ในช่วงแห่งความยากลำบากที่เกิดขึ้น หากเราใช้สติในการแก้ปัญหา สิ่งที่จะตามมาก็คือปัญญา ไม่ว่าอุปสรรคหรือปัญหาใด ย่อมสามารถรับมือได้อย่างแน่นอน
ได้อ่านบทความของ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง โซเซียล แล็บ (ประเทศไทย) อาจารย์สอนเรื่อง การสร้างความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงจิตวิทยาเชิงบวก การบริหารองค์กร
ทำให้เห็นมุมมองว่าสถานการณ์โควิดนี้ เป็นเรื่องเล็กลงไปถนัดใจ หากเทียบกับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต
ได้แง่คิดทำให้เราตั้งอยู่บนความไม่ประมาทของชีวิตได้ค่อนข้างชัด
อาจารย์พูดถึง “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาเชิงระบบ ระวัง…อย่าประกาศชัยชนะเร็วเกินไป”
อาจารย์มองข้ามช็อต ไปถึงว่าปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาเชิงระบบซับซ้อน องค์ความรู้และศาสตร์เรื่องโรคระบาดมีมานาน เราจึงมีการประเมิน มีมาตรการต่างๆ ยังพอจัดการไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตอย่างมากเหมือนในอดีต
แต่สภาวะสังคมที่ต่างออกไป ทำให้เกิดการแพร่ระบาดและยากต่อการควบคุม ทั้งการเดินทางระหว่างประเทศ การติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการรับข่าวสารที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง รวมถึงเฟคนิวส์ต่างๆ
ปัญหาเรื่องโควิด-19 มี 2 ทางเลือก “เริ่มเร็วจบช้า หรือ เริ่มช้าจบเร็ว”
สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือการรักษาตามอาการ วัคซีนใช้ป้องกัน ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ อาจยาวนานถึง 24 เดือน เราจะต้องเผชิญอยู่กับความท้าทายของโควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
แต่ที่แน่ๆ หลังโควิด-19 ชีวิตเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้ว่าหลายประเทศผู้ติดเชื้อลดลง เป็นข่าวที่ดี เป็นชัยชนะเล็กๆ แต่ไม่ยั่งยืน มิได้หมายความว่าเรา “เอาอยู่” แล้ว
เรื่องนี้ศาสตร์ด้านกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง คือเมื่อผู้นำมีความคิดสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ และเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียรอบข้าง
ผู้นำหรือนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องพึงระวังเสมอคือ “การประกาศชัยชนะเร็วเกินไป หรือด่วนประกาศชัยชนะ” ปัญหาอาจจะมากกว่าเดิม
ความท้าทายคือทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่รากฐาน ค่านิยม วัฒนธรรม วิถี พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
อาจารย์มองว่าสิ่งที่ผู้นำและทุกคนต้องคิดตั้งแต่วันนี้คือผลกระทบระยะสั้น ด้านร่างกาย ปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ ความรู้สึกปลอดภัย จะเป็นปัญหากระทบกันต่อเนื่องไปในอีกหลายมิติ
รวมถึงต้องเริ่มคิดถึงมาตรการรองรับระยะสั้น ระยะกลาง และยาว ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และด้านนโยบาย การเมือง
สิ่งที่ทุกคนเริ่มทำได้ด้วยตนเอง คือการทำความเข้าใจว่าเรื่องการแพร่ระบาด การป้องกัน ดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการใช้ชีวิต เตรียมตัวสำหรับสถานการณ์อาจยืดเยื้อยาวนาน จะใช้ชีวิต กินอยู่อย่างไร
ด้านธุรกิจมองหาโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจ มีอะไรที่เราน่าจะทำได้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทำอย่างไรให้ลดผลกระทบกับทีมงาน คู่ค้าและองค์กร
ด้านสังคมชุมชนทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ความไว้วางใจ เชื่อมโยง ช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
ในระดับประเทศทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่น คนโดยทั่วไปรู้สึกถึงความปลอดภัย มาตรการที่ฟื้นฟูสังคม สภาพจิตใจ
รวมถึงการสร้างให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย มีความพร้อมที่จะร่วมกันเดินหน้าต่อไป
เป็นอีกแนวคิดที่ทำให้เชื่อได้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย
แต่ถ้าเราอยู่อย่างเข้าใจ มั่นใจได้ว่าปรับตัวได้แน่นอน
สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา