. ได้เสนอแผนการขยายทุนเรือนหุ้น จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท และปีบัญชี 2564 – 2567 ปีละ 3,500 ล้านบาท ซึ่งแผนการใช้เงินทุนในปีบัญชี 2563 ได้ตั้งเป้าหมายการขยายสินเชื่อ จำนวน 1.01 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการขยายสินเชื่อเพิ่มเติมจากแผนงานปกติ รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

1.โครงการสินเชื่อ Smart Farmer สร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน/ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2563 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท 3.โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2563 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท 4.โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท 5.โครงการสินเชื่อร้านค้าชุมชนภายใต้ธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท 6.โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพสถาบันการเกษตรในการดำเนินธุรกิจ วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และ 7.โครงการสินเชื่อต่อยอด SME เกษตรหัวขบวน วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มทุนในปีบัญชี 2563 ของ ธ.ก.ส. จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับร้อยละ 11.86 ซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image