‘จาตุรนต์’ ห่วงประชาชนเดือดร้อน จี้รัฐเร่งเอาชนะโควิด ตั้งเป้าหลัง 30 เม.ย.ผ่อนคลายล็อกดาวน์

‘จาตุรนต์’ ห่วงประชาชนเดือดร้อน จี้รัฐเร่งเอาชนะโควิด ตั้งเป้าหลัง 30 เม.ย.ผ่อนคลายล็อกดาวน์

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาได้ 7 วันว่า ดูจากการที่มีการประกาศมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติมใน กทม. และอีกหลายจังหวัดรวมทั้งการปิดจังหวัดบางจังหวัดไปแล้ว ประกอบกับการที่นายกฯบอกว่าอาจจะลดหรือหยุดการบริการขนส่งสาธารณะหรือห้ามเดินทางอย่างเข้มงวด หลายประเทศพูดถึงการทำงานและการใช้ชีวิตแบบใหม่ เมื่อไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และออกกฎระเบียบให้ปฏิบัติกันแล้ว แต่ไทยเรายังไม่ได้คิดไม่ได้ทำ ยังเหมือนกับจะล็อกดาวน์กันเรื่อยไปทำให้เห็นว่าหลังวันที่ 30 เมษายนนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย และประชาชนเดือดร้อนอย่างมากจนถึงขั้นอยู่กันไม่ได้ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์เสียใหม่ ตั้งเป้าให้สามารถผ่อนคลายการใช้มาตรการที่กระทบธุรกิจและการทำมาหากินลง ให้สภาพต่างๆ กลับคืนสู่สภาพใกล้เคียงกับปรกติมากขึ้น โดยสามารถคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีด้วยไปพร้อมๆ กัน

“ผ่านไปแค่ 7 วัน ใน กทม.ถ้ารวมมาตรการของ กทม.ด้วยก็ 10 วัน ธุรกิจทั้งประเทศปิดไปมาก ที่ไม่ได้ถูกสั่งให้ปิดก็ปิดไปด้วย คนทำมาค้าขายไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ เงินที่ช่วยก็ยังไม่ได้ รัฐบาลตั้งงบไว้สำหรับคน 3 ล้าน มีคนสมัครขอมา 20 ล้าน แม้แต่คนที่ได้เงิน 5,000 บาทก็ไม่พอใช้ รายจ่ายยังมีอยู่ทุกวัน จะอยู่ไปให้ตลอด ถึง 30 เมษายน ก็ไม่ไหวแล้ว มาตรการที่เยียวยาผลกระทบก็ยังช่วยทุกฝ่ายได้น้อยมาก อย่าลืมว่าระบบเศรษฐกิจของเราสายป่านไม่ได้ยาวพอ ถ้ายืดออกไปถึงเดือนพฤษภาคมอีก คงเป็นไปไม่ได้แน่” นายจาตุรนต์กล่าว

การล็อกดาวน์ที่เขาทำกันก็เพื่อเผด็จศึกโควิด ไม่ใช่ล็อกดาวน์เรื่อยไป ช่วงที่ใช้มาตรการปิดสถานที่หยุดกิจการต่างๆ นี้เป็นช่วงที่ต้องดำเนินมาตรการต่างที่จัดการกับโควิด-19 คือต้องลดผู้ติดเชื้อและเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุขเพื่อคุมสถานการณ์ให้ได้ แต่ปรากฏว่ายังทำน้อยมาก การตรวจเพื่อให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ประเทศไทยทำน้อยกว่าประเทศอื่นๆ มาก แต่ก็ไม่มีการตั้งเป้าให้ทำเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง ระบบการสืบหาค้นหาผู้ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อก็ยังทำน้อยและระบบการกักตัวก็อ่อนแอ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้ทำจริงจัง เท่ากับเรารอให้ผู้ติดเชื้อป่วยเสียก่อนค่อยมาหาหมอเอง ส่วนปัญหาการขาดแคลนด้านต่างๆ ของระบบสาธารณสุขก็ยังแก้ ไม่ตก ไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ทั้งๆ ที่ทำไม่ยาก ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป เราก็อาจยังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ในเร็วๆ นี้ และอาจต้องมีมาตรการเข้มข้นต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โดยระบบก็อ่อนแอ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับการใช้มาตรการปิดสถานที่ หยุดกิจการ ห้ามเดินทาง จะสูญเปล่า

นายจาตุรนต์กล่าวทิ้งท้ายว่าน่าเป็นห่วงว่าถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจจะแย่และคนจะเดือดร้อนกันทั่วประเทศโดยที่สถานการณ์โควิดก็ยังคุมไม่อยู่ ถึงวันที่ 30 เมษายน จะผ่อนกลายก็กลัวการแพร่ระบาด จะเข้มงวดต่อไประบบเศรษฐกิจก็รับไม่ไหวและประชาชนก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลจึงควรจะทำให้มาตรการรับมือโควิดในทุกด้านมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยตั้งเป้าว่าหลังวันที่ 30 เมษายนนี้จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้คนทำมาหากินได้ใกล้เคียงกับสภาพปกติมากที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image